นานาสาระจากห้องสมุด
ชีวิตในวัยสูงอายุ...ดีจริงหรือ...แล้วเราจะปรับตัวอย่างไร? (ตอนที่ 2)
เพ็ญพิมล คงมนต์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
จดหมายข่าวปีที่ 33 ฉบับที่ 2 ผู้เขียนได้นำข้อดีของการก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุหลังเกษียณมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้กำลังใจ
ผู้สูงอายุในการดำเนินชีวิต วัยสูงอายุเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาดีๆ ที่จะได้มีเวลานั่งพิจารณาสิ่งที่ทำลงไปตลอดทั้งชีวิต ว่ามีดีมากพอที่จะทำให้คุณจากโลกนี้ไปอย่างหมดห่วงหรือไม่ แต่ความสุขในวัยสูงอายุอาจหายวับไปกับตา หากยังพกพา “พฤติกรรมทำลายความสุข” ที่จะนำเสนอต่อไปนี้
- จู้จี้ขี้บ่น ปกติคนเป็นพ่อแม่ มักเห็นลูกเป็นเด็กอยู่เสมอ แต่บางครั้งอาจต้องทำใจมองลูกอย่างคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว
ลดการจู้จี้ขี้บ่น และการเข้าไปชี้นำชีวิตลูกให้มาก ควรเปลี่ยนเป็นการเข้าใจและให้กำลังใจแทน เพราะการบ่นทำให้ไม่มีความสุข ลูกก็ไม่มีความสุข ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็แย่ลง ควรใช้เวลาที่เหลือนี้รักกันให้มากขึ้น - เข้าไปยุ่งกับครอบครัวของลูก แม้จะเป็นความหวังดีของพ่อแม่ แต่บางครั้งต้องพิจารณาก่อนว่า ลูกและครอบครัวของเขาพร้อมจะยอมรับไหม เพราะเราเคยได้ยินกรณีพิพาทกันอยู่บ่อยๆ ที่พ่อแม่เข้าไปยุ่มย่ามในชีวิตครอบครัวของลูกจนเกิดการทะเลาะกันใหญ่โต ซึ่งอาจเป็นเพียงการสื่อสารที่ผิดพลาด หรือไม่เข้าใจจุดประสงค์ของกันและกัน
- ใจร้อน ชีวิตในวัยสูงอายุไม่จำเป็นต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วเหมือนสมัยวัยทำงาน ผู้สูงอายุที่เคยเป็นผู้บริหารอาจเคยต้องตัดสินใจเด็ดขาด ปุบปับ แต่ชีวิตในวันนี้ ผู้สูงอายุควรปลดตัวเองจากภาระการงานต่างๆ ได้แล้ว หากติดนิสัยใจร้อนมาด้วย ก็อาจนำมาใช้กับคนใกล้ตัวแทน จะเป็นการดีหากใช้เวลาที่เหลืออยู่ค่อยๆ ปรับตัวให้ใจเย็นลง ลดความตึงเครียด เปลี่ยนมาฝึกให้เป็นคนยิ้มง่าย และหัวเราะให้มากขึ้น
- เห็นแก่ตัว ในวันที่มีกำลังวังชา คุณอาจไม่รู้สึกอยากช่วยใคร และคิดว่าเวลาที่ตนเองลำบากก็ไม่เห็นมีใครช่วยคุณ แต่ในวันที่คุณอยู่ในวัยสูงอายุ หากยังพกนิสัยนี้ไปด้วย จะทำให้ชีวิตในวัยสูงอายุลำบาก และขาดที่พึ่งพอสมควร เพราะว่าคุณไม่ได้มีพละกำลังทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเองไปตลอด
- ปากร้าย ชอบพูดจาไม่ดี ถึงแม้จะเป็นลูกหลาน คนใกล้ชิด แต่ถ้าให้เลือกก็ไม่มีใครอยากอยู่ใกล้คนที่จิตใจไม่ดี พูดจาไม่ดี เพราะทำให้พวกเขาจิตใจหม่นหมองไปด้วย ที่ต้องมานั่งฟังคุณพร่ำบ่นถึงความเลวร้ายของสิ่งต่างๆ รอบตัว ดังนั้น
คนที่เริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ ควรพยายามปรับทัศนคติของตนเอง ลดการมองโลกในแง่ร้ายลงบ้าง และหันมามองโลกในแง่ดีจะทำให้เรามีความสุขและคนรอบข้างก็มีความสุขไปด้วย - หมกมุ่นอยู่กับอบายมุข การหมกมุ่นในเรื่องการพนัน หรือความงมงายในไสยศาสตร์ ไม่ทำให้ชีวิตในวัยสูงอายุมีความสุข หรือสมบูรณ์ขึ้นได้ มีแต่ความพึงพอใจชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น หากลด ละ เลิกได้ น่าจะทำให้ชีวิตในวัยสูงอายุมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
ที่มา : Kittipanan. 2555. ชวนรู้จักข้อดีของความชรา. [http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/31397] สืบค้นเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2556