ผู้เขียน : ปราโมทย์ ประสาทกุล ( This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. )

    ท่านรองอธิบดี กรมอนามัย นพ.สมศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ได้โยนคำถามมาให้พวกเราที่ทำงานเกี่ยวข้องกับประชากรและการสาธารณสุขตอบว่า  เราจะทำอย่างไรกันดี เราจะเดินต่อไปในทิศทางใดกันดี เมื่อสังคมไทยมีเด็กเกิดน้อยลง  ขณะที่ผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้นเรื่อยๆ

    ผมเชื่อว่า คำถามนี้ ท่านรองอธิบดีและคนในกรมอนามัยมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว แต่คงอยากจุดประเด็นให้คนช่วยกันคิดในเรื่องการพัฒนาคุณภาพของการเกิด  และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ท่านคงอยากจะ “ตีปี๊บ”  ประชาสัมพันธ์เรื่องเด็กและคนแก่ว่างั้นเถอะ

    ผมก็พลอยเห็นดีเห็นงามคิดตามไปด้วย เราจะเอาอย่างไรกันดีในสถานการณ์ตอนนี้ที่แต่ละปีๆ  มีเด็กเกิดน้อยลงๆ
  ผู้สูงอายุก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ คนไทยมีสุขภาพอนามัยดีขึ้นอายุก็ยืนยาวขึ้น

    อย่างเรื่องเด็กเกิดน้อยลงนี้ เห็นได้อย่างชัดๆ เดี๋ยวนี้เด็กเกิดน้อยลงจริงๆ  คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไม่ค่อยอยากแต่งงานกัน เคยแอบได้ยินสาวๆ คุยกันในหมู่เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน  “เราไม่แต่งงานดีกว่า อยู่เป็นโสดอย่างนี้  อยู่กับแม่ เป็นเพื่อนแม่ ไม่ต้องไปคอยดูแลเอาใจใคร ทำงานเก็บเงินไว้ ปีหนึ่งก็ไปทัวร์ต่างประเทศเสียทีหนึ่ง  แค่นี้ก็มีความสุขพอแล้ว ...”

    ผู้หญิงรุ่นใหม่จำนวนมากอยากอยู่อย่างอิสระ ไม่อยากเอาทะเบียนสมรสมาห่อหุ้มเสรีภาพ  ผู้หญิงยิ่งมีการศึกษาสูง  มีหน้าที่การทำงานดี ยิ่งหาคู่แต่งงานยาก เคยแอบได้ยินมาอีกเช่นกันว่า ผู้หญิงบางคนให้เหตุผลที่ไม่แต่งงานเพราะ  “หาคู่ไม่ได้”  “หาผู้ชายที่ถูกใจไม่ได้” สาวๆ หลายคนบอกว่าในที่ทำงานของตัวเองแทบจะหาผู้ชายจริงๆ  ไม่ได้เลย

    ผู้ชายก็เหมือนกัน หนุ่มๆ รุ่นใหม่จำนวนมากก็ไม่อยากแต่งงาน อยากอยู่เป็นโสด  เพราะมีอิสระเสรีดี และเดี๋ยวนี้มีผู้ชายอีกเป็นจำนวนไม่น้อยที่มีรสนิยมไม่อยากแต่งงานกับเพศตรงข้าม

    เมื่อทั้งผู้หญิงและผู้ชายแต่งงานกันน้อยลง  โรงงานผลิตลูกของประเทศก็มีผลผลิตน้อย คนแต่งงานกันน้อยลงก็เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กเกิดแต่ละปีน้อยลง

