โครงการพักชำระหนี้กับแนวทางการสร้างเกษตรกรให้เป็นผู้มั่งคั่ง

โยธิน แสวงดี This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

    นโยบายหนึ่งของรัฐบาลปัจจุบันคือ การพักชำระหนี้เกษตรกรเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน เน้นให้เกษตรกรมีเวลาตัดสินใจในการลงทุน นโยบายนี้เริ่มสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ช่วง พ.ศ. 2544-2547 ต่อมารัฐบาลของ
นายสมัคร สุนทรเวช พ.ศ. 2551-2553 มีนโยบายนี้เช่นกัน แต่มีผู้เข้าร่วมโครงการไม่มาก เพราะไม่มั่นใจความมั่นคงทางการเมืองของรัฐบาล ปัจจุบันเป็นโครงการพักชำระหนี้ฯ พ.ศ. 2554-2557

    สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ประเมินผลโครงการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อย พ.ศ. 2554-2557 ที่ ธ.ก.ส. มีเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยแสดงความจำนง 563,417 ราย มีผู้เข้าร่วมฯ 423,551 ราย คิดเป็นร้อยละ 75.17 เป็นกลุ่มผู้ไม่เข้าร่วมฯ 139,866 ราย หรือ ร้อยละ 24.83 สถาบันฯ ใช้การวิจัยแบบผสม ที่รวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถาม และศึกษาในเชิงคุณภาพเจาะลึกองค์ความรู้ทุกมิติของการเข้าร่วมฯ และไม่เข้าร่วมฯ ความพึงพอใจ การอบรมฟื้นฟูอาชีพ ผลเกิดขึ้นกับผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งรวบรวมข้อมูลแบบขนานไปกับการสำรวจ ผู้ให้ข้อมูลเชิงลึกคือ เกษตรกรผู้เข้าร่วมฯ เกษตรกรผู้ไม่เข้าร่วมฯ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน ประธานกลุ่มแม่บ้านและผลิตภัณฑ์ชุมชน ประธานกองทุนหมู่บ้าน ประธานกองทุนเงินสัจจะออมทรัพย์ เจ้าของร้านค้า นายทุนเงินกู้นอกระบบ

    จากการเก็บข้อมูลในจังหวัดที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการมากที่สุดของ ธ.ก.ส. คือ เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา สระบุรี กาญจนบุรี ชุมพร และตรัง ระหว่างวันที่ 3 มกราคม ถึง วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 ผลเบื้องต้นที่พบระหว่างการรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ เป็นข้อสังเกตจากภาคสนามของนักวิจัยเชิงคุณภาพ รวบรวม ณ จังหวัดเชียงใหม่ เพชรบูรณ์ และบุรีรัมย์ พบว่า เกษตรกรผู้เข้าร่วมฯ และไม่เข้าร่วมฯ ได้รับทราบข้อมูลโครงการฯ อย่างดี ทั้งหลักเกณฑ์ ขั้นตอน เงื่อนไข และคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ จากเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. และจากประธานกลุ่มสมาชิก ธ.ก.ส. ในหมู่บ้าน เข้าใจในข้อดี ข้อได้เปรียบ แนวทางปฎิบัติ การอบรมฟื้นฟูอาชีพ ระยะเวลา ฯลฯ

    ผู้เข้าร่วมโครงการพิจารณาว่าเป็นผลดีต่อครอบครัวที่จะนำเงินออมเตรียมไว้เพื่อคืนหนี้ ธ.ก.ส. ไปลงทุนประกอบอาชีพ
ซื้อเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตร เครื่องสูบน้ำ รถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก รถอีแต๋น ท่อสูบน้ำ ฯลฯ ให้เหตุผลว่าต้องการมีเป็นของตนเอง ไม่ต้องจ้าง หรือ รอเช่า เป็นการลงทุนระยะยาว เนื่องจากการหว่าน ดำ ปลูก เก็บเกี่ยว และตลาดรับซื้อเกิดขึ้นตามฤดูกาล ทุกครอบครัวลงมือพร้อมกัน หากต้องคอยเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ จากคนอื่น “เหมือนอาศัยจมูกคนอื่นหายใจ”  ทำให้กังวลและกดดันในการตัดสินใจ มีประสบการณ์ เตรียมดินช้า เพาะปลูกช้า ทำให้เก็บเกี่ยวช้า
ส่งผลต่อราคาที่ควรขายได้ อย่างไรก็ตาม ไม่มีเกษตรกรหรือประชาชนผู้มีรายได้น้อยผู้ที่ได้รับพักชำระหนี้นำเงินที่เตรียมไว้เพื่อคืนหนี้ซื้อที่ดินเพิ่มเพราะราคาที่ดินแพง

