ผู้เขียน : มนสิการ กาญจนะจิตรา ( This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. )

เอเชีย ทวีปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุดในโลก  แน่นอนว่ายิ่งคนมากยิ่งมีความแตกต่างมากทั้งในด้านสังคม วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ  ศาสนา และการเมือง ที่ทำให้ประเด็นด้านประชากรของแต่ละพื้นที่มีความน่าสนใจและหลากหลายยิ่งขึ้น  วันนี้เราจะมาสำรวจประเด็นปัญหาประชากรของประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย  และอินโดนีเซีย สามประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในทวีปของเราค่ะ

  1. จีน
        
    ประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในเอเชียและในโลกนั้นได้แก่ประเทศจีนนั่นเอง  ปัจจุบันจีนมีประชากรทั้งหมดราว 1,300 ล้านคน คิดเป็นประมาณ  1 ใน 5 ของชาวโลกทั้งหมด ด้วยจำนวนคนมากมายขนาดนี้  รัฐบาลจีนจึงได้กำหนดนโยบายให้มีลูกได้เพียงคนเดียวตั้งแต่ พ.ศ. 2521 เนื่องจากกังวลว่าหากไม่มีการควบคุมประชากรเลย  ประชากรของจีนจะมีขนาดใหญ่เกินกว่าทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่นั้นจะรองรับได้ และ
    จะเกิดผลเสียในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในที่สุด 

    อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจีนเริ่มเห็นปัญหาอื่นที่กำลังก่อตัว  โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างประชากรที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่นการขาดกำลังคนในวัยแรงงานในอนาคต  การมีสัดส่วนผู้ชายสูงกว่าผู้หญิงจากการทำแท้งเลือกเพศ หรือสัดส่วนผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  ซึ่งนักวิชาการหลายๆ คนในประเทศจีนเริ่มเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนผันกฎหมายให้ครอบครัวสามารถมีลูกได้สองคน  เพื่อช่วยบรรเทาภาวะการขาดแรงงานของจีนในอนาคตได้
     
  2. อินเดีย
        
    ปัจจุบันประเทศอินเดียมีประชากรมากเป็นอันดับสองของเอเชียที่ประมาณ  1,200 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะแซงอันดับหนึ่งจีนใน 20 ปีข้างหน้านี้ รัฐบาลอินเดียจึงเริ่มตื่นตัวและให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิด  และพยายามที่จะลดอัตราการแต่งงานในวัยเด็ก เนื่องจากสาวๆ ในประเทศอินเดียแต่งงานกันตั้งแต่อายุยังน้อย  จากการสำรวจผู้หญิงวัย 20-24 ปี ใน พ.ศ.  2548-2549 พบว่าร้อยละ 44.5 ของผู้หญิงวัยนี้แต่งงานตั้งแต่ก่อนอายุ  18 ปี และอีกร้อยละ 22 มีลูกตั้งแต่ก่อนอายุ  18 ปี 
      
    นอกจากเรื่องประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว  ประเด็นด้านประชากรในอินเดียคงหนีไม่พ้นเรื่องของสิทธิสตรี ถึงแม้จะมีกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิผู้หญิงมากขึ้น  แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้หญิงอินเดียยังคงถูกกดขี่อยู่ไม่น้อย ทั้งเรื่องความรุนแรงต่างๆ  ในบ้าน เรื่องของสินสอดที่ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายหาให้ครอบครัวผู้ชาย แม้มีกฎหมายห้ามแล้วก็ตามและหากหาไม่ได้ตามตกลงบางครั้งมีการทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ชีวิตเลยก็มี  หรือหากมองในด้านการเมือง ประเทศอินเดียอยู่ในอันดับที่ 98 ในด้านสัดส่วนสมาชิกผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้หญิงเทียบกับประเทศประชาธิปไตยในโลก  ด้วยเหตุทั้งหมดนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์จึงจัดอันดับอินเดียเป็นประเทศที่ไม่น่าอยู่ที่สุดสำหรับผู้หญิงในบรรดา  20 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด
     
  3. อินโดนีเซีย
        
    ประชากรของอินโดนีเซียอยู่ที่ประมาณ  238 ล้านคน มาแรงเป็นอันดับสามในเอเชีย ประเด็นทางประชากรที่น่าสนใจในอินโดนีเซียในปัจจุบันคือ  เรื่องอัตราตายมารดาและทารก โดยมาตรการหนึ่งที่จะช่วยลดอัตราตายได้แก่การเสนอเพิ่มอายุการแต่งงานได้ถูกต้องตามกฎหมายจาก  16 ปี เป็น 21 ปี เนื่องจากแม่ที่มีอายุน้อยมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์และการคลอดสูงกว่าแม่ที่ร่างกายเติบโตสมบูรณ์แล้ว  และโอกาสที่ทารกจะเสียชีวิตภายในปีแรกนั้นสูงกว่าหากแม่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี อินโดนีเซียตั้งเป้าลดอัตราตายทารกจากปัจจุบัน 34 รายให้เหลือ 23 รายต่อการเกิดมีชีพ 1,000 ราย ภายในปี 2558 เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย  Millennium Development Goal (MDG)
      
    อีกประเด็นด้านอนามัยแม่และเด็กที่ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรคือเรื่องการท้องก่อนแต่ง  อินโดนีเซียเป็นประเทศมุสลิมที่มีความเคร่งครัดสูง การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานเป็นเรื่องต้องห้าม  ดังนั้น การส่งเสริมหรือให้ความรู้และการให้บริการเกี่ยวกับการคุมกำเนิดนั้นจึงเน้นไปยังผู้ที่แต่งงานแล้วเท่านั้น  ผลที่ตามมาคือ ปัจจุบันเริ่มมีเด็กวัยรุ่นที่ท้องก่อนแต่งจำนวนมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การทำแท้งที่ผิดกฎหมาย  การหา
      คลินิกเถื่อนเพื่อทำแท้งไม่ใช่เรื่องยาก แต่การทำแท้งเถื่อนนั้นมักไม่ได้มาตรฐาน  จึงสร้างปัญหาแทรกซ้อนทางสุขภาพให้แก่
    เด็กสาวเหล่านี้เป็นอย่างมาก และในบางรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ปัจจุบันแนวทางแก้ไขปัญหาท้องก่อนแต่งและการทำแท้งคือการให้ผู้ที่ยังไม่ได้แต่งงานงดการมีเพศสัมพันธ์

ความหลากหลายทางสังคม วัฒนธรรม  และการเมืองทำให้แต่ละประเทศประสบกับประเด็นประชากรที่แตกต่างกันไป ข้อมูลที่นำมาแบ่งปันกันวันนี้มาจาก  Asian Forum of Parliamentarians on Population and Development ที่รวบรวมข่าวประเด็นประชากรในทวีปเอเชียไว้อย่างน่าสนใจ  หากสนใจอ่านเพิ่มเติม สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ http://afppdpopulationpolicies.org/Population_policy_Trends/Population_Policy_trends.php นะคะ

สมัครสมาชิกจดหมายข่าว

จดหมายข่าวฯ ราย 2 เดือน ปีละ 6 ฉบับ

กรุณากรอก e-mail ของท่าน
(ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น)



IPSR Fanpage

Since 25 December 2012