นานาสาระประชากร
สู่วัยชรา
ปราโมทย์ ประสาทกุล
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
วันเวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก เดี๋ยวเดือน เดี๋ยวปี นี่ก็จะหมดไปอีกปีหนึ่งแล้ว และก็เพราะเวลาผ่านไวเหมือนโกหกอย่างนี้นี่แหละที่ทำให้ไม่อยากจะเชื่อว่าเหตุการณ์หลายอย่างในชีวิตที่ผมยังจำได้ชัดเจน นั้นได้เกิดขึ้นเมื่อ ห้าสิบ หกสิบปี
มาแล้ว
ผมนึกถึงแม่ไก่ชื่อนันทาที่ถูกรถชนตาย “แสนเสียดายนันทาที่น่ารัก ชะล่านักเลี่ยงออกนอกถนน มัวแต่เพลินปลาบปลื้มจนลืมตน ถูกรถยนต์แล่นทับดับชีวา นิจจาเอ๋ยเคยเห็นทุกเย็นเช้า กลับเหลือแต่กรงเปล่าไม่เห็นหน้า เคยวิ่งเล่นด้วยกันทุกวันมา เจ้าทิ้งข้าเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจเอย”
คิดถึงพระสังข์ที่อยู่ในรูปเงาะอัปลักษณ์ มีเพียงรจนานางเดียวที่เห็น “รูปสุวรรณอยู่ชั้นใน รูปเงาะสวมไว้ให้คนหลง
ใครใคร ไม่เห็นเป็นรูปทรง พระเป็นทองทั้งองค์อร่ามตา” รจนาจึงเสี่ยงพวงมาลัยเลือกเจ้าเงาะแสนกลคนขยันเป็นคู่ครอง ท้าวสามนต์โกรธมาก ไล่ให้เจ้าเงาะกับรจนาไปอยู่กระท่อมปลายนา จนวันที่พระสังข์ถอดรูปเงาะ ผมจำได้ดีตอนที่ท้าวสามนต์ “เข้าไปในทับเห็นลูกเขย พ่อเจ้าลูกเอ๋ยงามนักหนา น้อยหรือรูปร่างเหมือนเทวดา หน้าตาจิ้มลิ้มพริ้มเพรา ผิวเนื้อเรื่อเรืองเหลืองประหลาด ดั่งทองคำธรรมชาติที่หล่อเหลา ฟ้าผี่เถิดเอ๋ยลูกเขยเรา งามจริงนะเจ้านางมณฑา...”
รามเกียรติ์ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ ผมก็จำได้ดี “เมื่อนั้น ท้าวมาลีวราชเรืองศรี ได้ฟังคั่งแค้นแสนทวี ดั่งหนึ่งเอาตรีมาเสียบกัณฑ์ จึ่งว่าเป็นไฉนทศพักตร์ จึงฮึกฮักดื้อดึงด้วยโมหันต์ มาติดใจฝูงเทพเทวัญ ผูกพันว่านี้ก็ผิดไป ทำไมกับท้าวโกสีย์รถของเขามีเขาก็ให้ ว่าเลือกรักมักชังด้วยอันใด ซ้ำติดใจคนกลางนางสีดา...”
คิดถึง “พระอภัยมณี” โดยเฉพาะตอนที่โยคีไปช่วยสุดสาคร “บัดเดี๋ยว ดังหงั่งเหง่งวังเวงแว่ว สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา...” ช่วยอุ้มสุดสาครขึ้นมาจากเหวที่ชีเปลือยผลักตกลงไป “แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน ...”
ผมนึกถึงนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่เมื่อเริ่มออกเดินทางจากวัดราชบูรณะ ท่านเขียนว่า “เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระวสา รับกฐินภิญโญโมทนา ชุลีลาลงเรือเหลืออาลัย...” แล้วก็เมื่อล่องเรือผ่าน “โรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง” ที่บางยี่ขัน บทที่ชอบมากเมื่อครั้งเป็นหนุ่มขณะยังชมชอบสุราและมีความรักบรรจุอยู่เต็มห้องหัวใจ “...ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน...”