    ยังมีการลงทุนอื่นๆ ที่เป็นการสร้างเสริมคุณภาพชีวิต ผู้เข้าร่วมฯ หลายรายกล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่ได้ต่อเติมบ้าน ปรับปรุงให้ดูมั่นคงและแข็งแรง ที่น่าสนใจคือ ลงทุนกับการศึกษาของบุตร เช่น การให้เงินเป็นค่าอาหารกลางวันในวัยประถมและมัธยมเพิ่มขึ้น ส่วนวัยประโยควิชาชีพและอุดมศึกษา ค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าเครื่องแบบการแต่งกาย ค่าลงทะเบียน อุปกรณ์การศึกษา ค่าหอพัก ฯลฯ สามารถตัดสินใจมิต้องกังวลว่าต้องเตรียมไว้เพื่อคืนหนี้ ข้อสังเกตคือ การพักชำระหนี้ ช่วยให้ผู้เข้าร่วมฯ ตัดสินใจในการบริหารรายได้อย่างมั่นใจ

    ประเด็นที่มีการหยิบยกกันขึ้นมาพูดในวงสนทนาบ่อยครั้งคือ การซื้อรถมอเตอร์ไซค์ พบมากทุกที่ ระบุว่าเป็นการลงทุนในอาชีพ ช่วยให้ส่งสินค้าตรงเวลา ขับไปซื้อสินค้า ซื้ออุปกรณ์ อะไหล่ ฯลฯ ที่จำเป็นได้ทันใจ ติดต่องานสะดวก คนในครอบครัวใช้ได้ทุกคน ครอบครัวที่ซื้อให้บุตรเป็นพาหนะไปศึกษาในเมือง ช่วยประกันเวลาทั้งไปและกลับ สามารถมาทำงานบ้านและช่วยงานเกษตร เพราะกำลังแรงงานในบ้านมีน้อย ที่สำคัญไม่ต้องจ่ายค่าหอพักและรถยังใช้ได้อีกเมื่อถึงบ้าน

    โครงการนี้ ยังมีประโยชน์ด้านภาวะสุขภาพจิต สำหรับผู้เข้าร่วมฯ เพราะมิต้องกังวลเรื่องหนี้มาก เพิ่มความมั่นใจและกล้าตัดสินใจในการลงทุน ทุ่มเทเวลากับการพัฒนากิจกรรม ในอาชีพเพื่อให้ฐานะการเงินครอบครัวดีขึ้น มีเครือข่ายการพบปะเกษตรกรด้วยกันมากขึ้น เพราะไม่ต้องเก็บตัวเนื่องจากทุ่มเทไปกับการทำงานหาเงินคืนหนี้ หรือ คิดว่าจะกู้เงินจากนายทุนใดมาส่งหนี้ตามงวด อีกประเด็นที่เป็นคำตอบเชิงบวกจากกลุ่มผู้ให้ข้อมูลคือ การพักชำระหนี้ คล้ายมีผลต่อเศรษฐกิจของชุมชน เช่น ปริมาณการซื้อและขายน้ำมันเบ็นซินที่ใส่ขวดมีจำนวนขายต่อวันเพิ่มขึ้น แต่มีข้อโต้แย้งว่าจำนวนรถมอเตอร์ไซค์ใหม่เพิ่มขึ้นด้วย เป็นปรากฏการณ์ชัดเจน และเพิ่มขึ้นหลังจากการพักชำระหนี้

    นอกจากนี้ ผู้ให้ข้อมูลที่เป็นเจ้าของร้านชำบอกว่า ยอดขายของเนื้อวัว เนื้อหมู ปลาทู ไข่ไก่ ไข่เป็ด มาม่า เครื่องดื่ม
ชูกำลัง ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ มีเพิ่มขึ้นไม่มาก ปริมาณบริโภคเหมือนเดิม สินค้าที่ขายเพิ่มขึ้นและ
ลดลงแบบปกติ ที่น่าสนใจคือ ความคึกคักของตลาดนัด มีผู้ซื้อและผู้ขายหนาแน่นมาก กลุ่มผู้เข้าร่วมฯ กล่าวว่า “มั่นใจในการจ่ายเงิน แต่ก่อนต้องคิดหน้า คิดหลัง ต้องเก็บเผื่อการใช้หนี้ แต่เมื่อได้พักหนี้ จะซื้ออะไรก็สะดวก” เช่นกันกลุ่มผู้นำชุมชน คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มกองทุนสัจจะออมทรัพย์ ให้ทัศนะเดียวกันว่า มีการกู้เงินกองทุนหมู่บ้านฯ และกองทุนสัจจะออมทรัพย์มากขึ้น สะท้อนว่าการพักชำระหนี้เหมือนมีผลทางบวกต่อเงินหมุนเวียนในชุมชนด้วย

