ภาวะเจริญพันธุ์ของประชากรอาเซียน

สุรีย์พร พันพึ่ง
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.


ในการรวมประชาคมอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวนั้น การเปลี่ยนแปลงทางประชากรของประเทศต่างๆ ในอาเซียน สิ่งที่น่าติดตามอย่างใกล้ชิดเนื่องจากสถานการณ์ทางประชากรในแต่ละประเทศมีทั้งความแตกต่างและความเหมือนกัน จึงเป็นความท้าทายต่อการพัฒนาเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชากรในอาเซียนร่วมกันอย่างยั่งยืน ในบทความนี้เน้นการวิเคราะห์เพียง หนึ่งองค์ประกอบของการเปลี่ยนแปลงประชากรคือ “ภาวะเจริญพันธุ์” หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยต่อสตรีในวัยเจริญพันธุ์ อายุ 15-49 ปี

ประชาคมอาเซียนประกอบด้วย 10 ประเทศ คือ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยประเทศไทยมีขนาดประชากรเป็นอันดับที่ 4 ในอาเซียน รองจาก อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วนบรูไนมีประชากรน้อยที่สุด คือ ประมาณสี่แสนคน

ปัจจุบันประเทศที่จัดว่ามีภาวะเจริญพันธุ์ต่ำคือ ประเทศสิงคโปร์ และไทย ภาวะเจริญพันธุ์ปานกลาง คือ ประเทศบรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมาร์ และเวียดนาม ภาวะเจริญพันธุ์สูง คือ ประเทศกัมพูชา ลาว และฟิลิปปินส์ ซึ่งผลของการมีภาวะเจริญพันธ์ต่ำ ส่งผลให้ขณะนี้ประเทศไทยมีสัดส่วนของผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดสูงพอๆ กับสิงคโปร์ 

ประเทศในอาเซียน-ภาวะเจริญพันธุ์ต่ำและปานกลาง

 

ประเทศในอาเซียน-ภาวะเจริญพันธุ์สูง

ที่มา: มนสิการ กาญจนะจิตรา. 2555. ประชากร เศรษฐกิจและอนาคตอาเซียน รูปที่ 3 หน้า 56

ในช่วงปี 2513-2523 นโยบายวางแผนครอบครัวหรือการพยายามทำให้จำนวนบุตรต่อสตรีวัยเจริญพันธุ์ ลดลงนั้น
เป็นนโยบายหลัก ของ 3 ประเทศในอาเซียน คือ อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม ในขณะที่ประเทศมาเลเซีย ภายใต้การนำของ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรี (ปี 2524-2546) ได้เดินล้ำหน้าประเทศอื่นๆ ด้วยการออกนโยบายการ
ส่งเสริมการเกิดตั้งแต่ ปี 2525 ส่วนนโยบายวางแผนครอบครัวในประเทศฟิลิปปินส์ นั้นขึ้นๆ ลงๆ ขึ้นอยู่กับผู้นำในแต่ละสมัย
ว่าจะอยู่ข้างศาสนจักรมากน้อยเพียงใด และสำหรับอีก 2 ประเทศ คือ กัมพูชา และลาว นั้น มีความแตกต่างจากเวียดนามเป็นอย่างมากถึงแม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มประเทศอินโดจีนเหมือนกันก็ตาม คือถึงแม้ว่าจะมีแนวคิดที่ว่าการเพิ่มขึ้นของประชากรเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แต่การที่ประเทศกัมพูชาได้เสียประชากรไปเป็นจำนวนมากระหว่างช่วงการปกครองโดยเขมรแดง หรือ ลาวซึ่งยังคงมีประชากรจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับทรัพยากรที่มีในประเทศ ทำให้ทั้งประเทศกัมพูชาและลาว ประกาศใช้นโยบายส่งเสริมการคุมกำเนิดช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน
จนกระทั่ง ปี 2533 ไม่เฉพาะในอาเซียนแต่เป็นทั่วโลกที่เกิดปรากฏการณ์การลดลงของภาวะเจริญพันธุ์และอัตราการเติบโตของประชากรอย่างชัดเจน ทำให้หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยและเวียดนามต้องกลับมาทบทวนนโยบายเกี่ยวกับการเกิด โดยเฉพาะเมื่อจำนวนเด็กเกิดใหม่ในแต่ละปีมีแนวโน้มลดลง

ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์และประเทศไทย กำลังกังวลเกี่ยวกับภาวะเจริญพันธุ์ต่ำ ในทางตรงกันข้ามประเทศฟิลิปปินส์ยังคงมีภาวะเจริญพันธุ์สูง เมื่อเทียบกับประเทศกัมพูชา และลาว ที่สามารถลดภาวะเจริญพันธุ์อย่างรวดเร็ว ในขณะนี้ประเทศฟิลิปปินส์ ยังคงเป็นประเทศที่มีความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่สูงที่สุดในอาเซียน มีปัญหาการว่างงาน ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ความเป็นเจ้าของที่ดิน อยู่ในระดับที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ

