เวทีวิจัยประชากรและสังคม

การรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่เข้าถึงผู้รับมากแค่ไหน

ปริยา เกนโรจน์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ประเทศไทยเริ่มใช้กฎหมายสำหรับการควบคุมการบริโภคยาสูบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 และได้ออกมาตรการต่างๆ ที่ครอบคลุมและหลากหลายมาใช้เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2554) ยังพบว่า มีคนไทยสูบบุหรี่สูงถึง 11.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2552 ที่มีจำนวนผู้สูบบุหรี่ 10.9 ล้านคน สะท้อนว่า สังคมไทยยังต้องการการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่จริงจัง ทั้งเพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ และเพื่อเป็นกำลังใจให้นักสูบหน้าเดิมสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ 

บทความนี้ต้องการนำเสนอผลการเผยแพร่สื่อรณรงค์หนึ่งจากหลายๆ การรณรงค์ ที่มีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นองค์กรหลักและมีบทบาทสำคัญในการจัดทำและดำเนินการเผยแพร่ในช่วงเวลาต่างๆ นั่นคือ สื่อรณรงค์ชุด “พ่อและแม่จะเสียใจ ถ้าลูกสูบบุหรี่” ได้เผยแพร่ในช่วงวันแม่แห่งชาติ ระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2553  และวันพ่อแห่งชาติ ระหว่างเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2553 ต่อเนื่องถึงจนต้นปี พ.ศ. 2554

โครงการวิจัยติดตามผลกระทบจากนโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบ (ประเทศไทย) ในปี พ.ศ. 2554  ได้ศึกษาผลของการเผยแพร่สื่อรณรงค์ดังกล่าว พบว่า สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ในวงกว้าง โดยจากการสำรวจผู้สูบบุหรี่อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,725 คน (เป็นเพศชาย) มีผู้เคยได้ยินหรือเห็น สื่อรณรงค์ชุด “พ่อและแม่จะเสียใจ ถ้าลูกสูบบุหรี่” ถึงร้อยละ 61.3 และในจำนวนนี้ เกือบทั้งหมด (ร้อยละ 88) เห็นว่าเนื้อหาการรณรงค์มีความเกี่ยวข้องกับตนเอง

ในกลุ่มผู้ที่เคยได้ยินหรือเห็นสื่อนี้ สามในสี่เคยนำเรื่องราวในการรณรงค์ไปพูดคุยในกลุ่มเพื่อน และสี่ในห้าตอบว่า การรณรงค์ช่วยยับยั้งไม่ให้ผู้หญิงวัยรุ่นสูบบุหรี่ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ตอบว่าสื่อรณรงค์ชุด “พ่อและแม่จะเสียใจ ถ้าลูกสูบบุหรี่” ไม่ได้ผล มีประมาณหนึ่งในห้า

นอกจากนี้ ผู้ตอบร้อยละ 44.4 ที่เห็นว่าการสูบบุหรี่ของผู้ชายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ในขณะที่มีเพียง 1 ใน 10 คน ที่เห็นว่าการสูบบุหรี่ของผู้หญิงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ โดยผู้สูบบุหรี่ในกรุงเทพฯ เห็นว่าการสูบบุหรี่ของผู้หญิงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้สูงสุด รองลงมาคือ ผู้สูบบุหรี่ที่อาศัยในเขตเมือง และเขตชนบท ตามลำดับคือร้อยละ 16.2 ร้อยละ 11.9 และ 8.9 ตามลำดับ (อารี จำปากลาย และคณะ 2556)

 การใช้สื่อรณรงค์เพื่อต่อต้านการสูบบุหรี่ และการเผยแพร่สื่อรณรงค์ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทำให้ผู้ที่เข้าถึงสื่อสามารถรับรู้และตระหนักถึงประเด็นที่ต้องการสื่อสาร และนำไปเผยแพร่ต่อไปสู่บุคคลที่อยู่รอบข้าง นับเป็นช่องทางหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการลดการสูบบุหรี่ของคนไทย นอกจากนี้ หากสื่อที่เผยแพร่สามารถเพิ่มทัศนคติเชิงลบต่อบุหรี่ได้ ก็จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ช่วยลดการสูบบุหรี่ในคนไทยอย่างยั่งยืน

 


สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2554). อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป พ.ศ. 2534-2554 จำแนกตามช่วงอายุ. โครงการ
            สำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. 2534, 2539, 2544 และ 2552
            และโครงการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มสุรา พ.ศ.
            2547, 2550 และ 2554. กรุงเทพ: กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ
            และการสื่อสาร. 

อารี จำปากลาย บุปผา ศิริรัศมี จรัมพร โห้ลำยอง ทวิมา ศิริรัศมี ธีรนุช
            ก้อนแก้ว ปริยา เกนโรจน์. (2556). รายงานการสำรวจระดับ
            ประเทศ เรื่องผลกระทบจากนโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบใน
            ประเทศไทย กลุ่มผู้ใหญ่รอบที่ 5 (พ.ศ. 2556) (รายงานการวิจัย).
            นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม  มหาวิทยาลัยมหิดล.

 

Since 25 December 2012