เวทีวิจัยประชากรและสังคม
องค์ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการของแม่และเด็ก
ภาณี วงษ์เอก This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ในมุมมองของนักสังคมศาสตร์ และนักมานุษยวิทยา การบริโภคอาหารและโภชนาการเป็นเรื่องของสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ (1) ที่มีการสั่งสมและถ่ายทอดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมจนเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า อาหารไทยมีจุดกำเนิดพร้อมกับการตั้งชนชาติไทย และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามยุคของประวัติศาสตร์ และมีการปรับเปลี่ยนไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ (2)
แบบแผนพฤติกรรมการบริโภคอาหารและโภชนาการ แบ่งเป็น 2 มิติ
- มิติทางด้านสังคมและวัฒนธรรม หลักฐานสำคัญได้มาจากศิลาจารึก และวรรณคดี บันทึกเอกสาร บันทึกของบาทหลวง และชาวต่างชาติ ตำรากับข้าวของไทยกล่าวถึงอาหารของคนทั่วไป ซึ่งไม่พบว่ามีการกล่าวถึงแบบแผนการบริโภคอาหารและโภชนาการแม่และเด็ก อาหารไทยในยุคสุโขทัยจนถึงรัตนโกสินทร์มีแต่เพียงอาหารคาว และอาหารหวานเท่านั้น ส่วนอาหารว่างได้เข้ามาในรัตนโกสินทร์โดยได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตกและตะวันออก และถึงแม้ปัจจุบันวัฒนธรรมการบริโภคจากต่างประเทศจะเป็นที่นิยมและมีตำราอาหารอย่างแพร่หลาย แต่แบบแผนพฤติกรรมการบริโภคอาหารและโภชนาการของคนทั่วไปยังคงความมีอัตลักษณ์ และสืบสานความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน
- มิติการพัฒนาทางด้านวิชาการสู่ความทันสมัย แบ่งเป็น 4 ยุค 1) ยุคบุกเบิกสู่มิติแห่งความทันสมัย โดยอ้างอิงหลักฐานจากผลการสำรวจของ Zimmermann (3) ซึ่งนำมาขยายและต่อยอดผลงานโดยนักวิชาการไทย(4) มีผลสรุปที่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้านอาหารและโภชนาการของกลุ่มเด็กและหญิงหลังคลอด และบุคคลทั่วไป ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำมาวางแผนดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านโภชศึกษาอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งเผยแพร่ความรู้ตามหลักวิทยาศาสตร์ให้แก่กลุ่มประชาชนทั่วไป ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ช่วยตอกย้ำความสำคัญของพฤติกรรมการบริโภคอาหารและโภชนาการของแม่และเด็กโดยตรง 2) ยุคแห่งการจัดระบบ และโครงสร้างรองรับงานด้านอาหารและโภชนาการ จากองค์การระหว่างประเทศ นำมาสู่การขยายขอบเขต และเนื้อหาสาระที่สำคัญด้านอาหารและโภชนาการมากยิ่งขึ้น 3) ยุคทองของงานด้านอาหารและโภชนาการของแม่และเด็ก ปัญหาการขาดสารอาหารในกลุ่มแม่และเด็กเป็นปัญหาที่เร่งด่วนที่นำมาขับเคลื่อนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 โดยการบูรณาการ 4 กระทรวงหลัก และผนวกวาระสำคัญทางด้านสุขภาพขององค์การระหว่างประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดการสร้างเสริมพลังซึ่งกันและกัน 4) ยุคแห่งการเข้าร่วมวาระโลกอย่างสมบูรณ์ โดยประเทศไทยให้คำรับรองปฏิญญาแห่งสหัสวรรษ ในการประเมินผลการพัฒนาความก้าวหน้า ความสำเร็จ และความท้าทายในการบรรลุเป้าหมาย ซึ่งทำให้งานทางด้านอาหารและโภชนาการแม่และเด็กได้ถูกนำเข้าสู่วาระโลกอย่างสมบูรณ์
