ประเด็นประชากรที่น่าสนใจ

มีหนทางใดหรือไม่ ให้คนมีลูกมากขึ้น?

มนสิการ กาญจนะจิตรา This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

    ความกังวลของหลายประเทศที่กำลังก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุคือการประสบกับปัญหาขนาดของกำลังแรงงานที่จะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และปัญหาในการดูแลให้สวัสดิการแก่ผู้สูงอายุที่นับวันจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

    ตัวการหลักที่นำไปสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุนั้นคือการที่ประชากรที่มีลูกกันน้อยลง (อัตราเจริญพันธุ์รวมลดลง) ประกอบกับประชากรโดยเฉลี่ยมีอายุที่ยืนยาวขึ้น ดังนั้น เพื่อบรรเทาปัญหาที่จะตามมากับการเป็นสังคมผู้สูงอายุ หลายๆ ประเทศจึงพยายามผลักดันนโยบายเพื่อส่งเสริมให้ประชากรมีลูกเพิ่มขึ้น ด้วยหวังว่าจะสามารถเพิ่มกำลังแรงงานเพื่อมาเป็นที่พึ่งในการพัฒนาประเทศในอนาคตได้ แต่โดยมากแล้วนโยบายเหล่านี้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ อัตราเจริญพันธุ์มักไม่ได้เพิ่มขึ้น หนำซ้ำยังคงเดินหน้าลดลงต่อไป เช่นประเทศสิงคโปร์ที่รัฐบาลได้พยายามหลากหลายวิธีเพื่อส่งเสริมให้ประชากรมีลูกกันมากขึ้น ดังที่ได้พูดคุยกันไปเมื่อฉบับที่แล้ว

    แนวโน้มอัตราเจริญพันธุ์รวมของประเทศพัฒนาแล้วมีรูปแบบที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน คือเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุคเบบี้บูมเป็นต้นมา อย่างเช่นประเทศในสหภาพยุโรปที่อัตราเจริญพันธุ์รวมเฉลี่ยในปี 2513 อยู่ที่ประมาณ 2.4 และลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงประมาณ 1.6 ในปัจจุบัน

    แต่มีอยู่กลุ่มประเทศหนึ่งในยุโรปที่แนวโน้มอัตราเจริญพันธุ์สวนทางกับประเทศอื่น คือตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2526 เป็นต้นมา อัตราเจริญพันธุ์ของประเทศเหล่านี้กลับเริ่มเพิ่มขึ้น สวนทางกับแนวโน้มประเทศส่วนใหญ่ในยุโรป

    ประเทศเหล่านี้คือกลุ่มประเทศนอร์ดิก ได้แก่ ประเทศนอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์ก เป็นต้น

    ในช่วงปี 2513 ประเทศนอร์เวย์มีอัตราเจริญพันธุ์รวมที่ 2.5 ซึ่งถือว่าสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรปเล็กน้อยในยุคนั้น ในช่วงระยะอีก 10 ปีต่อมา อัตราเจริญพันธุ์ของนอร์เวย์เริ่มลดลงเฉกเช่นประเทศในยุโรปอื่นๆ โดยในปี 2526 อัตราเจริญพันธุ์รวมของนอร์เวย์อยู่ที่ประมาณ 1.6 ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป

    อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงปี 2526 เป็นต้นมา อัตราเจริญพันธุ์รวมของนอร์เวย์เริ่มไต่สูงขึ้น ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในยุโรปยังคงลดลงต่อไป ในปัจจุบันอัตราเจริญพันธุ์รวมของนอร์เวย์เพิ่มขึ้นจากเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้วมาอยู่ที่ประมาณ 1.9 เช่นเดียวกับสวีเดนที่อัตราเจริญพันธุ์เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1.6 ในปี 2526 มาเป็นประมาณ 1.9 เช่นเดียวกันในปัจจุบัน

    จึงกลายเป็นที่จับตามองว่าประเทศเหล่านี้ใช้มาตรการและนโยบายที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ อย่างไรจึงสามารถเพิ่มอัตราเจริญพันธุ์รวมได้ เราจะสามารถนำประสบการณ์จากประเทศเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในประเทศที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนกำลังแรงงานได้หรือไม่

    กลุ่มประเทศนอร์ดิกเป็นประเทศรัฐสวัสดิการที่มีนโยบายเพื่อสังคมเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่านโยบายทั้งหลายที่ส่งผลให้ประชากรมีลูกเพิ่มขึ้นนั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์ตั้งต้นเพื่อเพิ่มอัตราเจริญพันธุ์โดยตรง แต่เป็นนโยบายเพื่อเน้นการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ และเพื่อยกระดับความกินดีอยู่ดีของเด็กและครอบครัวเป็นหลัก นโยบายเหล่านี้ได้แก่นโยบายลาคลอดบุตร และนโยบายการให้บริการศูนย์ดูแลเด็กอย่างกว้างขวางโดยรัฐช่วยเหลือค่าใช้จ่าย

