ประเด็นทางประชากรและสังคม
สถานะของประเทศไทยเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์
สุชาดา ทวีสิทธิ์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
แม้นว่าประเทศไทยได้บังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา กลับพบว่าสถานการณ์การค้าหญิงและเด็กหญิงเข้าสู่ธุรกิจการค้าประเวณี ไม่ว่าจะเป็นการบังคับ ล่อลวง หลอกลวง กักขัง เอารัด
เอาเปรียบ ยังเป็นสถานการณ์ที่รุนแรง รายงานระดับโลกว่าด้วยการค้ามนุษย์ในปีที่ผ่านมา (Trafficking in Persons ะTIP Report 2012) ยืนยันว่าประเทศไทยถูกประเมินโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้อยู่ในกลุ่มประเทศ Tier 2-Watch List คือ
เป็นประเทศที่ถูกจับตามองเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ รัฐบาลไทยถูกเตือนว่ายังไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลขั้นต่ำว่าด้วยการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ เพราะการจับกุมคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ยังเป็นปัญหาหนักหน่วงอยู่ ประเทศไทยจึงถูกจัดไว้ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองในเรื่องนี้เป็นพิเศษมาสามปีติดต่อกัน คือ ตั้งแต่ปี 2553, 2554 และ 2555 ถ้าเรายังไม่ขึงขังกับปัญหาการค้ามนุษย์ คาดว่าเราอาจจะถูกลดอันดับให้อยู่ในกลุ่มประเทศ Tier 3 นั่นหมายความว่า
เราอาจเป็นประเทศที่ถูกมาตรการกีดกันด้านการค้าจากประเทศสหรัฐอเมริกาได้
สถิติการจับกุมคดีที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในประเทศไทย ที่รายงานไว้ใน Trafficking in Persons Report 2012 มีดังนี้
ปี 2553 ตำรวจจับกุมสอบสวนไว้ 70 คดี มีการพิพากษาผู้กระทำความผิดจริงฐานการค้ามนุษย์จำนวน 79 ราย ส่วนปี 2554
มีจำนวนคดีค้ามนุษย์ที่ตำรวจจับกุมสอบสวนทั้งสิ้น 83 คดี ในจำนวนนี้ 67 คดี เป็นคดีค้าหญิงเพื่อธุรกิจทางเพศ ส่วน 16 คดี เป็นคดีค้ามนุษย์ด้านแรงงาน แต่มีผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการค้ามนุษย์ในชั้นศาลจำนวน 67 ราย
ผู้ที่กระทำความผิดส่วนใหญ่เป็นคนสัญชาติไทย ซึ่งตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าความเป็นจริงมาก
ปัจจุบันสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทยมีความรุนแรงและความซับซ้อนมากขึ้น เราเปลี่ยนจากประเทศ
ที่เคยส่งออกมนุษย์ โดยเฉพาะผู้หญิง เข้าสู่ธุรกิจการค้าประเวณี มาเป็นประเทศต้นทาง ประเทศปลายทาง และประเทศทางผ่าน ยังพบอีกว่า ความเข้าใจของรัฐบาล ของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมทุกระดับ ตลอดจนของสังคมไทยโดยรวมเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และในกฏหมายการค้ามนุษย์ยังอยู่ในระดับที่น่ากังวล ทำให้ความตระหนักในปัญหานี้ยังมีน้อย
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ที่ถูกตราขึ้นเพื่อแก้ไขจุดอ่อนของพระราชบัญญัติ
การป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ. 2540 ยังไม่ค่อยผลิดอกออกผลนัก ทั้งๆ ที่พระราชบัญญัตินี้ กำหนดลักษณะความผิดของการกระทำที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากบุคคลทุกเพศทุกวัย และครอบคลุมวิธีการค้ามนุษย์อัน
หลากหลายซับซ้อน ได้แก่ การนำบุคคลมาค้าประเวณี การบังคับถ่ายภาพโป๊ การบังคับใช้แรงงาน การบังคับให้ขอทาน การขายอวัยวะ หรือ การแสวงหาประโยช์โดยมิชอบแบบอื่นๆ ประเทศไทยจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น เพราะต้องทำตามอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ และการปฏิบัติตามพิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์ที่ประเทศไทยไปลงนามไว้ บวกกับการเคลื่อนไหวผลักดันของนักสิทธิสตรีของไทยเอง ที่เห็นว่า
กฏหมายอาญาเดิมที่เกี่ยวข้องมีช่องว่าง เพราะมุ่งไปที่การลงโทษผู้หญิงที่ถูกค้ามนุษย์ มากกว่าเน้นการป้องกันปัญหาและคุ้มครองสิทธิ์ผู้หญิงในฐานะผู้เสียหายจากขบวนการค้ามนุษย์ กฏหมายใหม่จึงให้ความสำคัญกับการป้องกันและคุ้มครองผู้หญิงและเด็กหญิงที่ได้รับความเสียหายจากการค้ามนุษย์ไว้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังเน้นความร่วมมือในการทำงานแบบทีมสหวิชาชีพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แต่ในทางปฏิบัติพบว่าเจ้าพนักงานในสายงานยุติธรรมยังไม่ละทิ้งวิธีการทำงานแบบเก่า เนื่องจากยังไม่เข้าใจหลักการของกฎหมายใหม่ อีกทั้งการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นแบบสหวิชาชีพยังเกิดน้อย นอกจากนี้ เจ้าพนักงานบางส่วนยังใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่มิชอบแสวงหาผลประโยชน์จากการค้าผู้หญิงและเด็กหญิง ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่อธิบายว่าทำไม ประเทศไทยจึงถูกจัดสถานะให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษในการทำงานด้านการป้องกันและปราบปราม
การค้ามนุษย์