เมื่อปลายปี 2555 นี้เอง กฎหมายที่เกี่ยวกับ “ความรับผิดชอบของความเป็น พ่อ-แม่ และอนามัยเจริญพันธุ์” ของประเทศฟิลิปปินส์เพิ่งผ่านการรับรองหลังจากที่ได้เรียกร้องกันมานานถึง 13 ปี ซึ่งเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้อาจจะลดบทบาทของศาสนจักรที่มีอิทธิพลต่อนโยบาย และการคุมกำเนิดของศาสนิกชนคาทอลิกมาอย่างยาวนานลงได้บ้าง อย่างไรก็ตามมีนักวิชาการแย้งว่า คงไม่ยุติธรรมนักถ้าจะโยนความผิดเรื่องการไม่ลดลงของภาวะเจริญพันธุ์ในฟิลิปปินส์ให้กับศาสนจักรเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้วประเด็นทางสังคมและเศรษฐกิจ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงต้องการใช้บริการคุมกำเนิดสมัยใหม่ เช่น ในกรณีของประเทศไทยที่พบว่าความสำเร็จของโครงการวางแผนครอบครัวนั้นนอกจากการแพร่หลาย การเข้าถึงได้ และวิธีคุมกำเนิดที่หลากหลาย มีประสิทธิภาพแล้ว ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มความเร็วในการทำให้โครงการประสบความสำเร็จ

นโยบายการคุมกำเนิดแบบสมัครใจ ด้วยวิธีการคุมกำเนิดที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ ผนวกกับทรัพยากรมนุษย์ของฟิลิปปินส์ ที่ได้รับการพัฒนาภายใต้ระบบการศึกษาที่ถูกวางแผนมาเป็นอย่างดีกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน และความได้เปรียบด้านการใช้ภาษาอังกฤษ จะทำให้เกิดความต่อเนื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศฟิลิปปินส์ในอนาคตอันใกล้นี้

สำหรับประเทศที่มีภาวะเจริญพันธ์ต่ำนั้นนโยบายสำคัญที่น่าจะเกี่ยวข้อง คือการทำอย่างไรให้การเลี้ยงดูลูกไม่เป็นอุปสรรคต่อ ความก้าวหน้าในอาชีพการงานโดยเฉพาะผู้หญิง/แม่ บทเรียนจากประเทศในยุโรปที่มีทั้งผู้หญิงเข้าร่วมในกำลังแรงงานสูง ในขณะที่ยังคงมีภาวะเจริญพันธุ์ที่สูงด้วยนั้น ส่วนหนึ่งเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาระบบสังคม เศรษฐกิจและครอบครัว ที่เอื้อต่อการเลี้ยงดูบุตรในขณะที่ทั้งพ่อและแม่ยังคงทำงาน

ในอาเซียนนโยบายที่เกี่ยวเนื่องกับ การชะลอการแต่งงาน การไม่ต้องการมีลูก การเพิ่มขึ้นของผู้ที่ไม่แต่งงานโดยเฉพาะการที่ผู้หญิงมีระดับการศึกษาสูงขึ้น จนไม่สามารถหาคู่ครองที่เหมาะสมกับฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ สิทธิในการตัดสินใจมีบุตร กฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมีบุตร และการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ เป็นสิ่งที่ต้องเร่งศึกษา ถึงแม้ว่า ประเด็นสำคัญที่จะยังคงเป็นที่ถกเถียงและเป็นความกังวลกันในอาเซียน คือการจัดหาและการสนับสนุนให้ผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานได้ใช้การคุมกำเนิดตามที่ต้องการก็ตาม

โดยสรุปการวางแผนด้านประชากรในระยะยาว ต้องคำนึงถึงการทำให้ภาวะเจริญพันธุ์ไม่สูงเกินไปหรือต่ำจนเกินไป เพื่อให้เกิดการสมดุลในโครงสร้างอายุและเพศประชากร การหวังพึ่งพาการย้ายถิ่นเข้า-ออก เพื่อลดปัญหาความไม่สมดุลในโครงสร้างทางอายุ โดยเฉพาะเพื่อแก้ปัญหาประชากรวัยแรงงานขาดแคลน หรือ ล้นเกิน ในแต่ละประเทศนั้นอาจไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและครอบครัว อย่างยั่งยืนต่อไปได้อย่างดี

บรรณานุกรม

  • มนสิการ กาญจนะจิตรา. 2555. ประชากร เศรษฐกิจและอนาคตอาเซียน ใน ประชากรและสังคมในอาเซียน: ความท้าทายและโอกาส, สุชาดา ทวีสิทธิ์ มาลี สันภูวรรณ์ และ ศุทธิดา ชวนวัน (บรรณาธิการ). สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, หน้า 47-65.
  • Jones, Gavin W. 2013. The Population of Southeast Asia. Asia Research Institute Working Paper Series No.196. Asia Research Institute, Singapore, pp.1-35.

 

Since 25 December 2012