ดัชนีการพัฒนามนุษย์ ปี 2556 กับความรุ่งโรจน์ของ (โลก) ทางใต้

เฉลิมพล แจ่มจันทร์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

    14 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ เมืองเม็กซิโกซิตี้ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติหรือ UNDP (United Nations Development Programme) ได้เปิดตัวรายงานการพัฒนามนุษย์ฉบับล่าสุด ปี 2556 ในชื่อเรื่อง Human Development Report 2013 เช่นเดียวกับรายงานฉบับปีก่อนๆ ที่มักนำเสนอภายใต้หัวเรื่องเฉพาะที่เป็นประเด็นสำคัญและมีนัยเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การพัฒนามนุษย์ของโลก รายงานฉบับนี้ มาพร้อมกับหัวเรื่อง The Rise of the South: Human Progress in a Diverse World ซึ่งมีความหมายประมาณว่า “ความรุ่งโรจน์ของทางใต้: ความก้าวหน้าของมนุษย์ในโลกที่หลากหลาย” โดยมีประเด็นที่มาจากกระแสการพัฒนาและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงอย่างต่อเนื่องของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเขตโลกทางใต้ โดยเฉพาะ 3 ประเทศใหญ่ จีน บราซิลและอินเดีย รวมถึงอีกหลายประเทศซึ่งมีโอกาสและศักยภาพที่สูงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อจากนี้ เช่น เม็กซิโก แอฟริกาใต้ และบางประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งถูกกล่าวถึง คือ ประเทศไทย และอินโดนีเซีย

    ความรุ่งโรจน์ (ทางเศรษฐกิจ) ของโลกทางใต้มาพร้อมๆ กับความซบเซาของโลกทางเหนือในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งครองความเป็นมหาอำนาจและผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกมาตลอดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งกำลังประสบวิกฤตปัญหาและความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ทั้งในภาคการเงิน ภาคประกอบการ และภาครัฐ มาอย่างต่อเนื่องตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา ข้อความ (message) สำคัญที่รายงานฉบับนี้พยายามจะสื่อก็คือ “การเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถถูกตีความได้ว่า การพัฒนามนุษย์ของประเทศจะก้าวหน้าตามไปด้วยโดยอัตโนมัติ” จากการจัดอันดับดัชนีการพัฒนามนุษย์ ปี 2556 นี้ จีน บราซิลและ อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวของ GDP
สูงที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในขณะนี้ ยังคงมีการพัฒนามนุษย์ที่อยู่ในระดับซึ่งต้องพัฒนาต่อไปอย่างมาก จาก 187 ประเทศทั่วโลก HDI ของจีนอยู่ในอันดับที่ 101 บราซิลดีกว่าเล็กน้อยในอันดับที่ 85 และอินเดีย ยังค่อนข้างน่าเป็นห่วงอยู่ในอันดับที่ 136

    ภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนามนุษย์ของ UNDP ดัชนี HDI เป็นดัชนีชี้วัดระดับการพัฒนามนุษย์ หรือ พูดง่ายๆ ว่า การพัฒนาคนในแต่ละประเทศซึ่งพิจารณาองค์ประกอบ ใน 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านศักยภาพ และด้านคุณภาพ (ชีวิต) โดยองค์ประกอบแรก ด้านสุขภาพ ชี้วัดจากความยืนยาวของการมีชีวิตอยู่ของคนในประเทศด้วยจำนวนปีของอายุคาดเฉลี่ย (life expectancy) สำหรับองค์ประกอบที่สอง การศึกษาถือเป็นปัจจัยที่สำคัญในกระบวนการการพัฒนาทุนมนุษย์ ดังนั้น ด้านศักยภาพ จึงชี้วัดจากจำนวนปีเฉลี่ยและจำนวนปีคาดหมายของการได้รับการศึกษาของคนในประเทศ องค์ประกอบที่สาม ด้านคุณภาพชีวิต มาตรฐานการครองชีพของคนในประเทศชี้วัดเฉพาะในมิติทางเศรษฐกิจโดยดูจากระดับรายได้ประชาชาติต่อหัว (GNI per capita)

    การเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวอย่างมากของ GDP ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในซีกโลกทางใต้ อาจทำให้รายได้ประชาชาติต่อหัวและภาพรวมมาตรฐานคุณภาพชีวิตของคนในประเทศดีขึ้น ซึ่งเป็นแรงผลักที่ดีต่อการเคลื่อนระดับการพัฒนามนุษย์ในประเทศเหล่านั้นให้สูงยิ่งขึ้น  อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่รายงานฉบับนี้ต้องการสื่อถึงประเทศเหล่านั้นก็คือ การให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ควบคู่ไปด้วยกัน โดยเฉพาะในเรื่องการบริการทางสุขภาพและระบบหลักประกันทางสังคม โอกาสทางการศึกษา คุณภาพของระบบการศึกษาซึ่งเป็นองค์ประกอบปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนามนุษย์ของประเทศ อีกเรื่องที่สำคัญ คือ การตระหนักถึงการกระจายผลพวงจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นให้ตกถึงประชาชนทุกกลุ่มในประเทศอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

