เวทีวิจัยประชากรและสังคม
ยุคแห่งการปฏิรูปการคุ้มครองแรงงาน:ผลของโศกนาฏกรรมในบังกลาเทศต่างกับนิวยอร์กอย่างไร
จรัมพร โห้ลำยอง This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เหตุการณ์อาคารรานาพลาซ่า ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าแห่งใหญ่ในประเทศบังกลาเทศพังถล่ม ในเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ ถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพของมาตรการคุ้มครองแรงงานและมาตรฐานความปลอดภัยในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมของประเทศบังกลาเทศ
ภายใต้ซากอิฐปูนที่ถล่มลงมานี้ นอกจากร่างคนงานผู้โชคร้ายที่บาดเจ็บล้มตายแล้วนั้น ยังมีป้ายตราสินค้ายี่ห้อต่างๆ กระจายอยู่บนซากปรักหักพัง ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการเสื้อผ้ายี่ห้อดังในประเทศยุโรป อเมริกา และแคนาดา เกิดอาการตื่นตกใจ และเครียด เนื่องจากการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมที่เป็นผลจากการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงก็ตาม ย่อมส่งผลต่อความนิยมของสินค้ายี่ห้อดังเหล่านั้น อาจส่งผลให้ยอดขายตกและกำไรลดลงได้ นอกจากนี้สินค้าที่ฝากแรงงานในประเทศบังกลาเทศผลิตอาจขาดตลาด นำมาขายให้ผู้บริโภคไม่ทัน และทำให้กำไรลดลงได้
เป็นที่ทราบกันดีว่ากำไรเป็นสิ่งสำคัญในการประกอบธุรกิจ การตัดสินใจผลิตในประเทศกำลังพัฒนา ที่มีปริมาณแรงงานมาก ยอมทำงานหนัก เพื่อแลกกับค่าแรงที่ต่ำ จะช่วยลดต้นทุนการผลิต และสร้างกำไรให้กับบริษัทได้มาก แม้การเอารัดเอาเปรียบแรงงานจะไม่ใช่เป้าหมายของผู้ประกอบการ แต่การให้ความปลอดภัยในการทำงาน และให้สวัสดิภาพที่ดีกับแรงงาน ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และเป็นอุปสรรคในการสร้างกำไร
แต่ในมิติของการค้าระหว่างประเทศปัจจุบัน ความสัมพันธ์ของกำไรและการลดต้นทุนมีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการในประเทศพัฒนาแล้วได้ประโยชน์จากการสั่งผลิตสินค้าในประเทศกำลังพัฒนาที่มีระดับค่าแรงต่ำ แต่ไม่ได้มีบทบาทโดยตรงในการควบคุมต้นทุนการผลิต ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้ประกอบการในประเทศกำลังพัฒนาที่รับช่วงผลิตสินค้าให้กับสินค้ายี่ห้อดังต่างๆ ที่เป็นผู้ควบคุมต้นทุนการผลิตให้ต่ำ เพื่อดึงดูดให้ตนเองได้เป็นผู้ผลิตสินค้าภายใต้ภาวะการแข่งขันที่
เข้มข้นในตลาดโลก เมื่อใดก็ตามที่ต้นทุนการผลิตสูงจากการเพิ่มค่าแรง การปรับปรุงความปลอดภัย และการให้สวัสดิการแก่แรงงาน ผู้ประกอบการในประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ก็จะพบกับความเสี่ยงที่ลูกค้ารายใหญ่จะเปลี่ยนไปสั่งผลิตสินค้ากับเจ้าอื่น หรือประเทศอื่นที่มีต้นทุนการผลิตถูกกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสัจธรรมในตลาดเศรษฐกิจที่นักเศรษฐศาสตร์มักจะบรรยายว่า เป็นกลไกตลาดโดยอุปสงค์และอุปทานในตลาดที่ปรับตัวภายใต้กลไกมือที่มองไม่เห็น (invisible hand) กลไกตลาดนี้เป็นสาเหตุหนึ่งของโศกนาฏกรรมในบังกลาเทศ แต่คงจะจับผู้กระทำความผิดได้ยาก เนื่องจากปรับตัวภายใต้กลไกมือที่มองไม่เห็น จึงยากที่จะระบุผู้กระทำผิด
โศกนาฏกรรมอันเป็นผลจากการเอารัดเอาเปรียบแรงงานไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศบังกลาเทศเท่านั้น แต่มีเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก หนึ่งเหตุการณ์ดังในอดีตในอุตสาหกรรมเดียวกันคืออุตสาหกรรมสิ่งทอ ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็เคยเกิดโศกนาฏกรรมคล้ายๆ กันเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว (พ.ศ. 2454) จากเหตุเพลิงไหม้โรงงานไทรแองเกิลเชิร์ตเวสต์ในนครนิวยอร์ก ซึ่งทำให้คนงานในโรงงานทอผ้าเสียชีวิตสูงถึง 146 คน ส่วนใหญ่เป็นคนงานหญิง และผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยที่สุด (เฉพาะที่ทราบอายุ) คือเด็กหญิงวัย 14 ปี
คนงานที่เสียชีวิตไม่ได้ถูกไฟคลอกตาย แต่ตกจากตึกสูง หลักฐานเป็นที่ประจักษ์ว่าหากผู้ประกอบการไม่ล็อคประตูเข้าออกในแต่ละชั้น คนงานก็จะวิ่งหนีไฟลงมาด้านล่างได้ ไม่ต้องกระโดดจากตึก แต่ในสมัยนั้นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ต่างล็อคประตูในเวลาทำการทั้งสิ้น เนื่องจากการเดินเข้าออกไปห้องน้ำของคนงานจะทำให้ผลิตสินค้าได้ไม่ตรงตามเป้าหมาย
ผลจากโศกนาฏกรรมในนครนิวยอร์กครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการปฏิรูปการคุ้มครองแรงงานครั้งสำคัญในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการกำหนดมาตรการความปลอดภัยต่างๆ ที่ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามอย่างเข้มงวดในเวลาต่อมา แต่เป็นที่น่าเสียใจว่าแรงงานที่เสียชีวิตในครั้งนั้น สุดท้ายแล้วได้รับเงินชดเชยเพียง 75 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ในขณะที่เจ้าของกิจการได้รับเงินประกันมากกว่าค่าเสียหายที่ตนเองต้องจ่ายถึง 6,000 ดอลลาร์ สามารถเอาไปเป็นทุนประกอบกิจการต่อได้อีก ซึ่งหลังจากนั้นผู้ประกอบการรายนี้ก็ถูกจับจากการขังคนงานอีกในเวลาต่อมา
ขณะนี้เจ้าของกิจการในบังกลาเทศได้ถูกจับกุมแล้ว รัฐบาลก็เริ่มตื่นตัวกับการปฏิรูปการคุ้มครองแรงงาน ในไม่ช้าคนงานบังกลาเทศก็จะได้รับการคุ้มครองที่มีมาตรฐานมากขึ้น และคงไม่ต้องเสี่ยงตายจากการทำงานอีกต่อไป แต่อาจต้องเสี่ยงจากความอดอยากและไม่มีงานทำ เนื่องจากผู้ประกอบการเสื้อผ้ายี่ห้อดังในประเทศที่พัฒนาแล้วตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น เพราะไม่อยากเสียชื่อจากการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน การย้ายฐานการผลิตจึงเป็นทางออกที่บริษัทเห็นว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบที่ดีที่สุด
เหตุเพลิงไหม้โรงงานไทรแองเกิลเชิร์ตเวสต์
ที่มา: www.npr.org |
เหตุการณ์อาคารรานาพลาซ่าถล่ม |