ประชากรต่างแดน

ชาวโสมกับผู้นำสตรีคนแรก

อมรา สุนทรธาดา This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

    อุณหภูมิการเมืองในภูมิภาคเอเชียกำลังร้อนแรงไม่แพ้เหตุการณ์ “หน้าผาทางการคลัง” ในสหรัฐอเมริกา คือ
การเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงในประเทศมหาอำนาจ เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ประเทศเล็กๆ แต่มีการพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดดจนมีผลให้ติดอันดับมีอันจะกินลำดับที่ 14 ของโลก ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเร็วๆ นี้ นางสาวปาร์ค จึน ฮา ผู้สมัครชิงตำแหน่งได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรก สื่อทั้งในและนอกประเทศประโคมข่าวหลายแง่มุมว่าโฉมหน้าเกาหลีใต้จะไปในทิศทางใด ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองภายใต้ ปาร์ค จึน ฮา วัย 60 ผู้เป็นบุตรสาวคนแรกของอดีตประธานาธิบดีปาร์ค จุง ฮา ผู้นำที่ได้ฉายาว่าเป็นเผด็จการและถูกลอบสังหารขณะที่ยังครองอำนาจ ปาร์ค จึน ฮา มีชีวิตในวัยเยาว์ที่เผชิญหน้ากับความสูญเสียที่น้อยคนนักจะรับได้ จากการที่พ่อและแม่ถูกลอบสังหาร เธอต้องเดินทางกลับจากฝรั่งเศสและทิ้งการเรียนทั้งหมด

 

ปาร์ค จึน ฮา ประธานาธิบดีหญิงคนแรก

 

คู่แข่งช่วงลงเลือกตั้ง

    ปาร์ค จึน ฮา ในฐานะผู้นำประเทศที่มีประชากรราว 50 ล้านคน เป็นประเทศในกลุ่มที่มีอัตราเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดในโลก และมีการคาดประมาณว่า จำนวนประชากรจะคงที่ ในปี 2023 หรือจะมีประชากรราว 52.6 ล้านคน

    ปัญหาประชากรที่ท้าทายสำหรับผู้บริหารประเทศคนใหม่คือ คนเกิดน้อยและประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากสถิติแสดงจำนวนประชากร ระหว่าง ปี 2498 ถึง ปี 2552 ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.3 เป็นร้อยละ 10.7  ปัญหาที่ตามมาคือ การต้องออกจากงานก่อนวัยเกษียณ (อายุ 62 ปี) เนื่องจากการแข่งขันในตลาดแรงงานเข้มข้นมาก
ผู้ประกอบการจ้างให้ออก เหตุเพราะมีประชากรวัยแรงงานในช่วงวัยกลางคนจำนวนมาก ผู้ประกอบการจึงมุ่งการจ้างงานไปที่แรงงานอายุต่ำกว่า และแรงงานที่มีค่าแรงถูกกว่า เช่น แรงงานจากจีน และเวียตนาม การจ้างแรงงานอายุต่ำกว่า
ยังทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมมากเท่าที่ต้องจ่ายให้กับแรงงานสูงวัยกว่า ประชากรราว 7 ล้านคน ที่เกิดในยุค baby boom (2498-2506) ไม่มีเงินออมหลังเกษียณ และหาทางออกด้วยการทำธุรกิจเล็กๆ หรือหยิบยืมจากเพื่อน ภายในอีก 10 ปี ข้างหน้า ประชากรยุค baby boom ราว 3 ล้านคน จะเกษียณ ทำให้รัฐคิดหนักว่าจะดูแลประชากรกลุ่มนี้อย่างไร ในฐานะผู้สร้างชาติจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในอดีต ขณะนี้ รัฐจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ราว 7,800 บาทต่อเดือน (เปรียบเทียบกับผู้สูงอายุไทยรับเบี้ยผู้สูงอายุราว 500ะ1,000 บาทต่อเดือน) และที่เป็นปัญหาหนักหนาสาหัส คือ ร้อยละ 72 ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี เป็นผู้ไม่เข้าข่ายได้รับเงินยังชีพ เนื่องจากไม่อยู่ในระบบกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2541

    ยังมีความแตกต่างเชิงเศรษฐกิจที่คนเกาหลีฝากความหวังเพื่อที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงคือ จะทำอย่างไรให้ช่องว่างระหว่างผู้หญิงและผู้ชายลดลงในเชิงเศรษฐกิจ ปัจจุบันนี้ ผู้หญิงร้อยละ 39 มีรายได้ต่ำกว่าชาย ซึ่งเป็นตัวเลขแสดง
ช่องว่างสูงที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนา จากการจัดลำดับของ The Organisation for Economic Co-operation and Development มีผลการวิจารณ์จากนโยบายช่วงหาเสียงของปาร์ค จึน ฮา ว่าไม่กล้าแตะเรื่องนี้อย่างจริงจัง มีเพียงนโยบายรักษาพยาบาลที่จะเปิดให้บริการถึง 4 ทุ่ม สำหรับคนทำงาน
กะดึก จะสนับสนุนการศึกษาไม่เสียค่าใช้จ่ายจนถึงระดับอุดมศึกษาให้ครอบคลุมถึงลูกคนที่ 3 แต่นโยบายดังกล่าวไม่โดนใจประชาชนเพราะคนเกาหลีมีลูกน้อยอยู่แล้ว

          เป็นเรื่องน่าจับตามองว่า ประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจที่มีส่วนแบ่งในตลาดการผลิตระดับโลก จากการผลิตเทคโนโลยี เพื่อการสื่อสาร อุตสาหกรรมรถยนต์ ส่งขายทั่วโลก (ระบาดมาถึงประเทศไทยด้วย) กำลังสะดุดขาตนเองหรือไม่ในการดูแลทุกข์สุขของประชาชน

Since 25 December 2012