ผู้เขียน :  วรชัย ทองไทย ( This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. )

การขึ้นภาษีหรือเพิ่มอัตราภาษีถือว่าเป็นข่าวร้ายของประชาชนทั่วไป แต่ข่าวการขึ้นภาษีสรรพสามิตของสุราและยาสูบ  หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ภาษีบาป” ที่ผ่านมานี้  กลับเป็นเรื่องตรงกันข้าม คนทั่วไปต่างเห็นด้วยกับการขึ้นภาษี เพราะคิดว่าจะทำให้การบริโภคเหล้าและบุหรี่ลดลง  อันถือว่าเป็นจุดหมายหลักของภาษีชนิดนี้

    แต่ถ้าการขึ้นภาษีครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์ดังกล่าวข้างต้น แต่เป็นเพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐบาลอันเนื่องมาจากรัฐบาลมีรายจ่ายมากกว่ารายได้แล้ว  แทนที่จะทำให้การบริโภคเหล้าและบุหรี่ลดลง กลับจะมีผลตรงกันข้าม คือทำให้มีการบริโภคมากขึ้น  เพราะการเพิ่มอัตราภาษีโดยไม่มีการศึกษาถึงผลดีผลเสีย ย่อมส่งผลที่ไม่พึงปรารถนาได้

    ในทางหนึ่งผู้บริโภคจะหันไปบริโภคเหล้าที่มีอัตราภาษีน้อย หรือมวนบุหรี่สูบเอง  ซึ่งนอกจากจะทำให้รัฐเก็บภาษีได้น้อยลงแล้ว การบริโภคเหล้าและบุหรี่ก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด  หรือในอีกทางหนึ่งผู้ผลิตเหล้าและบุหรี่จะหันมาขยายตลาดให้มากขึ้น เพื่อชดเชยกับจำนวนบริโภคที่ลดลงของลูกค้าเดิม  และรัฐอาจจะไม่ห้ามปราม เพราะกลัวว่ารายได้จากภาษีจะลดลง อันส่งผลให้การบริโภคเหล้าและบุหรี่ไม่ลดลงเช่นกัน

    หลักการของภาษีบาปคือ การนำรายได้จากภาษีมาใช้เพื่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วย อันเป็นผลมาจากการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่  โดยส่วนหนึ่งของภาษีอาจนำไปใช้ในการศึกษาวิจัยเพื่อให้คนเลิกกินเหล้าหรือเลิกสูบบุหรี่  หรือทำให้บริโภคน้อยลง รวมทั้งป้องกันไม่ให้มีลูกค้าใหม่เกิดขึ้น

    อย่างไรก็ตามในระยะยาวแล้ว รายได้ของรัฐจากภาษีที่เก็บได้ จะไม่คุ้มกับการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้น  เพราะนอกจากค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยโดยตรงแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายทางอ้อมอื่นๆ อีก เช่น  ค่าสูญเสียโอกาสที่คนเหล่านี้จะประกอบอาชีพ หรือของญาติพี่น้องที่ต้องมาดูแล ค่าข้าวของเครื่องใช้ที่เสียหายในขณะเมาเหล้า  หรือผลกระทบจากควันบุหรี่ที่คนรอบข้างต้องสูดดม เป็นต้น

    ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือการทำให้จำนวนผู้ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ลดน้อยลง  ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากบุหรี่ ที่รู้กันมากว่า  80 ปี แล้วว่า มีโทษต่อร่างกายสถานเดียว โดยหาประโยชน์ไม่ได้เลย แต่ก็ยังมีคนสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นทุกปี  ที่เป็นเช่นนี้เพราะอิทธิพลของบรรษัทบุหรี่ข้ามชาติ ซึ่งมีผลกำไรมหาศาลจากการผลิตและจำหน่ายบุหรี่  ที่พยายามทุกวิถีทางที่จะเพิ่มยอดขายบุหรี่ให้มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากประวัติของความพยายามนี้

    เริ่มจาก ค.ศ. 1930 (พ.ศ. 2473) เมื่อนักวิจัยชาวเยอรมันพบว่า มะเร็งกับการสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กันในทางสถิติ  มีผลทำให้ยอดขายบุหรี่ลดลง