    ยกตัวอย่างเช่นนโยบายการลาคลอดในประเทศสวีเดน ที่มีความแตกต่างจากประเทศอื่นทั้งระยะเวลาที่อนุญาตให้ลาที่ยาวนาน และการให้สิทธิ์การลานั้นแก่ทั้งพ่อและแม่อย่างเท่าเทียม ในสวีเดนนั้น ทั้งพ่อและแม่สามารถลาคลอดและลาเพื่อดูแลบุตรรวมกันได้ถึง 480 วัน หรือประมาณ 1 ปี 4 เดือน โดยสามารถเก็บใช้วันลาได้จนกระทั่งลูกอายุ 8 ปี ทั้งนี้พ่อและแม่สามารถแบ่งปันวันลาเหล่านี้เพื่อเลี้ยงบุตรกันอย่างไรก็ได้ แต่ได้บังคับกันส่วนของพ่อเอาไว้อย่างน้อย 60 วัน นอกจากนั้น ในช่วงระยะเวลาที่ลาทั้งพ่อและแม่ยังคงมีสิทธิได้รับเงินเดือนร้อยละ 80 ของเงินเดือนตามปกติในขณะที่ลาอีกด้วย

    ในขณะที่ประเทศนอร์เวย์ ทั้งพ่อและแม่สามารถร่วมกันลาคลอดและลาเพื่อดูแลบุตรรวมกันได้ถึง 46 สัปดาห์ โดยยังได้รับเงินเดือนเต็ม หรือ 56 สัปดาห์ โดยได้รับเงินเดือนร้อยละ 80 ของเงินเดือนตามปกติ เช่นเดียวกันกับสวีเดน คือพ่อและแม่จะแบ่งวันลากันอย่างไรก็ได้ แต่ส่วนของพ่อนั้นถูกกันเอาไว้ 10 สัปดาห์

    อย่างที่กล่าวข้างต้นว่านโยบายนี้ไม่ได้มุ่งเน้นเพื่อสนับสนุนการมีบุตรของประชาชนเป็นหลัก แต่เป็นการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ คือเป็นการส่งเสริมให้ภาระการเลี้ยงลูกนั้นเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งพ่อและแม่ ไม่ใช่ตกอยู่ที่แม่เพียงคนเดียว และที่สำคัญคือเป็นการลดความเสียเปรียบในการถูกจ้างงานของผู้หญิง เนื่องจากโดยทั่วไปฝ่ายหญิงมีความเสียเปรียบเพราะต้องลาคลอด นายจ้างโดยทั่วไปจึงอยากที่จะเลือกจ้างผู้ชายมากกว่า แต่ด้วยนโยบายนี้แล้ว ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงมีโอกาสในการลาคลอดเพื่อเลี้ยงดูบุตรเท่าเทียมกันมากขึ้น ความเสียเปรียบของเพศหญิงในการถูกจ้างงานจึงอาจมีน้อยลง

    ด้วยนโยบายการลาคลอดของทั้งสวีเดนและนอร์เวย์ที่พ่อแม่ยังคงได้รับเงินเดือน (ส่วนใหญ่) ในขณะลาอยู่ คนที่รายได้สูงจึงไม่รู้สึกว่าตนเสียรายได้มากนักหากจะมีบุตร ความแตกต่างระหว่างระดับการศึกษาในการมีลูกจึงค่อนข้างน้อยในประเทศทั้งสองนี้ ซึ่งแตกต่างจากโดยทั่วไปที่โดยเฉลี่ยกลุ่มคนที่มีการศึกษาน้อยมักมีบุตรมากกว่ากลุ่มคนที่การศึกษาสูงอยู่มาก

    นโยบายอื่นๆ ของนอร์เวย์และสวีเดนเช่นการมีบริการศูนย์ดูแลเด็กที่ทั่วถึงเป็นอีกนโยบายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นดีอยู่ดีของเด็กและครอบครัว แต่มีผลพลอยได้คือประชาชนมีลูกกันมากขึ้นเนื่องจากพ่อและแม่ยังคงสามารถทำงานได้โดยมีสถานที่รับดูแลลูกที่มีคุณภาพและได้รับการรับรองจากรัฐบาล

          การเพิ่มการเกิดของประชากรเป็นเพียงหนึ่งในหลากหลายมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่มาพร้อมกับการเป็นสังคมสูงอายุ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องพิจารณาทางเลือกให้ครบด้านและอาจจำเป็นต้องใช้หลายนโยบายประกอบกัน นอกจากนี้แต่ละประเทศล้วนมีความแตกต่างเฉพาะด้าน ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงความแตกต่างเหล่านี้ด้วยในการวางแผนทิศทางอนาคตของชาติ

Since 25 December 2012