    คู่สมรสสมัยใหม่ไม่ต้องการมีลูกมาก  มีลูกกันเพียงคนสองคนก็พอแล้ว เดี๋ยวนี้เราจะเห็นพ่อแม่ที่มีลูกโทนเป็นจำนวนมาก  ผู้หญิงไทยสมัยนี้แต่งงานแล้วก็ยังทำงาน ไม่ได้อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน มีภาพเป็น  “แม่ศรีเรือน” ที่คอยทำหน้าที่เป็นแม่บ้านที่ดี เหมือนผู้หญิงสมัยก่อนอีกแล้ว  ผู้หญิงสมัยนี้ออกไปทำงานนอกบ้านตัวเป็นเกลียว ถ้าทำงานในออฟฟิศก็มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี  เป็นผู้บริหารระดับสูง แล้วอย่างนี้จะให้ภรรยายุคใหม่มีลูกหลายๆ คนได้อย่างไร

    เดี๋ยวนี้สตรีใช้สิทธิของตนมากขึ้น แต่งงานแล้วจะเลือกใช้นามสกุลเดิมก็ได้  เห็นผู้หญิงหลายคนในที่ทำงานของผม 
  รวมทั้งผู้นำหญิงของประเทศ แต่งงานแล้วแต่ก็ยังใช้คำนำหน้าชื่อว่านางสาว  สิทธิและสถานภาพสตรีที่สูงขึ้นเช่นนี้ ผมว่ามีส่วนทำให้ผู้หญิงไทยยุคใหม่มีลูกน้อย  หรือไม่มีลูกเลย

    การที่ผู้หญิงไทยครองโสดมากขึ้น  และผู้หญิงที่แต่งงานแล้วก็มีลูกน้อยลง ทำให้จำนวนเด็กเกิดในประเทศไทยลดน้อยลงไปมาก

    ช่วง 20 ปี ระหว่างปี 2506 ถึง  2526 เด็กเกิดในประเทศไทยในแต่ละปีมากถึงล้านกว่าคน ผมเรียกว่า  “คนรุ่นเกิดล้าน”  แต่เดี๋ยวนี้มีเด็กเกิดเพียงปีละไม่ถึง 8 แสนคน ที่ไม่น่าสบายใจก็คือ  เด็กที่เกิดจำนวนน้อยเหล่านี้ ยังมีบางส่วนที่เกิดมาแล้วพิกลพิการ น้ำหนักน้อย เป็นออทิสติก  ดาวน์ซินโดรม หรือผิดรูปผิดปกติเสียอีก

    เด็กไทยที่เกิดมาจำนวนน้อยลงแล้วยังมีที่ตายไปก่อนอายุจะครบขวบอีก  1.3% อัตราเด็กตายตั้งแต่ยังเป็นทารกนี้พูดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ดูไม่มากนัก  แต่ถ้าคิดเป็นจำนวนก็ดูจะน่ากลัวอยู่เหมือนกัน เด็กไทยตายก่อนอายุจะครบหนึ่งปี ปีละประมาณหนึ่งหมื่นราย  เฉลี่ยทารกตายวันละ 28 ราย นึกภาพแล้วน่าตกใจอยู่เหมือนกันนะครับ

    ในสังคมไทยสมัยนี้  จะเลี้ยงลูกให้ดีก็เป็นภาระหนักเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน

   ถ้าแม่ออกไปทำงานนอกบ้าน  แล้วใครจะเลี้ยงลูก ถ้าแม่อยู่บ้านเลี้ยงลูก แล้วใครจะทำงานหารายได้มาช่วยเสริมรายได้ของครอบครัว  เดี๋ยวนี้ทั้งพ่อทั้งแม่ต้องช่วยกันทำมาหากิน พอลูกโตหน่อยก็ต้องเข้าโรงเรียน เรียนกันตั้งแต่ชั้นก่อนอนุบาล  จบชั้นอนุบาลเรียนต่อประถมศึกษาอีก 6 ปี แล้วต่อมัธยมศึกษาอีก  6 ปี จบมัธยมแล้วก็อยากจะให้เรียนสูงๆ ขึ้นไปจนได้ปริญญา เรียบจบแล้วยังไม่รู้ว่าจะหางานดีๆ  ทำได้หรือเปล่า