    ในอีก 2 ปีต่อมา อุตสหกรรมบุหรี่ก็ได้จัดตั้ง  “สภาวิจัยอุตสาหกรรมบุหรี่” ขึ้น เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ยอดขายบุหรี่ลดลง  โดยผลงานของสภาวิจัยฯ นี้คือ การวิจัยตลาดอย่างเข้มข้น รวมทั้งบิดเบือนผลวิจัย เพื่อให้เห็นว่าโทษของการสูบุหรี่ไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คิด  พร้อมกันนั้นก็ได้ผลิตและโหมโฆษณาบุหรี่เพื่อสุขภาพ คือ บุหรี่ก้นกรอง และบุหรี่ที่มีทาร์ต่ำ  (low tar) อย่างกว้างขวาง อันมีผลทำให้ยอดจำหน่ายบุหรี่ที่ลดลงกลับเพิ่มขึ้น

    แต่ผลงานวิจัยอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องที่เกี่ยวกับโทษของบุหรี่  ทำให้รัฐบาลหลายประเทศตระหนักถึงผลเสียที่เกิดขึ้นกับประชากร ซึ่งมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นจนถึงกับมากกว่ารายได้ที่รัฐเก็บจากภาษีบุหรี่เสียอีก  จึงมีผลส่งให้เกิดเป็นนโยบายที่มุ่งลดการบริโภคบุหรี่ลง

    เริ่มจากกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กในหลายประเทศ ได้เพิ่มการห้ามขายบุหรี่แก่เด็กอายุต่ำกว่า  16 ปี เข้าไปด้วย เพราะเชื่อว่าเด็กที่สูบบุหรี่หรือดื่มสุราจะแคระแกรน

    ใน ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508) รัฐสภาอังกฤษออกกฎหมายห้ามโฆษณาบุหรี่ในโทรทัศน์  และใน ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) สหรัฐอเมริกาจึงออกกฎหมายห้ามโฆษณาในวิทยุและโทรทัศน์  ต่อมาการห้ามโฆษณาได้ขยายไปสู่สิ่งตีพิมพ์ ในสนามกีฬา  รวมทั้งห้ามโฆษณาแก่เยาวชน ห้ามโฆษณาขายตรง และแจกฟรีด้วย

    ผลการวิจัยที่พบว่า ผู้สูดควันบุหรี่ย่อมได้รับอันตรายจากควันบุหรี่เช่นเดียวกับผู้สูบบุหรี่  ทำให้มีการผลักดันนโยบายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะขึ้น ในช่วงแรกเป็นเรี่องของการจัดให้มีที่สำหรับผู้สูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่แยกออกจากกัน  ต่อมาจึงมีข้อกำหนดให้จัดห้องสูบบุหรี่ไว้เป็นการเฉพาะ และในขั้นสุดท้ายก็ห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่ทั้งหมดของอาคาร

    สำหรับประเทศไทยได้ออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่บนรถโดยสารในเมือง เมื่อ พ.ศ. 2518 ต่อมาในปี 2545 ก็ได้ออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ภายในอาคารทั่วประเทศ  และในปี 2549 ก็ออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่ราชการ ทำให้ผู้สูบบุหรี่จะสูบได้ก็แต่ในบ้าน  หรือในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตบางแห่งเท่านั้น เช่น ร้านขายยาสูบ บาร์ หรือไนท์คลับ

    ความพยามของอุตสาหกรรมบุหรี่ที่จะบิดเบือนผลวิจัย ก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง  เช่น

    ใน ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) บริษัท Philip Morris ได้เสนอรายงานต่อสาธารณรัฐเช็คว่า การที่ผู้สูบบุหรี่เสียชีวิตเร็วขึ้น 
  จะทำให้รัฐประหยัดเงินงบประมาณสงเคราะห์คนชราไปมาก

    ใน พ.ศ. 2539 รางวัลอีกโนเบล สาขาแพทย์ศาสตร์ จึงได้มอบให้กับผู้แทนบริษัทบุหรี่  7 แห่งในสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวให้การอย่างมั่นใจกับสภาสูงของสหรัฐอเมริกาว่า  “สารนิโคตินไม่ใช่สารเสพติด”

  รางวัลอีกโนเบล:     รางวัลสำหรับงานวิจัยที่ “ขำ”  ก่อน “คิด”

สมัครสมาชิกจดหมายข่าว

จดหมายข่าวฯ ราย 2 เดือน ปีละ 6 ฉบับ

กรุณากรอก e-mail ของท่าน
(ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น)



IPSR Fanpage

Since 25 December 2012