ประเด็นประชากรที่น่าสนใจ

การปรับตัวของธุรกิจญี่ปุ่น ในยุคสังคมผู้สูงอายุ

มนสิการ กาญจนะจิตรา This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

    ถ้าพูดถึงสังคมผู้สูงอายุ หลายคนคงนึกถึงประเทศญี่ปุ่น ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ญี่ปุ่นเป็น
ประเทศแรกๆ ที่ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 (คือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี เกิน 7%) และได้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เมื่อปีพ.ศ. 2537 (คือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี เกิน 14%) และในปัจจุบัน ประมาณ 23% ของประชากรมีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งถือว่าเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (คือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี เกิน 20%)

    นับวันแนวโน้มสัดส่วนผู้สูงวัยของญี่ปุ่นยิ่งจะมีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการคาดประมาณเอาไว้ว่า ภายในปีพ.ศ. 2563
(อีกเพียง 7 ปีเท่านั้นจากนี้) ประเทศญี่ปุ่นจะมีประชากรสูงวัยถึง 29% และจะเพิ่มเป็น 39% ภายในปีพ.ศ. 2593 สาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วเช่นนี้ เป็นเพราะมีอัตราเด็กเกิดใหม่ที่ต่ำติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน เช่นในปัจจุบันที่ผู้หญิงหนึ่งคนจะมีลูกโดยเฉลี่ยเพียง 1.4 คน ในขณะที่ประชาชนของประเทศมีอายุที่ยืนยาว คือ อายุคาดเฉลี่ยของประชากรโดยรวมเมื่อแรกเกิดอยู่ที่ประมาณ 83 ปี

    เมื่อญี่ปุ่นได้ก้าวเข้าสู่ยุคที่ยอดขายผ้าอ้อมผู้ใหญ่สูงกว่ายอดขายผ้าอ้อมเด็ก ธุรกิจหลายแห่งจึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์และเพื่อความอยู่รอด เช่น บริษัทโซนี่ ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ ที่มองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ ในสังคมผู้สูงอายุ โดยทางบริษัทได้เพิ่มบทบาทตนเองในฐานะผู้ผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนทางการแพทย์ โดยนำความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีคุณภาพมาประยุกต์ใช้ เช่น การอาศัยความรู้ในการผลิต
กล้องดิจิตอลที่มีคุณภาพ มาร่วมผลิตชิ้นส่วนกล้องสำหรับการส่องตรวจอวัยวะภายใน หรือการผลิตมอนิเตอร์ และเครื่องพิมพ์
ที่สามารถใช้ประกอบร่วมกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้

    สำหรับบางธุรกิจ ก็ได้ปรับเปลี่ยนแบบแผนการดำเนินธุรกิจของตนเองเพื่อให้เหมาะสมกับการบริการผู้สูงวัยมากขึ้น เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ตบางรายในญี่ปุ่น ที่เริ่มปรับเปลี่ยนเวลาเปิดบริการให้เช้าขึ้น จากแต่เดิมที่เปิด 9 โมงเช้ามาเป็นเปิด 7 โมงเช้า เนื่องจากสังเกตเห็นพฤติกรรมผู้สูงอายุ ว่ามักตื่นมาทำธุระและกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่เช้าตรู่ นอกจากนี้ ซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่ง ยังได้มีการเพิ่มบริการรับจัดงานศพแบบเรียบง่ายในราคาย่อมเยาอีกด้วย เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ที่คาดว่าจะต้องใช้บริการ เนื่องจากบริษัทรับจัดงานศพใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นมีค่าบริการที่สูงมาก

    อีกบริษัทหนึ่งที่มีกลยุทธ์ในการปรับตัวที่น่าสนใจ คือบริษัทคิวพี ผู้นำด้านการผลิตอาหารเด็ก และมายองเนส (เจ้าของโลโก้
เด็กน้อยตากลมแป๋ว) ที่ปัจจุบันได้เพิ่มยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ ด้วยการเจาะตลาดผู้สูงวัยมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วเกี่ยวกับการผลิตอาหารเด็กที่มีลักษณะบดเคี้ยวง่ายมาผลิตอาหารให้ผู้สูงวัย ในปัจจุบัน ทางบริษัทมีอาหารสำหรับ
ผู้สูงวัยแบบทั้งปรุงสดที่มีวางจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป หรือบริการส่งให้ถึงบ้าน โดยเมนูที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
ในกลุ่มชาวญี่ปุ่นวัยชรา คือ สลัดมันฝรั่ง และผักตุ๋นแบบญี่ปุ่น นอกจากนี้ ทางบริษัทยังมีผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้สูงวัยชนิดสำเร็จรูปอีกด้วย โดยบนซองมีระบุไว้อย่างชัดเจน ว่าอาหารในซองนี้ เป็นอาหารชนิดเคี้ยวง่าย สามารถใช้เหงือกบดได้ สามารถใช้ลิ้นบดได้ หรือ ไม่ต้องเคี้ยวเลย ซึ่งอาหารเหล่านี้มักมีปลาและผักเป็นส่วนประกอบสำคัญ เพื่อให้ถูกปากชาวญี่ปุ่นสูงวัย

    จากความสำเร็จของบริษัทคิวพี ปัจจุบัน บริษัทผลิตอาหารเด็กหลายราย จึงเริ่มหันมาผลิตอาหารเพื่อผู้สูงอายุมากขึ้น
ซึ่งทางรัฐบาลญี่ปุ่นเล็งเห็นถึงโอกาสการเติบโตของธุรกิจนี้ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรจัดการประชุมทุกเดือน เพื่อให้
การสนับสนุนและควบคุมดูแลธุรกิจในตลาดอาหารผู้สูงอายุนี้ โดยส่งเสริมให้มีการปรึกษาหารือกันระหว่าง แพทย์ นักโภชนาการ และผู้ผลิตอาหาร เพื่อจะได้ผลิตอาหารที่ดีมีคุณภาพ และมีสารอาหารครบถ้วนตามความต้องการของผู้สูงอายุ

    สำหรับธุรกิจเหล่านี้ในประเทศญี่ปุ่น การปรับตัวเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อความอยู่รอดของกิจการ โดยเฉพาะ ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรเช่นนี้ สำหรับในประเทศไทยเอง ก็เป็นที่น่าสนใจว่าธุรกิจต่างๆ จะมีทิศทางในการปรับตัวต่อไปอย่างไร ในฐานะที่สังคมของเรา ก็กำลังจะย่างก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่ช้า

บริษัทคิวพี ผู้นำด้านการผลิตอาหารทารกและเด็ก ได้เพิ่มผลิตภัณฑ์อาหารที่เคี้ยวง่ายสำหรับผู้สูงวัย เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ

Since 25 December 2012