ประชากรต่างแดน
ในไร่ชา.........มีมากกว่าใบชา
อมรา สุนทรธาดา
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ชาเป็นเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่มนุษย์เริ่มรู้จักและบริโภคเมื่อราว 2600 ปีก่อนคริสตกาล กล่าวกันว่าจีนเป็นชาติแรกที่เริ่มต้นวัฒนธรรมการดื่มชาและปัจจุบันยังเป็นผู้ผลิตชารายใหญ่ของโลก ภูมิประเทศที่เหมาะสมสำหรับการปลูกชาคุณภาพดีจะต้องเป็นพื้นที่สูงมีอากาศเย็นตลอดปี แรงงานที่เก็บใบชาจะต้องได้รับการฝึกฝนอย่างดี จะเลือกเด็ดใบอ่อนเพียง 2 ใบ แล้วรอให้แตกยอดใหม่ สิ่งที่น่าสนใจคือวิถีชีวิตแรงงานไร่ชา ปัญหาอันดับหนึ่งคือ ค่าแรง คนงานไร่ชาในอินเดียได้ค่าแรงวันละ 60 บาท ค่าแรงที่หฤโหดขนาดนี้ เป็นสาเหตุการประท้วงนายจ้างทั่วรัฐอัสสัมซึ่งเป็นรัฐที่มีปริมาณการปลูกชามากที่สุดของประเทศ เหตุร้ายแรงที่สุดคือสังหารนายจ้างและเผาทรัพย์สินของบริษัท ปัญหาอื่นๆ ในกลุ่มแรงงาน คือ สุขภาพ เนื่องจากต้องทำงานในพื้นที่สูงจะเจ็บป่วยด้วยอาการที่เกี่ยวข้องกับระดับความสูง (altitude sickness) การเจ็บป่วยด้วยภาวะโลหิตจาง โรคผิวหนังเนื่องจากสภาวะที่อยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสม อันตรายจากการสัมผัสแมลงมีพิษขณะทำงานที่บางครั้งถึงกับชีวิต ผลกระทบจากการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและแมลง และการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุมักเกิดขึ้นเสมอด้วยสภาพไร่ชาที่ปลูกในที่สูงและลาดชัน
อย่างไรก็ตามเนื่องจากชาเป็นพืชเศรษฐกิจ ทำกำไรมหาศาลให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ของโลก ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ยังขาดมาตรการที่ดีพอสำหรับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เช่น จีน อินเดีย ศรีลังกา และบางประเทศในทวีปแอฟริกา
ผู้ผลิตรายใหญ่ในมณฑลไฮหนาน ประเทศจีน มีแนวคิดการเพิ่ม (ยอดขาย) ราคาใบชาด้วยการประกาศหาสาวพรหมจารีที่มีสัดส่วนสรีระตามมาตรฐาน คือ ขนาดหน้าอก ไม่น้อยกว่า 36 นิ้ว ไม่มีรอยแผลเป็นบนร่างกายที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อสวมเครื่องแบบเก็บใบชา และที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องเด็ดยอดอ่อนใบชาด้วยริมฝีปากและหย่อนใบชาลงในภาชนะที่สานจากไม้ไผ่เสียบไว้ที่ร่องอก สาวใดที่มีคุณสมบัติดังกล่าวจะได้ค่าแรงประมาณวันละ 2,500 บาท ซึ่งมากกว่าค่าแรงอัตราปกติที่ไม่ถึง 100 บาทต่อวัน ระบบการตลาดที่แหวกแนวถึงขนาดนี้ตกเป็นข่าวทันที ทั้งผู้ต้องการการบริโภคชาคุณภาพมหัศจรรย์นี้ และกลุ่มผู้เคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนที่ออกมาปกป้องทันทีว่าทำเกินเหตุ อย่างไรก็ตามก็ไม่สามารถหยุดยั้งความคิดเชิงการตลาดแบบหยุดโลกของผู้ประกอบการรายนี้ได้สำเร็จ โดยการโต้กลับว่าเป็นประเพณีปฏิบัติที่ยึดถือมากว่าร้อยปี ที่นิยมใช้หญิงพรหมจารีเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตชา เช่น การให้หญิงสาวพรหมจารีวางถุงชาไว้บนหน้าอกและนอนกับใบชาหนึ่งคืนเพื่อให้ใบชาได้ซึมซับความดีงาม ความบริสุทธิ์ จากหญิงสาว ชาที่ได้จากกระบวนการนี้จะนำโชคและสุขภาพที่ดีสำหรับผู้บริโภค ประเพณีปฏิบัติเช่นนี้ คิดได้หลายแง่มุม เพราะมนุษย์เป็นผู้กำหนดและให้ความหมายของวัฒนธรรม ตัวอย่างประวัติการบริโภคชาเมื่อ คริสตกาลที่ 18 ในยุโรปโดยเฉพาะเนเธอร์แลนด์และอังกฤษ (ซึ่งสุดโต่งมากกว่า) นำเข้าใบชาจากจีนเพราะปลูกเองไม่ได้ และกลายเป็นสินค้าของชนชั้นสูงเนื่องจากราคาแพง มีวัฒนธรรมการดื่มชาที่มีกฎเกณฑ์แปลกๆ เช่น ห้ามผู้หญิงเข้าโรงน้ำชาเพื่อซื้อใบชา จะอนุญาตยืนรอหน้าร้านถ้าต้องการซื้อใบชาไปดื่มที่บ้าน หรือการวางกฎเกณฑ์การถือถ้วยชาและการจิบชาที่เป็นมาตรฐาน
ภาพ: การเก็บใบชาในมณฑลไฮหนาน
ภาพ: แรงงานไร่ชาในเคนยา
ในกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของทวีปแอฟริกาได้แก่ เคนยา มีการผลิตและส่งออกให้ประเทศใกล้เคียงและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก รวมทั้งการครองตลาดชาในอียิปต์ ที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น ยูนิลิเวอร์ เข้าไปลงทุน จากรายงานการวิจัยของ Kenya Human Rights Commission ปี 2551 มีข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น กฎเกณฑ์การจ่ายค่าแรงขึ้นอยู่กับจำนวนน้ำหนักใบชาที่เก็บได้ต่อวัน โดยเฉลี่ยคนงานจะเก็บได้ประมาณ 33.5 กิโลกรัมต่อวัน (ในรายงานไม่ได้ระบุว่าต่อคนหรือไม่) ได้ค่าแรง ประมาณ 94 บาท ต่อวัน บริษัทจัดห้องพักรวมให้ ไม่มีค่าอาหาร จากรายงานดังกล่าวมีข้อมูลว่าคนงานต้องทนกับสภาพการอยู่อย่างเบียดเสียด การล่วงละเมิดทางเพศในกลุ่มแรงงานสตรีเกิดขึ้นเสมอ ส่วนใหญ่จากผู้ควบคุม การตรวจร่างกายคนงานก่อนรับเข้าทำงานเข้มข้นมากทั้งชายและหญิง ถ้าพบว่าเป็นโรคติดต่อ หรือมีบาดแผลขั้นรุนแรงจะไม่ได้รับการพิจารณาเพราะต้องการรักษาคุณภาพชาให้ปลอดเชื้อ ไม่รับแรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์เพราะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน รายงานดังกล่าวถูกปฏิเสธจากผู้บริหารของบริษัทว่าไม่มี
มูลเหตุ