รางวัลอีกโนเบล 

นักวิจัยไทยได้รับรางวัลอีกโนเบล

วรชัย ทองไทย
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

การประกาศผลและพิธีมอบรางวัลอีกโนเบลประจำปี พ.ศ. 2556 (ค.ศ. 2013) นี้ ได้จัดขึ้นในคืนวันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2556 ณ โรงละครแซนเดอร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 23 โดยมีรางวัลที่ประกาศทั้งสิ้น 10 รางวัล เช่นเคย แต่ครั้งนี้พิเศษกว่าทุกครั้ง เพราะเป็นครั้งแรกที่คนไทยได้รับรางวัลอีกโนเบลอันมีเกียรตินี้

เราคงจำกันได้ว่า ในช่วงเวลาย้อนหลังไป 30 กว่าปีนั้น ข่าวที่ขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เป็นประจำคือ ข่าวของสามีที่ถูกภรรยาขี้หึงตัดพวงสวรรค์ในขณะนอนหลับ ถ้าสามีโชคดีที่อวัยวะทุกอย่างอยู่ครบ ก็สามารถต่อกลับคืนได้ แต่ถ้าโชคร้าย เพราะอวัยวะอยู่ไม่ครบหรือไปโรงพยาบาลไม่ทัน สามีก็จะเป็นขันทีไป พฤติกรรมเลียนแบบนี้เกิดขึ้นถี่มาก จนเรียกได้ว่าเป็นภาวะโรคระบาด

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ นักวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร American Journal of Surgery (1983) เรื่อง “การบริหารงานผ่าตัดในภาวะโรคระบาดของการตัดองคชาตในประเทศไทย (Surgical Management of an Epidemic of Penile Amputations in Siam)” ซึ่งแนะนำและบรรยายถึงเทคนิควิธีผ่าตัดต่อองคชาต ที่สามารถทำได้อย่างสัมฤทธิ์ผลในโรงพยาบาลทั่วไป

อย่างไรก็ตามวิธีที่แนะนำนี้ยังมีข้อจำกัด หนึ่งในนั้นคือ เทคนิควิธีดังกล่าวไม่อาจทำได้ ถ้าบางส่วนขององคชาตถูกเป็ดกินไปแล้ว ด้วยข้อจำกัดนี้เอง มีผลทำให้ผู้เขียนรายงานวิจัยได้รับรางวัลอีกโนเบล สาขาสาธารณสุข

ผู้เขียนรายงานวิจัยดังกล่าวประกอบด้วยนักวิจัยไทย 6 คน คือ เกษียร ภังคานนท์ ตู้ ชัยวัฒนา ชุมพร พงษ์นุ่มกุล อนันต์ ตัณมุขยกุล ปิยะสกล สกลสัตยาทร (อดีตอธิการบดีของมหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2550-2554) และคริต โคมาราทาล กับนักวิจัยอเมริกัน 1 คน คือ เฮนรี ไวลด์

ส่วนรางวัลอีกโนเบลที่เหลือ 9 รางวัล ได้แก่

สาขาแพทยศาสตร์ มอบให้กับนักวิจัยญี่ปุ่น 6 คน (Masateru Uchiyama, Qi Zhang, Toshihito Hirai, Atsushi Amano, Hisashi Bashuda และ Masanori Niimi) กับนักวิจัยจีน 1 คน (Xiangyuan Jin) สำหรับงานวิจัยที่ประเมินผลกระทบของการได้ฟังเพลงโอเปรา ของหนูทดลองที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ

สาขาจิตวิทยา มอบให้แก่นักจิตวิทยาฝรั่งเศส 4 คน (Laurent Begue, Oulmann Zerhouni, Baptiste Subra และ Medhi Ourabah) กับนักจิตวิทยาอเมริกัน 1 คน (Brad Bushman) ที่ได้ยืนยันด้วยผลงานวิจัยทดลองว่า คนที่คิดว่าตนเองเมา มักจะคิดว่าตนเองก็มีเสน่ห์ด้วย
สาขาชีววิทยาและดาราศาสตร์ ได้มอบให้แก่นักวิจัยสวีเดน 3 คน (Marie Dacke, Emily Baird และ Eric J. Warrant) กับนักวิจัยแอฟริกาใต้ 2 คน (Marcus Byrne และ Clarke Scholtz) ที่ได้ค้นพบว่า ตัวด้วง (dung beetle) สามารถบินกลับรังได้ด้วยการใช้ทางช้างเผือกนำทาง

สาขาวิศวกรรมความปลอดภัย มอบให้กับ Gustano Pizzo นักประดิษฐ์อเมริกันที่ล่วงลับไปแล้ว สำหรับสิ่งประดิษฐ์ที่ได้จดทะเบียนลิขสิทธ์ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2515 ในชื่อว่า “ระบบป้องกันการจี้เครื่องบิน” อันเป็นระบบกลไกอิเล็กทรอนิกส์ ที่จับโจรจี้เครื่องบินมัดใส่ในแคปซูล แล้วหย่อนลงทางประตูใต้ท้องเครื่องบินที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ โดยระบบจะติดต่อทางวิทยุกับตำรวจภาคพื้นดิน ให้ไปคอยจับโจรในแคปซูล ที่ตกลงสู่พื้นดินด้วยร่มชูชีพ

สาขาฟิสิกส์ มอบให้กับนักวิทยาศาสตร์อิตาลี 5 คน (Alberto Minetti, Yuri Ivanenko, Germana Cappellini, Nadia Dominici และ Francesco Lacquaniti) ที่ค้นพบว่า บนดวงจันทร์นั้น คนสามารถวิ่งข้ามสระน้ำ บนผิวน้ำได้

สาขาเคมี มอบให้กับนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น 6 คน (Shinsuke Imai, Nobuaki Tsuge, Muneaki Tomotake, Yoshiaki Nagatome, Toshiyuki Nagata และ Hidehiko Kumgai) ที่ค้นพบว่า ขบวนการชีวเคมีของหอมที่ทำให้คนน้ำตาไหลนั้น มีความสลับซับซ้อนมากกว่าที่คิด

สาขาโบราณคดี มอบให้กับ นักโบราณคดีอเมริกัน (Brian Crandall) และนักโบราณคดีแคนาดา (Peter Stahl) สำหรับการทดสอบว่า ระบบย่อยอาหารของคนเรานั้น สามารถย่อยกระดูกชนิดใดได้บ้าง ด้วยการนึ่งหนูผี แล้วกลืนโดยไม่ต้องเคี้ยว จากนั้นก็ตรวจสอบอุจจาระอย่างละเอียด เพื่อดูเศษกระดูกที่ตกค้างอยู่

สาขาสันติภาพ มอบให้กับ Alexander Lukashenko ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเบลารุส ที่ออกกฎหมายห้ามปรบมือในที่สาธารณะ และตำรวจเบลารุส ที่จับคนแขนเดียวด้วยข้อหาดังกล่าว

สาขาความน่าจะเป็น (Probability Prize) มอบให้กับนักวิจัยอังกฤษ 5 คน (Bert Tolkamp, Marie Haskell, Fritha Langford, David Roberts และ Colin Morgan) สำหรับผลการวิจัยทดลองที่พบว่า ระยะเวลาที่วัวได้นอนนานขึ้น จะทำให้วัวลุกขึ้นยืนเร็วขึ้น และพบอีกว่า เมื่อวัวได้ยืนขึ้นแล้ว ก็ยากที่จะคาดว่า เมื่อไรวัวจะกลับลงไปนอนอีก

 รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับงานวิจัยที่ทำให้ “ขำ” ก่อน “คิด”

Since 25 December 2012