    เลี้ยงลูกให้มีคุณภาพในสังคมไทยสมัยนี้ใช่ว่าจะง่าย  ยาเสพติดแพร่ระบาดอยู่ทั่วสังคม  เด็กเกเรก่อเรื่องทะเลาะวิวาทกันเป็นข่าวให้เห็นอยู่บ่อยๆ สภาพสังคมที่มีความเสี่ยงมากๆ  อย่างนี้บางทีก็ทำให้คนคิดอยากจะมีลูกใจฝ่อไปได้เหมือนกัน
  
  คิดถึงภาพเด็กที่เกิดมาในสมัยนี้แล้ว ก็นึกถึงวลีที่ว่า “เด็กเกิดน้อย แล้วยังด้อยคุณภาพ” ถ้าจะถามว่าเราจะเอายังไงกันดีกับการที่เด็กเกิดน้อยลงในประเทศไทย  ก็ต้องตอบง่ายๆ ว่า เกิดจำนวนมากหรือน้อยไม่สำคัญ ขอให้การเกิดทุกรายมีคุณภาพ และเด็กที่เกิดมาแล้วมีคุณภาพก็แล้วกัน  พูดอีกอย่างว่า คุณภาพของการเกิดสำคัญกว่าจำนวนเกิด  ประเทศไทยจะต้องพัฒนาคุณภาพประชากรโดยเริ่มตั้งแต่การเกิด  คุณภาพของการเกิดก็ต้องเริ่มตั้งแต่การตั้งครรภ์

    การเกิดที่มีคุณภาพน่าจะต้องเกิดจากครรภ์ที่แม่พร้อมและตั้งใจ ไม่ใช่ผู้หญิงตั้งครรภ์เพราะความไม่รู้  ไม่รู้ว่ามีวิธีป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ไม่รู้ว่าจะไปหาวิธีการป้องกันการตั้งครรภ์ได้จากไหน  ไม่ใช่ตั้งครรภ์ขณะที่ยังไม่พร้อม เช่นยังเป็นเด็ก ยังอยู่ในวัยเรียน และไม่ใช่ตั้งครรภ์เพราะถูกบังคับขืนใจ

    เมื่อเป็นครรภ์ที่แม่พร้อมและตั้งใจ แม่ก็จะไปฝากครรภ์กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข  ไม่ว่าจะเป็นสถานบริการของรัฐหรือเอกชน ครรภ์ที่ได้รับการดูแลอย่างดี ได้รับการตรวจตามระยะเวลาที่เหมาะสม  การคลอดที่ทำโดยบุคลากรผู้มีทักษะความรู้ในสถานที่ที่ถูกสุขอนามัย ย่อมประกันคุณภาพของการเกิดได้อย่างมาก

    เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว การดูแลแม่และเด็กหลังคลอด การฉีดวัคซีนปลูกฝีสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก  การดูแลทารกและเด็กอย่างถูกวิธีจะช่วยให้เด็กมีสุขภาพสมบูรณ์และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังไม่ครบขวบได้อย่างมาก

    ผมได้แต่วาดภาพจินตนาการไปเรื่อยๆ  งานอนามัยแม่และเด็ก กรมอนามัย มีความเชี่ยวชาญและมีบุคลากรพร้อมอยู่แล้ว  แต่ขั้นตอนก่อนจะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น  คงเป็นงานของหลายองค์กรทั้งของรัฐและเอกชนทำร่วมกัน ทำอย่างไรจึงจะป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมและไม่ตั้งใจ  กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงพัฒนาสังคมฯ กระทรวงมหาดไทย และองค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ คงต้องร่วมมือกันในงานนี้

 แล้วคนอายุยืนล่ะ เราจะทำอย่างไร

    เดี๋ยวนี้คนไทยอายุยืนขึ้นมาก เมื่อ  50 ปีก่อน อายุคาดเฉลี่ยของคนไทยยืนยาวไม่ถึง 50 ปี เดี๋ยวนี้คนไทยมีอายุคาดเฉลี่ย 73 ปี และมีแนวโน้มจะยืนยาวขึ้นไปอีก

    สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว ปี 2555 นี้ ประมาณว่า  ประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีอายุราว 9% ของประชากรทั้งหมด อีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า ประชากรอายุ  65 ปีขึ้นไปก็จะ  มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 14% ซึ่งเท่ากับว่าสังคมไทยจะเป็นสังคม
  ผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว

    เมื่อเรารู้และมองเห็นภาพสังคมผู้สูงอายุไทยในอนาคตได้ชัดเจนแล้ว  ทิศทางที่เราจะมุ่งไปคงจะชัดเจนตามไปด้วย  เรารู้ว่าผู้คนในสังคมไทยจะมีอายุมากขึ้น มีผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากขึ้น  เราก็ต้องเตรียมแผนและมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเหล่านี้

    เราคงต้องหาทางที่จะทำให้สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยไม่เป็นสังคมผู้สูงอายุที่น่าเวทนา  คงไม่มีใครอยากเห็นผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง ผู้สูงอายุมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก สังคมไทยเต็มไปด้วยผู้สูงอายุที่มีสุขภาพอนามัยเสื่อมโทรมน่าสงสาร  เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่สามารถไปรับการรักษายาบาลได้

    ทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดภาพที่น่าเวทนาเหล่านั้นขึ้นในสังคม  รัฐคงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้  คงต้องมีนโยบายและแผนเกี่ยวกับสวัสดิการผู้สูงอายุ คงต้องมีมาตรการต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความมั่นคงในชีวิต  ทั้งในด้านรายได้เพื่อยังชีพ ความมั่นคงด้านสุขภาพอนามัย และการอยู่อาศัย

    พูดถึงเรื่องผู้สูงอายุแล้ว ผมขอเสนอศัพท์คำหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต

    “วยาคติ” (วย + อคติ)  มาจากคำว่า วย (วัย หรืออายุ)  สนธิกับคำว่า อคติ (ความลำเอียง หรือมีทัศนคติในทางลบ)  คำนี้แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า  ageism

    ผมขอให้ความหมายของคำว่า “วยาคติ” ดังนี้

    “วยาคติ หมายถึง อคติหรือการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล หรือกลุ่มบุคคลด้วยเหตุแห่งอายุหรือวัย  อคติเช่นนี้อาจเกิดขึ้นจากความเชื่อ  ทัศนคติ ค่านิยม หรือบรรทัดฐานในทางลบที่มีต่อคนบางกลุ่มอายุ ซึ่งนำไปสู่ความลำเอียงหรือการเลือกปฏิบัติ

    โดยทั่วไป จะใช้คำว่า วยาคติที่มีความหมายถึง อคติ หรือทัศนคติเชิงลบ หรือการเลือกปฏิบัติต่อผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเฉพาะ  เช่น การมองว่าผู้สูงอายุเป็นภาระของครอบครัวและสังคม  ผู้สูงอายุเป็นผู้ต้องพึ่งพิงคนวัยแรงงาน  ผู้สูงอายุมีภาพลักษณ์ของความทรุดโทรมของสังขาร จนไม่สามารถเป็นผู้มีผลผลิตอีกต่อไป

    สังคมไทย ซึ่งได้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว และกำลังมีอายุเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ  จำเป็นต้องลดวยาคติต่อผู้สูงอายุให้เหลืออยู่น้อยที่สุด มิฉะนั้นสังคมผู้สูงอายุไทยในอนาคตจะยากที่จะดำรงอยู่ได้อย่างสันติสุข”

   ขอฝากไว้เท่านี้แหละครับ  สำหรับคำถามว่าเราจะเดินไปทางใดเมื่อคนไทยมีอายุยืนขึ้นๆ

“ไม่ต้องเติมเสริมต่อเยินยอแม่
  ไม่แสร้งแผ่เผยใจให้ใครเห็น
  รักเทิดทูนเท่านี้อย่างที่เป็น
  บูชาเช่นแม่พระประจำใจ”

ปราโมทย์ ประสาทกุล
  12  ส.ค. 55

Since 25 December 2012