เมื่อไรจะเข้มงวดไม่ให้สูบบุหรี่ในบ้าน: การได้รับควันบุหรี่มือสองจากสมาชิกภายในครอบครัว
โยธิน แสวงดี This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
การสูบบุหรี่เป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่มีผลต่อผู้สูบบุหรี่โดยตรงนำไปสู่การป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งลำไส้ โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคทางเดินหายใจ ฯลฯ และมีส่วนก่อให้เกิดการได้รับควันบุหรี่มือสองในกลุ่มผู้ไม่สูบบุหรี่ที่อยู่อาศัยในสังคมด้วย ที่สำคัญคือ การได้รับควันบุหรี่มือสองที่ตนเองมิได้สูบ เป็นการได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่นที่สูบ มีผลทำให้มีโอกาสป่วยเป็นโรคที่เกิดจากควันบุหรี่ได้ ทารกและเด็กที่อยู่ใกล้กับบุคคลที่สูบบุหรี่ เช่น ผู้ปกครอง ญาติ มีโอกาสเสียชีวิตระหว่างคลอดสูง หรือ มีน้ำหนักแรกคลอดต่ำ มีโอกาสป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคหลอดลม โรคช่องปากอักเสบ โรคปอดบวม โรคระคายเคืองตา เป็นหวัดบ่อย มีพัฒนาการทางสมองช้า ฯลฯ
ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม 2557 ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ทำการสำรวจอัตราการรับรู้สถานที่บ่งชี้ที่เป็นพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 19 พ.ศ. 2553 ผลการสำรวจที่น่าสนใจอย่างหนึ่งจากข้อมูลที่เป็นตัวแทนทั้งประเทศคือ ผู้ตอบแบบสอบถามอายุระหว่าง 15 ถึง 64 ปี จำนวน 2,095 คน ร้อยละ 57.3 มีสมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่
เมื่อถามเฉพาะผู้ตอบที่เคยไปสถานที่ต่างๆ ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ ภายใน 30 วันที่ผ่านมา พบว่า เคยได้รับควันบุหรี่มือสองที่ตลาดสด/ตลาดนัด ร้อยละ 73.6 ที่สถานีขนส่ง/ป้ายรถเมล์/สถานีรถไฟ/ท่าเรือ ร้อยละ 72.7 ที่สนามกีฬาร้อยละ 67.9 และที่สถานีตำรวจร้อยละ 66.2 สะท้อนว่า แม้สถานที่สาธาณะต่างๆ เหล่านี้จะเป็นพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ตามกฏหมาย แต่ยังพบเห็นการฝ่าฝืนการสูบบุหรี่อยู่ในอัตราที่ค่อนข้างสูง
เมื่อเน้นวิเคราะห์เฉพาะภายในครอบครัว ผลการสำรวจชี้ว่า ภายใน 30 วันที่ผ่านมา มีผู้เคยได้รับควันบุหรี่มือสองจากรถยนต์ส่วนตัวถึงร้อยละ 24.7 หรือประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ขณะเดียวกันอีกร้อยละ 43.7 ตอบว่าเคยได้รับควันบุหรี่จากภายในตัวบ้าน และร้อยละ 57.7 เคยได้รับควันบุหรี่มือสองภายในรั้วบ้าน เมื่อจำแนกออกตามเขตที่อยู่อาศัย พบว่า ผู้ที่อยู่อาศัยในเขตเมืองได้รับควันบุหรี่มือสอง ทั้งจากภายในรถยนต์ส่วนตัว ภายในตัวบ้าน และภายในรั้วบ้าน สูงกว่าผู้ที่อยู่อาศัยในเขตชนบท (ตารางที่ 1)
สถานที่ | เขตเมือง | เขตชนบท |
ภายในรถยนต์ส่วนตัว | 27.3 | 21.6 |
ภายในตัวบ้าน | 47.0 | 39.6 |
ภายในรั้วบ้าน | 59.5 | 54.5 |
ตารางที่ 1 ร้อยละการเคยได้รับควันบุหรี่มือสองภายในรถยนต์ส่วนตัว ภายในตัวบ้านและภายในรั้วบ้าน เมื่อจำแนกตามเขตที่อยู่อาศัย
กล่าวได้ว่า สัดส่วนร้อยละของการได้รับควันบุหรี่มือสองจากสมาชิกในครัวเรือนทั้งสองพื้นที่อยู่ในอัตราที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้เพราะทั้งรถยนต์ส่วนตัว ภายในตัวบ้านและภายในรั้วบ้าน เป็นพื้นที่ส่วนบุคคล กฏหมายไม่สามารถครอบคลุมถึงเหมือนที่สาธารณะทั่วไป และที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ส่วนมากผู้สูบบุหรี่จะสูบบุหรี่นอกตัวบ้าน ดังที่พบได้ชัดเจนว่ามากกว่าร้อยละ 50 ของทั้งผู้สูบบุหรี่ที่บ้านในเขตเมืองและเขตชนบทจะสูบภายในรั้วบ้านเหมือนกัน
เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นอีกจึงขอจำแนกตามเขตการปกครองที่แยกเป็นภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และกรุงเทพมหานคร ข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ เมื่อพิจารณาการได้รับควันบุหรี่มือสองภายในรถยนต์ส่วนตัว พบมากที่สุดในคนกรุงเทพมหานคร (ร้อยละ 45.6) รองลงมา คือ คนภาคตะวันออก (ร้อยละ 43.0) และลำดับที่สามคือ คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 34.6) (ตารางที่ 2)
สถานที่ | ภาคเหนือ | ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ |
ภาคกลาง | ภาคใต้ | ภาคตะวันออก | ภาคตะวันตก | กรุงเทพฯ | รวม |
ภายในระยนต์ส่วนตัว | 11.2 | 34.6 | 13.8 | 23.3 | 43.0 | 15.1 | 45.6 | 24.7 |
ภายในตัวบ้าน | 31.6 | 52.3 | 33.4 | 46.0 | 61.2 | 42.5 | 52.9 | 43.7 |
ภายในรั้วบ้าน | 39..6 | 68.8 | 47.2 | 62.4 | 78.3 | 46.3 | 65.7 | 57.3 |
ตารางที่ 2 ร้อยละการเคยได้รับควันบุหรี่มือสองภายในรถยนต์ส่วนตัวภายในตัวบ้านและภายในรั้วบ้านเมื่อจำแนกตามภาค
สำหรับการเคยได้รับควันบุหรี่มือสองภายในตัวบ้าน พบมากที่สุดในคนภาคตะวันออก (ร้อยละ 61.2) รองลงมาคือ คนกรุงเทพมหานคร (ร้อยละ 52.9) และอันดับสามคือ คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 52.3) การได้รับควันบุหรี่มือสองจากผู้สูบบุหรี่ภายในรั้วบ้านพบแบบแผนที่คล้ายกับการได้รับควันบุหรี่มือสองภายในตัวบ้าน คือ สูงที่สุดในคนภาคตะวันออก (ร้อยละ 78.3) รองลงมา คือ คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 68.8) และอันดับสามคือ คนกรุงเทพมหานคร (ร้อยละ 65.7)
การได้รับควันบุหรี่มือสองมีผลร้ายต่อสุขภาพไม่แตกต่างกับการสูบบุหรี่โดยตรง โอกาสที่จะป่วยด้วยโรคที่เกิดจากพิษของบุหรี่จะมีเท่ากับสูบบุหรี่เอง ผลการสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นว่า การได้รับควันบุหรี่มือสองไม่เพียงแต่ได้รับจากการเดินทางไปที่สาธารณะต่างๆ ที่มีผู้ฝ่าฝืนการสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่หรือพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ตามกฎหมาย แต่ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ผู้ตอบแบบสอบถามในสัดส่วนร้อยละที่สูงตั้งแต่ 1 ใน 4 ถึงเกือบร้อยละ 60 ต่างตอบว่าได้รับควันบุหรี่มือสองจากสถานที่ใกล้ตัวมากที่สุด เช่น ภายในรถยนต์ส่วนตัว ภายในตัวบ้าน และภายในรั้วบ้าน ที่แสดงว่าเป็นควันบุหรี่มือสองจากสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้สูบบุหรี่นั่นเอง
การส่งเสริมและรณรงค์ไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะจึงยังไม่เพียงพอที่จะปกป้องบุคคลผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ไม่ไห้ได้รับอันตรายจากการสูบบุหรี่ของบุคคลอื่น แต่จะต้องรณรงค์และส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวที่สูบบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ภายในรถยนต์ส่วนตัว ไม่สูบบุหรี่ภายในตัวบ้าน และไม่สูบบุหรี่ภายในรั้วบ้านด้วย