ประเด็นทางประชากรและสังคม
ยิ่งอายุยืนขึ้น ยิ่งต้องทำงานนานขึ้น......??
กุศล สุนทรธาดา This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
วันนี้ผู้เขียนมาชวนให้ถกคิดกันในเรื่องที่ว่า เมื่อคนเราอายุยืนมากขึ้น ชีวิตที่เหลือหลังเกษียณจะให้ผู้สูงอายุไปทำอะไรกันดี เนื่องจากสังคมไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยไปแล้ว เพราะเรามีสัดส่วนผู้สูงอายุที่มากกว่าร้อยละ 10 มาหลายปี จนทุกวันนี้มีผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณร้อยละ 12 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 9.9 ล้านคน (จากประชากรทั้งประเทศเกือบ 65 ล้านคน) และในปี พ.ศ. 2583 (อีกไม่ถึง 30 ปี) ไทยจะมีประชากรสูงอายุเพิ่มเป็นเท่าตัว คือ 20.5 ล้านคน (คิดง่ายๆ คือ จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มปีละประมาณ 3.5 แสนคน) ดังนั้น คนในวัย 50-59 ปี 40-49 ปี และ 30-39 ปี จะต้องมีภาระในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะสมัครใจหรือไม่สมัครใจ (ปัจจุบันคนวัยแรงงาน 6 คน ดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ในขณะที่ในอนาคตนั้น วัยแรงงาน 3 คน ต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน) สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สร้างแรงกดดันให้เฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานเท่านั้น แต่ยังเพิ่มแรงกดดันให้แก่ภาระด้านการคลังของภาครัฐในด้านต่างๆ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งพบว่าค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพของคนตลอดช่วงอายุขัยจะ “กระจุกตัว” อยู่ที่ระยะเวลาก่อนเสียชีวิต (ศุภกิจ ศิริลักษณ์, 2557) สิ่งที่ท้าทายสังคมไทยมากที่สุดตอนนี้ คือ เราจะแปลงวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสได้อย่างไร คำตอบคงไม่ยาก “ก็สร้างโอกาสให้ผู้สูงอายุสิ” แต่จะสร้างโอกาสอย่างไรนี่สิเป็นสิ่งที่ยากกว่า………มากๆ……
เราลองมาคิดกันดูเล่นๆ ว่าในเมื่อคนเราอายุยืนขึ้น หลังเกษียณอายุก็จะว่าง หรือไปพักผ่อน ท่องเที่ยว หรือทำอะไรที่ไม่มีผลผลิต ดังนั้น ถ้าเราสร้างโอกาสให้ผู้สูงอายุที่อยากทำงาน และมีความสามารถที่จะทำงาน ให้ได้มีงานทำต่อไป ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งในด้านการส่งเสริมคุณค่าของผู้สูงอายุในเชิงอรรถประโยชน์ ที่สามารถวัดได้ชัดเจน ทั้งในรูปของรายได้ การลดความยากจน และการพึ่งตนเอง ลดการพึ่งพาลูกหลาน/ครอบครัว สังคม รวมทั้งเป็นการส่งเสริมสุขภาพทั้งทางด้านร่างกายและสมอง (Warr, 1994) และอาจช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคตอีกด้วย แต่สิ่งเหล่านี้จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อทุกคน ทุกฝ่าย เปลี่ยนมุมมองว่า “ผู้สูงอายุเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่า” ที่สามารถทำประโยชน์ให้แก่ตนเอง ครอบครัว และสังคมได้ ขณะนี้ ประเด็นการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุกำลังเป็นประเด็นที่มีความสำคัญและกำลังถูกท้าทายอย่างมาก ทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาในกลุ่มองค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ส่วนใหญ่เป็นสังคมสูงอายุ ประเทศเหล่านี้มีนโยบายส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำงานให้มากขึ้น เมื่อชีวิตยืนยาวขึ้น (Live longer, work longer) (OECD, 2006) โดยประเทศเหล่านี้ใช้มุมมองทางบวกของแรงงานสูงอายุ เนื่องจากแรงงานสูงอายุมีทั้งความรอบรู้ ทักษะ ประสบการณ์ มีความมั่นคง ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ มีทักษะในการดูแลลูกค้า มีแรงบันดาลใจ และความคิดสร้างสรรค์ ถ้าใครมีคุณลักษณะเหล่านี้ก็สมควรที่จะมีหน่วยงานหรือนายจ้างมาจ้างต่อแม้ว่าอายุจะเกินเกษียณแล้ว ผู้สูงอายุก็จะมีงานทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทำไม่ไหว (ทำให้เหลือเวลา “ชราภาพ” น้อยลงไปด้วย)
หน่วยงานที่มีแรงงานสูงอายุมักใช้ทัศนะทางบวกในแง่ที่ว่า 1) การผสมผสานแรงงานหนุ่มสาวกับแรงงานสูงอายุในสัดส่วนที่เหมาะสมทำให้หน่วยงานมีจุดแข็ง 2) การมีแรงงานสูงอายุทำให้เกิดภาพพจน์ที่ดี และทำให้ผู้สูงอายุที่ดีๆ มีความสามารถอยากมาทำงานด้วย 3) หน่วยงานมักให้โอกาสในการฝึกอบรมแก่พนักงานสูงอายุ เพื่อการพัฒนาทักษะที่จำเป็น 4) มีการทำความเข้าใจกับพนักงานทุกระดับถึงนโยบายนี้.. เท่านี้หน่วยงานก็จะได้พนักงานสูงวัยที่แสนจะอุทิศตนเพื่อหน่วยงาน หรือท่านผู้อ่านมีวิธีอื่นดีๆ ก็เอามาแลกเปลี่ยนกันได้นะ
OECD. 2006. Ageing and Employment Policies. Live Longer, WorkLonger. Paris: OECD editions.
Warr, P. (1994). Age and job performance. In J. Snel & R. Cremer(Eds.), Work and Aging: A European Perspective (pp. 309-322).London: Taylor & Francis Ltd.
ศุภกิจ ศิริลักษณ์ การศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบเชิงนโยบายต่อการพัฒนาประเทศจากผลคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583ที่ปรึกษากระทรวงระดับทรงคุณวุฒิ กระทรวงสาธารณสุข