จากการประเมินการบริโภคแบบแผนพฤติกรรมการบริโภคอาหารกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร โดยการประเมินสัดส่วนการได้รับพลังงานจากโปรตีน ไขมัน และ คาร์โบไฮเดรท (แป้ง ข้าว) ของประชากร ในการสำรวจการบริโภคก่อน พ.ศ. 2529 พบว่า หญิงมีครรภ์และให้นมบุตรในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทได้รับพลังงานและโปรตีนต่ำกว่าเกณฑ์การสำรวจต่อมา พ.ศ. 2538 และ 2546 พบว่า การบริโภคในภาคกลาง และภาคใต้ ดีขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันโรคอ้วนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในหญิงวัยผู้ใหญ่ จึงควรมีการกำกับไม่ให้สัดส่วนพลังงานจากไขมันสูงไปกว่านี้ ในช่วงระยะเวลา 20-25 ปีที่ผ่านมา แบบแผนการรับประทานอาหารของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปมากตามการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหาร ระบบการตลาด การกระจายสินค้า และการเข้าถึงอาหารของชุมชนชนบท รวมทั้งการเปิดกว้างทางธุรกิจอาหารจากทางตะวันตก อาจทำให้การบริโภคอาหารของหญิงมีครรภ์และให้นมบุตรดูจะเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกับ
กลุ่มวัยอื่นด้วย (5, 6)
วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวกับบริโภคนิสัยในแต่ละสังคมอาจแยกตามประโยชน์และโทษ ประเพณีที่ส่งเสริมสุขภาพ ผู้ที่ปฏิบัติตามอาจได้รับผลดีต่อสุขภาพไม่จำเป็นต้องยกเลิก แม้ว่าแตกต่างจากแนวคิดสมัยใหม่ อาจยอมรับได้ (7) แต่ประเพณีที่ให้โทษ เช่น การงดรับประทานอาหารหลังคลอด หากปฏิบัติจริงอาจทำให้หญิงให้นมลูกขาดสารอาหารหรือร่างกายไม่สมบูรณ์มีน้ำนมเพียงพอที่จะเลี้ยงลูกได้ ควรต้องได้รับการแก้ไข ผลการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจในระดับชาติ สามารถนำเสนอข้อมูลภาพรวมของแบบแผนพฤติกรรมการบริโภคอาหารและโภชนาการของแม่และเด็ก แต่ไม่สามารถสะท้อนข้อมูลเชิงพฤติกรรมในระดับลึกได้ ดังนั้นควรมีการวิจัยเชิงบูรณการความรู้ด้านสังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา เศรษฐศาสตร์ และวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการเข้าด้วยกันเพื่อให้ผลการวิจัยมีองค์ประกอบที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
1. เปลี่ยน ภาสกรวงศ์. ( 2470). แม่ครัวหัวป่าก์. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ห้างสมุด สำเพ็ง.
2. Counihan. C and Esterik P.V. (1997). Food and Culture: A Reader. New York and London.: Routledge.
3. Zimmermann, C. C. (1931). Siam Rural Economic Survey 1930-31. Bangkok: The Bangkok Times Press, Ltd.
4. ยงค์ ชุติมา 2482 อ้างในวีณะ วีระไวทยะ และ สง่า ดามาพงษ์. (2545 ). วิวัฒนาการงานโภชนาการ. กรุงเทพมหานคร: กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.
5. กรมอนามัย. (2538). รายงานการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการของประเทศไทย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2538: กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.
6. กรมอนามัย. ( 2546). รายงานการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการของประเทศไทย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2546: กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.
7. เบญจา ยอดดำเนิน. (2529). บริโภคนิสัยและขนบธรรมเนียมประเพณีในการบริโภคอาหาร. ใน กฤตยา อาชวนิจกุล, จรรยา เศรษฐบุตร, และเบญจา ยอดดำเนิน(บรรณาธิการ), ทฤษฎีและการศึกษาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาการแพทย์.กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.