ประชากรต่างแดน
มองโลก.....มองแรงงาน (ราคาถูก)
อมรา สุนทรธาดา This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ข่าวที่น่าสลดใจการเสียชีวิตผู้ใช้แรงงานในโรงงานผลิตเสื้อสำเร็จรูปเพื่อส่งออกในบังกลาเทศเนื่องจากอาคารของโรงงานถล่มกลบร่างคนงานนับร้อยซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานสตรี จนเกิดกระแสต่อต้านจากสังคมอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันการทบทวนมาตรฐานสากลสำหรับการคุ้มครองสวัสดิการแรงงาน บังกลาเทศเป็นฐานการผลิตเสื้อผ้าส่งออกมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน
ในตลาดภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้แรงงานราคาถูกจำนวนมหาศาลคืออุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ จากรายงานการวิจัยกลุ่ม Women Working Worldwide แยกแยะให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตได้รับผลประโยชน์มากน้อยอย่างไร ดังแสดงในภาพ
ภาพจาก Women Working Worldwide 2004
ถ้าเอาเสื้อ 1 ตัว มาวางบนโต๊ะเพื่อวิเคราะห์ว่าผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตได้รับส่วนแบ่งจากมูลค่าการผลิตอย่างไร จากการวิจัยกรณีศึกษา กลุ่ม Women Working Worldwide แจกแจงไว้น่าสนใจ ดังนี้ บริษัทผู้ค้าได้ 50% ของรายรับ บริษัทเจ้าของเครื่องหมายการค้ารับไป 25% (ในบางกรณีผู้ค้ารายใหญ่และเจ้าของเครื่องหมายการค้าเป็นหุ้นส่วนเดียวกัน) อีก 13% เป็นของโรงงานผู้ผลิตและผู้บริหารจัดการที่ต้องส่งสินค้าให้ทันกับความต้องการของบริษัทผู้ค้า ที่เหลืออีก 1% เป็นค่าตอบแทนสำหรับแรงงาน
ท่านทราบไหมว่า มีการผลิตรองเท้ากี่คู่ต่อปีเพื่อป้อนตลาดโลก หรือ คนทั้งโลกสนุกกับการซื้อหารองเท้ากันปีละกี่คู่
จากสถิติบันทึกไว้โดย World Footwear Yearbook Reportปี 2553 ระบุว่าอุตสาหกรรมการผลิตรองเท้าของตลาดโลก ประมาณ 86% ผลิตจากกลุ่มประเทศในเอเชีย มีการผลิตรองเท้าทั่วโลก ประมาณ 2 หมื่นล้านคู่ต่อปี วัสดุที่ใช้เพื่อการผลิต
มีหลายประเภท เช่น หนังสัตว์ ยางพารา พลาสติก ผ้า และวัสดุอื่นๆที่กันน้ำได้ ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดคือ จีน ครองตลาดการผลิต ประมาณ 63% ของจำนวนการผลิตทั่วโลก ประมาณ 12,000 ล้านคู่ต่อปี อินเดียตามมาเป็นอันดับสอง ผลิตได้ 2,000 ล้านคู่ บราซิล ผลิต 894 ล้านคู่ เวียดนาม 760 ล้านคู่ ปากีสถาน ผลิต 295 ล้านคู่
ประเทศส่งออกรองเท้า 5 อันดับแรกของโลกจัดลำดับตามปริมาณการส่งออก คือ จีน อิตาลี ฮ่องกง เวียดนาม เบลเยี่ยม แม้ว่าจีนจะผลิตและส่งออกเป็นอันดับหนึ่งแต่มูลค่าเฉลี่ยต่อคู่เพียง 3.39 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับราคารองเท้าส่งออกจากอิตาลีที่มีราคาเฉลี่ยต่อคู่สูงถึง 39.51 ดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขนี้มีนัยอย่างไร คำตอบที่ง่ายที่สุดคือเมื่อราคาเฉลี่ยส่งออกต่ำ ต้นทุนการผลิตต้องต่ำ ส่วนแบ่งค่าแรงไม่ต้องพูดถึง
ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่ารองเท้าผลิตที่ไหนราคาแพงกว่ากัน คำถามที่น่าสนใจกว่านั้นคือรองเท้าจำนวนมหาศาลที่ผลิตป้อนตลาดโลกต่อปี ได้มาอย่างไร กำจัดอย่างไรเมื่อเลิกใช้ รองเท้าเหล่านี้ผลิตจากพลาสติกมากกว่าจากหนังสัตว์ที่มีราคาแพงกว่า ดังนั้นระยะเวลาเพื่อการย่อยสลายจึงเป็นปัญหาที่น่าคิด ท่านคงทราบจากสื่อต่างๆ สำหรับกรณีพิพาทที่ประเทศต่างๆ ตกเป็นเป้าหมายการกำจัดขยะ หรือสินค้า ‘ล้างสต๊อก’ ขายไม่ออก เช่น เซเนกัล ในทวีปแอฟริกา ประเทศแถบเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ และไทย ก็โดนลูกหลงด้วย ที่มีสินค้ามือสองจากจีน และเกาหลี บรรทุกสินค้าทางเรือ มีน้ำหนักเป็น พันๆ ตัน มาพักไว้ก่อนจะกระจายไปยังตลาดชายแดนต่างๆ เช่น ตลาดโรงเกลือ ซึ่งเป็นศูนย์รวมขนาดใหญ่สำหรับการค้าขายชายแดนมาหลายปีแล้ว
เสื้อสำเร็จรูป สิ่งทอประเภทอื่นๆ และรองเท้าเกิดจากหยาดเหงื่อแรงงานราคาถูกทั้งนั้น เคยมีการต่อต้านไม่สนับสนุนสินค้าดังกล่าวที่ผลิตจากฐานการผลิตรายใหญ่ เพราะมีประเด็นสิทธิมนุษยชนการใช้แรงงานเด็กและสตรีเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอประเภทอื่นๆ เช่น พรมเปอร์เซีย ที่ใช้แรงงานเด็กในกระบวนการผลิต ที่มีค่าแรงต่ำ มีชั่วโมงการทำงานหลายชั่วโมงและต่อเนื่อง แรงงานเด็กในการผลิตพรมมีชีวิตการทำงานที่น่าหดหู่ใจ เช่น ขณะที่ทอพรมต้องตะโกนเปล่งเสียงเป็นช่วงๆ พร้อมกันตลอดเพื่อไม่ให้ง่วงหลับ แต่ผู้ประกอบการแก้ตัวว่า
เพื่อป้องกันการทอลวดลายผิดพลาด พรมเปอร์เซียราคาสูงและเป็นที่นิยมทั่วโลก มีตลาดส่งออกในจุดท่องเที่ยวหลายเมือง เช่น เมืองท่าอิสตันบุล มีสินค้าประเภทนี้นำเข้าจากอิหร่านและสินค้าที่ผลิตเองในตุรกี พ่อค้ามีทักษะในการขายและเสนอราคาที่จูงใจนักท่องเที่ยว เช่น การสะบัดผืนพรมอย่างมืออาชีพจนฝุ่นกระจายเพื่ออวดลวดลายและสีสัน
เหตุการณ์สลดใจในกลุ่มแรงงานราคาถูกเกิดขึ้นบ่อยครั้งแต่การแก้ไขยังแผ่วเบา