    ส่วนกลุ่มผู้มีสิทธิ์แต่ไม่เข้าร่วมฯ เหตุผล คือ ยอดหนี้คงเหลือไม่มาก เช่น ต่ำกว่าสามหมื่นบาท หากขายผลผลิตภายในปีเพาะปลูกจะสามารถคืนหนี้ได้หมด ไม่ต้องการมีหนี้ค้าง แต่ที่น่าสนใจสำหรับผู้มียอดหนี้ค่อนข้างสูงแต่ไม่ร่วมโครงการ เช่น มากกว่าห้าหมื่นบาท คือ “ไม่ชอบเพราะต้องเข้ารับการอบรมฟื้นฟูอาชีพ เบื่อการอบรม ขอสู้ด้วยการทำงานในอาชีพและสะสมเงินออมเพื่อใช้คืนหนี้”

    จากข้อมูลเบื้องต้นที่น่าสนใจคือ ทั้งผู้เข้าร่วมฯ และไม่เข้าร่วมฯ ต่างมีบัญชีออมทรัพย์ อย่างน้อยครอบครัวละ 3 ธนาคาร เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน และอีกหนึ่งแห่งคือ ธนาคารเอกชนที่มีในอำเภอ เหตุผลคือ ทุกครอบครัวต้องมีเงินออม เงินที่ออมจะเก็บไว้ใช้เมื่อจำเป็น เพราะไม่สามารถคาดคะเนอนาคตได้ มีการประกันชีวิต ผู้เข้าร่วมฯ บางรายกล่าวว่า “มีจำนวนเงินออมมากกว่าเงินที่เป็นหนี้ ที่เป็นหนี้เพราะลงทุน ไม่อยากเอาเงินออมมาใช้ เขามีให้กู้ ต้องใช้สิทธิ์ หากมีการปลดหนี้อาจโชคดี”

          ข้อสังเกตจากการทำงานภาคสนาม คือ เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยที่เข้าร่วมฯ และไม่เข้าร่วมฯ เป็นผู้ขยัน มีการปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิด หมุนเวียนเก็บเกี่ยวจำหน่ายได้เกือบทุกวัน เช่น ผักสวนครัวอายุสั้น ในที่ดินสำหรับปลูกพืชไร่จะใช้ที่ดิน
ผืนเดียวหมุนเวียนปลูกพืชอายุสั้น เช่น ในจังหวัดเพชรบูรณ์ จะปลูกข้าว ยาสูบ ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ข้าวโพด บางแห่ง
ปลูกมันแกว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย แต่บางแห่งลงทุนปลูกยางพาราที่แซมด้วยมันสำปะหลัง ผลไม้ที่เป็นไม้ยืนต้น เช่น ลำไย มะขามหวาน บางครอบครัว มีทั้งบ่อปลา ไร่นา-สวนผสม ลงทุนเลี้ยงสัตว์ เช่น โคไล่ทุ่ง หมู มีความเชื่อมั่นในการบริหารความเสี่ยงของตน กล้ากู้เงินลงทุนตลอดทั้งๆ ที่หากจะไถ่ถอนปลดหนี้ สามารถทำได้แม้จะต้องประหยัดการใช้จ่ายบ้าง ผู้ให้ข้อมูลเชิงคุณภาพ ชี้ให้เห็นแนวทางการสร้างเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยให้เป็นผู้มั่งคั่งว่า รัฐบาลต้องมีการพักชำระหนี้เป็นระยะๆ พร้อมกับต้องมีการประกันราคาพืชผลสม่ำเสมอ ดอกเบี้ยประกันภัยผลผลิตควรต่ำ และต้องมีโครงการรับจำนำข้าวที่เมื่อยื่นจำนำต้องได้เงินทันที ไม่มีปัญหาเหมือนเป็นข่าว พร้อมกับเล่าต่ออีกว่า การพักชำระหนี้มีทั้งผลระยะสั้นที่พอมีเงินได้ใช้จ่ายในครอบครัว ลดความเครียด แต่ผลระยะยาวคือ มีเครื่องจักรและอุปกรณ์ทางการเกษตรที่ชื้อไว้เพราะได้พักหนี้ ได้ใช้เป็นของตนเองตลอดไป มีเวลาพอที่จะเก็บออมสะสมเพื่อส่งหนี้เมื่อครบกำหนด ดังนั้น หากมีโครงการฯ อย่างต่อเนื่องรับรองเกษตรกรไทยและผู้มีรายได้น้อยเป็นผู้มั่งคั่งแน่นอน

Since 25 December 2012