    นัยเชิงนโยบายที่สำคัญ สำหรับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อรักษาแรงผลักและกระแสเชิงบวกในการพัฒนามนุษย์ให้ดียิ่งขึ้น ที่ให้ไว้ในตอนท้ายของรายงานมีอยู่ใน 4 เรื่องด้วยกัน คือ 1) การสร้างให้เกิดความเท่าเทียมเป็นธรรมมากขึ้นในสังคม (enhancing equity) โดยเฉพาะ ความเท่าเทียมทางการศึกษา ทางสุขภาพ ทางรายได้ และความเท่าเทียมทางเพศ 2) การสร้างเสริมโอกาสในการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วม (enabling voice and participation) ทั้งทางการเมืองและทางสังคมของคนทุกคน 3) การเตรียมตัวเพื่อปรับตัวและรับมือกับแรงกดดันจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม (confronting environmental pressures) โดยเฉพาะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ความตึงเครียดจากปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและความขาดแคลนของทรัพยากร 4) การจัดการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางประชากร (managing demographic changes) ทั้งในประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงของการได้รับการปันผลทางประชากร (demographic dividend) ที่สัดส่วนประชากรขนาดใหญ่อยู่ในวัยกำลังแรงงาน (โดยมากในกลุ่มประเทศในแถบแอฟริกาตอนใต้ : Sub-Saharan Africa) และประเทศที่ผ่านช่วงเวลาดังกล่าวมาแล้วโดยกำลังก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุที่สัดส่วนพึ่งพิงทางประชากรเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก) ว่าทำอย่างไรให้ภายใต้โครงสร้างประชากรที่กำลังเปลี่ยนแปลงนั้น ประเทศยังสามารถรักษาระดับการผลิต การพัฒนามนุษย์ การสร้างและใช้ประโยชน์จากศักยภาพมนุษย์ที่มีอยู่ไม่ว่าจะในวัยใดให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้ง 4 ประเด็นนี้ ถือเป็นการบ้านสำคัญที่รายงานการพัฒนามนุษย์ฉบับล่าสุดได้ฝากไว้ ให้กับประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะกลุ่มในซีกโลกทางใต้ที่กำลังเติบโตไปสู่ความรุ่งโรจน์นำไปคิดและดำเนินการต่อ

    เพื่อเป็นการทิ้งท้าย เมื่อพูดถึง The Rise of the South ผู้เขียนเข้าใจว่า น่าจะเหมารวมถึง “เรา” 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่ในนั้นด้วย จึงขอนำผลการจัดการอันดับดัชนีการพัฒนามนุษย์ ปี 2556 ของ “เรา” มาให้ผู้อ่านเป็นการบ้านไปคิดกันต่อว่า เมื่อจัดเรียงตามค่าดัชนี และองค์ประกอบของดัชนีในแต่ละด้านแล้ว ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศอยู่กันตรงไหน อันดับใดบ้าง และเรายังคงมีความแตกต่างของระดับการพัฒนามนุษย์ในด้านใด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สมาชิกอาเซียนทุกประเทศต้องช่วยกัน เพื่อลดความแตกต่างนี้ และร่วมมือกันพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปพร้อมๆ กัน

ผลการจัดอันดับดัชนีการพัฒนามนุษย์ ปี 2556 (HDI 2013) และองค์ประกอบแต่ละด้านในกลุ่มประเทศอาเซียน

ประเทศ อันดับค่า HDI
ใน 187 ประเทศทั่วโลก
องค์ประกอบของดัชนีการพัฒนามนุษย์
อายุคาดเฉลี่ย (ปี) จำนวนปีเฉลี่ย
ที่ได้รับการศึกษา (ปี)
จำนวนปีที่คาดหมาย
ว่าได้รับการศึกษา (ปี)
รายได้ประชาชาติ
ต่อหัว (2005 PPP$)
สิงคโปร์ 18 81.2 10.1 14.4 52,613
บรูไน 30 78.1 8.6 15 45,690
มาเลเซีย 64 74.5 9.5 12.6 13,676
ไทย 103 74.3 6.6 12.3 7,722
ฟิลิปปินส์ 114 69 8.9 11.7 3,752
อินโดนีเซีย 121 69.8 5.8 12.9 4,154
เวียดนาม 127 75.4 5.5 11.9 2,970
กัมพูชา 138 63.6 5.8 10.5 2,095
สปป.ลาว 138 67.8 4.6 10.1 2,435
เมียนมาร์ 149 65.7 3.9 9.4 1,817
โลก   70.1 7.5 11.6 10,184

 

Since 25 December 2012