บทอาขยานที่ผมจำได้ขึ้นใจยังมีอีกมาก ผมคิดว่าผมโชคดีที่ได้มีโอกาสท่องจำร้อยกรองเหล่านี้ เวลาผ่านสถานที่หรือเห็นอะไรที่เกี่ยวข้อง เราก็คิดถึงบทอาขยานเหล่านั้น คิดถึงเมื่อตอนเป็นเด็ก จำได้แม่นยำว่าเคยตะโกนท่อง “เมืองไทยใหญ่อุดม ดินดีสมเป็นนาสวน เพื่อนรักเราชักชวน ร่วมช่วยกันมุ่งหมั่นทำ ...” เสียงดังลั่นอยู่ในสวน แต่เด็กรุ่นใหม่ อาจจะคิดว่าเขาโชคดีที่ไม่ต้องท่องอาขยานเป็นนกแก้วนกขุนทองอย่างเด็กรุ่นก่อนก็ได้ ความหลังของผมช่างแจ่มชัดเหลือเกิน เหมือนไฟที่ยังคุกรุ่นพร้อมที่จะลุกโชนขึ้นมาอีกเมื่อขุดคุ้ยแล้วเอาอารมณ์เป็นเชื้อเพลิงใส่ลงไป
เรื่องราวซุกซนและสนุกสนานผจญภัยในวัยเด็ก ความคึกคะนองและความรักในวัยหนุ่ม ชีวิตการทำงานที่ท้าทายและโลกทัศน์ที่เปิดกว้างขึ้นในวัยกลางคน ประสบการณ์หลากหลายที่ผ่านมาในขั้นตอนต่างๆ ของชีวิต เป็นความหลังที่ยังแจ่มชัดอยู่ในความทรงจำ บางเหตุการณ์ก็ทำให้เราอิ่มเอมใจ พฤติกรรมบางอย่างเมื่อนึกถึงแล้วก็ยังไม่เข้าใจตัวเองว่าทำไปได้อย่างไร บางเหตุการณ์ที่แม้อยากลืมแต่ก็ยังติดอยู่ในใจ ชีวิตคนเราเป็นเช่นนี้เองหนอ
ไม่อยากจะเขียนรื้อฟื้นความหลัง รู้สึกเขินอาย ถ้าจะถูกมองว่าเริ่มมีพฤติกรรมเหมือนคนแก่ที่ชอบเล่า ความหลัง และฝังใจอยู่กับเรื่องราวในอดีต ทำไมคนแก่จึงชอบพูดและคิดถึงแต่ความหลัง? คงจะเป็นเพราะว่าเมื่อ คนเรามีอายุสูงขึ้น มีชีวิตอยู่มานานจนเข้าสู่วัยชรา ซึ่งเท่ากับเป็น “ช่วงบั้นปลายของชีวิต” อนาคตข้างหน้าก็จะเหลือจำนวนปีน้อยลง คงเหลือแต่อดีตที่นับวันจะมีระยะเวลายาวนานขึ้น ผมผ่านชีวิตมายาวนานจนมาถึงช่วงบั้นปลายของชีวิตแล้วหรือนี่
พอเขียนว่า “ช่วงบั้นปลายของชีวิต” ก็เกิดอาการสะดุ้งในหัวใจขึ้นมาทันที ไม่น่าเชื่อว่าตัวผมเองได้เข้าสู่ช่วงบั้นปลายของชีวิตแล้ว ผมได้ผ่านช่วงวัยต่างๆ ในช่วงต้นๆ ของชีวิตมาแล้ว วัยต้นๆ ของชีวิตคนไทยที่เป็นศัพท์รวมไว้ในพจนานุกรม ฉบัราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ไม่ว่าจะเป็นวัยทารก วัยอุ้ม วัยจูง วัยแล่น วัยเด็ก วัยรุ่น วัยหนุ่ม วัยคะนอง วัยฉกรรจ์ และวัยกลางคนนั้น ผมได้ผ่านมาหมดแล้ว วัยสุดท้ายที่ผมเพิ่งผ่านมาคือ วัยกลางคนซึ่งพจนานุกรมให้ความหมายไว้ว่า “วัยที่มีอายุพ้นวัยหนุ่มสาวแต่ยังไม่แก่ อายุประมาณ 30-50 ปี” ผมก็เลยวัยนั้นมานานเป็นสิบปีแล้ว
