ประเด็นประชากรที่น่าสนใจ

เมื่อการเลี้ยงดูพ่อแม่ เป็นกฎหมาย

มนสิการ กาญจนะจิตรา This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

เชื่อว่าสงกรานต์ที่ผ่านมา หลายคนคงได้พักผ่อนกันอย่างเต็มที่ ด้วยเป็นวันหยุดยาวประจำปีของไทยเรา นอกเหนือจากการเล่นน้ำดับร้อนกันตามประเพณีแล้ว การที่มีวันหยุดยาวอย่างนี้ เป็นโอกาสดีสำหรับหลายๆ คนที่จะได้กลับบ้าน ไปเยี่ยมพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ เพราะนอกจากสงกรานต์จะเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ยังเป็นวันครอบครัวและวันผู้สูงอายุอีกด้วย การกลับบ้านในช่วงสงกรานต์จึงเป็นสิ่งที่คนไทยยึดถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน

แต่การกลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่ในบางประเทศ เป็นมากกว่าเพียงประเพณี แต่เป็นกฎหมายที่ลูกทุกคนต้องปฏิบัติตาม ไม่เช่นนั้นอาจโดนฟ้องร้องหรือถูกจำคุกได้

จีนเป็นประเทศที่มีค่านิยมเรื่องการเคารพผู้สูงอายุและความกตัญญูฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรม แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้มีการย้ายถิ่นไปทำงานในเมืองใหญ่ ห่างไกลจากบ้านพ่อแม่มากขึ้น การดูแลเยี่ยมเยียนพ่อแม่จึงเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้สูงอายุหลายคนถูกทอดทิ้ง ปีที่แล้วรัฐบาลจีนจึงได้ออกกฎหมาย ให้ลูกๆ ต้องดูแลพ่อแม่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยลูกๆ จำเป็นต้องไปเยี่ยมพ่อแม่ “บ่อยครั้ง” และต้องดูแลพ่อแม่ผู้สูงอายุทั้งทางด้านการเงิน และด้านจิตใจ ไม่เช่นนั้นพ่อแม่มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากลูกได้ นอกจากนี้ กฎหมายยังครอบคลุมถึงผู้ว่าจ้างให้อนุมัติลูกจ้างสามารถขอเวลาเดินทางกลับบ้านเพื่อเยี่ยมพ่อแม่ได้ด้วย กฎหมายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้สูงอายุ และเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมความกตัญญูในสังคมจีน ถึงแม้จะได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากถึงเรื่องความเหมาะสม ทั้งยังขาดความชัดเจน ว่าการไปเยี่ยม “บ่อยครั้ง” นั้น คือบ่อยเพียงใด

ภายหลังที่กฎหมายนี้ออกไม่ถึงสัปดาห์ สตรีวัย 77 ปี ได้ดำเนินการฟ้องลูกสาวของตนเองในทันที ในข้อหาที่ทอดทิ้งไม่ดูแล การฟ้องร้องครั้งนี้สตรีสูงวัยเป็นผู้ชนะคดีโดยศาลท้องถิ่นตัดสินให้ต่อจากนี้ลูกสาวต้องมาเยี่ยมสตรีผู้สูงวัยท่านนี้อย่างน้อยสองเดือนครั้ง พร้อมต้องให้การดูแลด้านการเงินของแม่ตนเองให้เป็นอย่างดี ไม่เช่นนั้นจะมีบทลงโทษ

ด้วยวิถีชีวิตคนที่มุ่งมั่นทำมาหากิน ปัญหาผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งจึงมีอยู่ทั่วโลก จีนไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีกฎหมายบังคับให้บุตรต้องดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า สิงคโปร์ อินเดีย ยูเครน และฝรั่งเศส ล้วนมีกฎหมายเกี่ยวกับการให้บุตรดูแลพ่อแม่เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น รัฐบาลฝรั่งเศสที่ได้ออกบทลงโทษบุตรที่ทอดทิ้งพ่อแม่ โดยกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2547 กำหนดให้บุตรต้องดูแลเคารพพ่อแม่ ให้เงินค่าใช้จ่าย และต้องดูแลหาที่พักอาศัยที่เหมาะสมให้แก่พ่อแม่ นอกจากนี้ ลูกๆ จำเป็นต้องคอยรับทราบความเป็นอยู่ของพ่อแม่ และต้องเข้าให้ความช่วยเหลือหากพ่อแม่ล้มป่วย

สำหรับฝรั่งเศส สาเหตุหลักที่รัฐบาลออกกฎหมายเช่นนี้มา เนื่องจากสถิติทีผ่านมาชี้ให้เห็นว่าผู้สูงอายุชาวฝรั่งเศสมีการฆ่าตัวตายสูงถึง 62 รายต่อสัปดาห์ เป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในบรรดาประเทศในทวีปยุโรป รัฐบาลจึงต้องการให้ครอบครัวมีการดูแลเอาใจใส่กันมากขึ้น เพื่อเป็นการลดอาการซึมเศร้าที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

ในประเทศไทย แนวโน้มผู้สูงอายุอยู่กันตามลำพังมีมากขึ้นเนื่องจากการย้ายถิ่นไปทำงานของคนวัยแรงงาน แม้ประเทศไทยไม่ได้มีกฎหมายโดยตรงที่จะลงโทษบุตรหลานหากเกิดการละเลยไม่เอาใจใส่ดูแลพ่อแม่ผู้สูงอายุ แต่เมืองไทยมีการสนับสนุนเสริมแรงทางบวกในการดูแลพ่อแม่ เช่น การมีสิทธิได้รับค่าลดหย่อนบิดามารดา สำหรับผู้ที่อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยคู่สมรสมีสิทธิหักลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาได้คนละ 30,000 บาท ทั้งนี้ บิดาหรือมารดาต้องออกหนังสือรับรองว่าบุตรคนใดคนหนึ่งเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูเพียงคนเดียว

ต่อไปในอนาคต เมื่อประเทศไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น รัฐอาจไม่สามารถให้การดูแลผู้สูงอายุได้อย่างทั่วถึง ดังนั้น ลูกหลาน จึงเป็นที่พึ่งสำคัญในการดูแลความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ รัฐควรทำหน้าที่เป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดการดูแลกันในครอบครัว แต่การออกกฎหมายลงโทษบุตรหลานอย่างในประเทศจีนอาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ไม่เช่นนั้นการไปเยี่ยมหรือดูแลพ่อแม่จะเป็นเพียงหน้าที่ที่ต้องทำ กฎหมายอาจช่วยได้แค่เพียงการประกันความเป็นอยู่ที่ดีทางกายของผู้สูงอายุในระดับหนึ่ง แต่กฎหมายไม่สามารถเสริมสร้างสายใยความรักความห่วงใยในครอบครัวที่จะนำไปสู่ความสุขกายสบายใจของผู้สูงอายุอย่างแท้จริง  

Since 25 December 2012