ตัวตายแต่ชื่อยัง
ปราโมทย์ ประสาทกุล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 มีข่าวเล็กๆ แต่มีความหมายมากข่าวหนึ่งเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น เกี่ยวกับคุณปู่อายุ 111 ปี ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรว่าเป็นชายอายุมากที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ในญี่ปุ่น แต่ที่คุณปู่เป็นข่าวสั่นสะเทือนวงการศตวรรษิกชน (คนร้อยปี) และสังคมสูงวัยก็เพราะมีการเปิดเผยว่า คุณปู่เสียชีวิตไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน ศพของคุณปู่แห้งตายอยู่บนที่นอนโดย
ไม่มีใครรู้
การพบศพของคุณปู่รายนี้ ปลุกให้สังคมญี่ปุ่นลุกขึ้นมาตั้งคำถามว่า จำนวนศตวรรษิกชนญี่ปุ่นที่ว่ามีอยู่หลายหมื่นคนนั้นเชื่อถือได้แค่ไหน อาจจะมีคนอายุร้อยปีที่ยังมีชีวิตอยู่ตามทะเบียนแต่ความจริงตายไปนานแล้วเหมือนอย่างคุณปู่อีกก็ได้
ข่าวของคุณปู่ ทำให้ญี่ปุ่นเสียชื่อมากในเรื่องความเชื่อถือได้ของระบบข้อมูลทะเบียนราษฎรและการดูแลผู้สูงอายุ กรณีของคุณปู่ทำให้ต้องตรวจสอบข้อมูลผู้สูงอายุในทะเบียนราษฎรเป็นการใหญ่ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบรายชื่อของคนที่มีอายุ 105 ปีขึ้นไปตามทะเบียนราษฎร ซึ่งพบว่า มีอย่างน้อย 200 ราย ที่สูญหายไป มีอยู่รายหนึ่งพบชิ้นส่วนของศพผู้สูงอายุสตรีที่ประมาณว่าอายุ 104 ปี อัดอยู่ในกระเป๋าเสื้อผ้าของลูกชายมานานกว่าสิบปี
จากการตรวจสอบทะเบียนผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่ได้ดำเนินการหลังการพบศพคุณปู่ มีรายงานว่า ผู้สูงอายุจำนวนนับแสนคน ได้ “สูญหาย” ไป และในรายชื่อศตวรรษิกชนพบว่า หลายคนได้ตายไปแล้วโดยไม่มีีการจดทะเบียนตาย ชื่อของศตวรรษิกชนเหล่านั้นจึงยังคงค้างอยู่ในทะเบียน เสมือนว่ายังมีชีวิตอยู่
คำถามที่ตามมาเป็นชุดคือ เรื่องความเชื่อถือได้ของระบบทะเบียนราษฎรของญี่ปุ่น ประเทศที่มีชื่อเสียงในเรื่อง คนมีอายุยืนยาวที่สุดในโลก คำถามต่อมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบสวัสดิการยามชราของชาวญี่ปุ่น น่าสงสัยว่า จะมีครอบครัวชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย ทีไม่่ได้แจ้งจดทะเบียนการตายของผู้สูงอายุ ในครอบครัว ตัวอย่างเช่น ชายคนหนึ่งรับบำนาญของภรรยาเป็นเงินมากถึง 9.5 ล้านเยน ทั้งๆ ที่ภรรยาของเขาตายไปแล้วนานถึงหกปี
เรื่องนี้นำมาเทียบเคียงกับเรื่องทะเบียนศตวรรษิกชนและ ผู้สูงอายุของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ตามทะเบียนราษฎร ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2555 ประเทศไทยมีคนอายุร้อยปีขึ้นไปอยู่ประเทศเกือบ 2 หมื่นคน ตัวเลขนี้เชื่อถือได้หรือไม่ มีผู้สูงอายุอีกมากน้อยเท่าไรที่ตายแล้ว แต่ไม่มีใครไปจดทะเบียนการตาย จากการศึกษาของสถาบันวิจัยประชากรและสังคมพบว่า จำนวนศตวรรษิกชนที่มีอยู่จริงอาจเป็นเพียงประมาณร้อยละ 10 ของรายชื่อที่มีอยู่ในทะเบียนเท่านั้น ข้อมูลศตวรรษิกชนในทะเบียนราษฎรจำนวนมากรายงานอายุผิดพลาด และมีบุคคลจำนวนหนึ่งอยู่ในทะเบียนราษฎรเพียงชื่อ แต่ตัวตายไปแล้ว ตัวเลขผู้สูงอายุและศตวรรษิกชนที่เกินจริงเหล่านี้อาจเป็นช่องทางของการคอรัปชั่น และเป็นป่าช้าของผีที่จะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งก็ได้