ขณะนี้ ผมได้ผ่านเข้าสู่ “วัยชรา” ซึ่งพจนานุกรมให้ความหมายว่า “วัยที่ต่อจากวัยกลางคน อายุเกิน 60 ปี” ความหมายนี้ทำให้ผมสะดุ้งใจหนักขึ้นไปอีก ราชบัณฑิตยสถานกำหนดให้ผมซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีเป็นคนวัยชราไปแล้วหรือนี่ ยิ่งเปิดพจนานุกรมฉบับเดียวกันดูคำว่า “ชรา” ก็ยิ่งหนาวใจ “ชรา” หมายความว่า “แก่ด้วยอายุ ชำรุดทรุดโทรม” โธ่เอ๋ย...คนอายุแค่ 60 ปีต้องกลายเป็นคนชรา ที่แก่ด้วยอายุ และชำรุดทรุดโทรมไปเสียแล้ว แล้วผมซึ่งมีอายุเกินหกสิบมาตั้งห้าหกปี จะเฒ่าชแร แก่ชรา สังขารจะชำรุดทรุดโทรมไปมากขนาดไหนกันล่ะนี่
กฎหมายไทยล้าหลังเรื่องผู้สูงอายุ
โชคดีนะครับ ประเทศไทยเราใช้คำว่า “ผู้สูงอายุ” ไม่ใช้คำว่า คนแก่ หรือคนชรา หรือผู้เฒ่า คำว่า “ผู้สูงอายุ” เกิดขึ้นเมื่อปี 2506 โดย หลวงอรรถสิทธิ์สิทธิสุนทร เป็นผู้นำคำนี้มาใช้ในโอกาสที่ ศาสตราจารย์ นพ.ประสพ รัตนากรก่อตั้งชมรมผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้น1/
คำว่า “ผู้สูงอายุ” ไม่มีอยู่ในพจนานุกรม แต่นิยามกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 “มาตรา 3 ผู้สูงอายุ หมายถึงบุคคลที่มีอายุหกสิบปี” และในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 “มาตรา 53 บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างสมศักดิ์ศรี และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ” ซึ่งมีความหมายเป็นนัยว่าคนไทยอายุหกสิบปีขึ้นไปเป็นผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ รวมความว่าคนไทยอายุหกสิบปีขึ้นไปเป็นผู้สูงอายุตามกฎหมาย และเข้าสู่วัยชราตามพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน เท่ากับว่าในประเทศไทยของเรานี้ อายุหกสิบปีคือ “วัยชรา” ซึ่งเรียกให้ไพเราะไม่สะเทือนใจใครว่าเป็น “ผู้สูงอายุ” แต่ถ้าพูดตรงๆ ไม่อ้อมค้อมคือทั้งกฎหมายและพจนานุกรมบอกว่าคนไทยอายุหกสิบปีคือคนแก่แล้ว นั่นเอง
ผมเชื่อว่าพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 คงล้อตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ที่ให้ข้าราชการเกษียณที่อายุ 60 ปี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็คงจะลอกตามฉบับที่พิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2493 เมื่อนานกว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว ตอนนั้นคนไทยพอเกิดมาก็คาดว่าจะมีอายุอยู่ต่อไปอีกไม่ถึง 50 ปี เดี๋ยวนี้อายุคาดเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็น 74 ปี ทั้งกฎหมายและพจนานุกรมตามไม่ทันการพัฒนาสังคมเสียแล้ว สุขภาพอนามัยของคนไทยดีขึ้นมากจนทำให้คำนิยามของผู้สูงอายุว่าคือคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ล้าหลังไปอย่างปราศจากข้อสงสัย
ถึงวันนี้ ต้องยอมรับว่าตัวเองเข้าสู่วัยชราแล้ว
ที่ผมเขียนมายืดยาวเกี่ยวกับความหมายของคำว่าวัยชรา คนแก่ และผู้สูงอายุนั้น ไม่ใช่อะไรหรอกครับ ผมเขียนเพียงเพราะผมยังไม่อยากเชื่อว่าผมเป็นคนแก่ หรือเข้าสู่วัยชราแล้ว ผมคิดเสมอว่าอายุหกสิบยังไม่ควรเรียกว่าผู้สูงอายุ ยังไม่ชรา และยังไม่แก่ แต่มาถึงวันนี้ วันที่ผมอายุเกิน 65 ปีมาแล้ว ผมคงต้องคิดใหม่ เมื่อวันที่ 13 กันยายน มหาวิทยาลัยมหิดลจัดงานให้ข้าราชการที่เกษียณอายุ ผมได้ไปร่วมงานและรับเกียรติบัตรและเข็มที่ระลึกจากท่านอธิการบดี ได้ร่วมนั่งชุมนุมอยู่กับข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัยอีกหลายร้อยคนที่กำลังจะอำลาชีวิตการทำงานเมื่อสิ้นเดือนกันยายนปีนี้
ไม่แต่เพียงงานเกษียณอายุของมหาวิทยาลัยเท่านั้น สถาบันวิจัยประชากรฯ ที่ผมทำงานอยู่ก็จัดงานมุทิตาจิตแก่ผู้จะเกษียณอายุให้อีกเมื่อวันที่ 26 กันยายน ในงานนี้ ผมมีโอกาสได้เล่าความหลัง ผมแบ่งชีวิตของผมออกเป็น 4 ช่วงดังนี้
(1) ช่วง 12 ปีแรกของชีวิต เป็นทารก อยู่ในวัยอุ้ม วัยจูง และวัยแล่น เรียนหนังสือชั้นประถมศึกษา (ป.1-ป.4) และมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-ม.3) เป็นเด็กบ้านนอกอยู่ที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
(2) ช่วงวัยรุ่นและวัยหนุ่ม เป็นเวลา 11 ปี เข้ากรุงเทพฯ เรียนหนังสือชั้นมัธยมปลาย จนจบมหาวิทยาลัย
(3) ช่วงอยู่ต่างประเทศ 5 ปี เรียนหนังสือจนจบปริญญาโท และเอก ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
(4) ช่วงชีวิตการทำงาน เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2519 จนถึงวันนี้ นับเป็นเวลา 37 ปี ทำงานอยู่มหาวิทยาลัยมหิดลเพียงแห่งเดียว
ในวันนั้น ผมได้พูดกับเพื่อนร่วมงานรุ่นน้องๆ ที่สถาบันฯ ในตอนท้ายว่า
“ผมจะยังทำงานต่อไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่า..สังขารจะไม่เป็นใจ คนรุ่นใหม่จะมองไม่เห็น เมื่อนั้น ผมก็จำเป็นต้องจากไป
แต่ตอนนี้... สังขารผมยังไม่เสื่อมนัก ใจยังรักที่จะทำให้สถาบันฯ ผมจึงมุ่งมั่นทำงานด้านประชากรต่อไป”
1/ อุบล หลิมสกุล “ผู้สูงอายุ ... ในเชิงนโยบาย” ใน ผู้สูงอายุไทย ... ทำไมต้อง 60 ปี มส.ผส. (มปป.).