รู้จัก “เหล่าเหนียนเหริน” ในแดนมังกร
ศุทธิดา ชวนวัน This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
“เหล่าเหนียนเหริน” (Laonian Ren) เป็นภาษาจีนที่หมายความถึง “ผู้สูงอายุ” แต่จะเรียกผู้ใดว่าเป็นผู้สูงอายุในจีนนั้นต้องดูให้ดีว่าเป็นเพศใด ผู้ชายจะใช้เมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นเกณฑ์ในการเรียกผู้สูงอายุและเมื่อเริ่มเกษียณ ในขณะที่ผู้หญิงจะเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุก่อนผู้ชาย ซึ่งแบ่งผู้หญิงออกเป็นสองกลุ่มคือ ผู้หญิงที่ทำงานในกลุ่มข้าราชการ จะเกษียณเมื่ออายุ 55 ปี ส่วนผู้หญิงที่เป็นกลุ่มลูกจ้าง จะเกษียณเมื่ออายุ 50 ปี ความแตกต่างของอายุเกษียณหรืออายุที่เรียกว่าเป็นผู้สูงอายุที่แตกต่างกันนี้ เนื่องจากรัฐบาลจีนให้ความสำคัญ และเห็นอกเห็นใจผู้หญิงที่ต้องมีหน้าที่ทั้งทำงานนอกบ้านพร้อมกับหน้าที่ในการดูแลครอบครัวไปด้วย ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงกำหนดให้ผู้หญิงเกษียณอายุก่อนผู้ชาย และออกจากการทำงานเพื่อมาดูแลครอบครัวเพียงอย่างเดียว
วันผู้สูงอายุของจีน หรือเทศกาลฉงหยาง ตรงกับวันที่ 9 เดือน 9 ตามปฏิทินจันทรคติของทุกปี สาเหตุที่เรียกว่า วันฉงหยาง เพราะ เลข 6 เป็นเลข “หยิน” ส่วน 9 เป็นเลข “หยาง” ดังนั้นวันที่ 9 เดือน 9 จึงเรียกว่า “ฉงหยาง” หรือ หยางคู่ หยางซ้อน นอกจากนี้ เลข 9 ในภาษาจีนอ่านออกเสียงว่า “จิ๋วจิ่ว” ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า “ยืนยาว” เป็นความหมายเดียวกับการมีอายุยืนยาวนั่นเอง ดังนั้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989 เป็นต้นมา ประเทศจีนจึงได้กำหนดให้ วันฉงหยางเป็น “วันผู้สูงอายุ”
เขตจิ้งอัน (Jing’an) เป็นเขตพื้นที่หนึ่งที่มีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มากที่สุดในเมืองซ่างไห่ (Shanghai) หรือคนไทยรู้จักกันดีว่า เมืองเซียงไฮ้ ของประเทศจีน ในเขตนี้มีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 8 หมื่นคนจากประชากรในซ่างไห่ 3 แสนกว่าคน และยังเป็นเขตที่มีศตวรรษิกชนมากเป็นอันดับหนึ่งอีกด้วย นอกจากนี้เขตจิ้งอันยังประสบความสำเร็จในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ในปี ค.ศ. 2010 เขตจิ้งอันได้ถูกพัฒนาให้เป็นเขตตัวอย่างในการดูแลผู้สูงอายุ โดยทดลองนำร่องที่หมู่บ้านสานเป่ย และสร้าง “บ้านแสนสุข” หรือ “Home care” สำหรับผู้สูงอายุขึ้น มีผู้สูงอายุจำนวนมากกว่า 50 คน มาทำกิจกรรมร่วมกันในบ้านแสนสุขในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารร่วมกัน จิบน้ำชา พูดคุย นั่งดูโทรทัศน์ ร้องเพลง เล่นไพ่นกกระจอก รวมถึงมีสถานที่สำหรับการนอนกลางวัน หรือห้องน้ำสำหรับอาบน้ำ ตกเย็นผู้สูงอายุแต่ละคนก็จะเดินกลับบ้าน และวันรุ่งขึ้นก็จะเดินมาบ้านแสนสุขนี้ด้วยตัวเอง นอกจากจะมีบริการดูแลผู้สูงอายุที่อาศัยตามลำพังในเรื่องของความปลอดภัยแล้ว ยังมีการบริการด้านอาหารแก่ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพน้อย สำหรับผู้สูงอายุที่พอจะมีกำลังจ่ายไหว จะสามารถรับบริการอาหารกลางวันได้โดยผ่านบัตรประจำตัวผู้สูงอายุ ซึ่งจะต้องมีการเติมเงินเข้าไปในบัตรเช่นเดียวกับบัตรคูปองอาหารในห้างสรรพสินค้า เมื่อมีการสั่งอาหารแต่ละครั้ง เงินในบัตรก็จะลดลงไป ดังนั้น “บ้านแสนสุข” จึงถูกยกย่องให้เป็นชุมชนต้นแบบที่มีการดูแลผู้สูงอายุในประเทศจีนที่ดีมานานติดต่อกันหลายปีแล้ว
สิ่งสำคัญที่ทำให้บ้านแสนสุขนี้ได้รับรางวัลต้นแบบการดูแลผู้สูงอายุ นั่นคือ การได้รับความรัก และการดูแลเป็นอย่างดีจากผู้ดูแลประจำ หรือเจ้าหน้าที่ประจำบ้านแสนสุข ซึ่งพวกเขาเหล่านี้มีความทุ่มเท และทำงานด้วยใจรัก เสมือนว่าผู้สูงอายุกลุ่มนี้เป็นพ่อแม่ของตน ซึ่งจากการสอบถามผู้สูงอายุก็ได้คำตอบว่า พวกเขารู้สึกมีความสุข และรู้สึกอบอุ่นที่ได้มาบ้านแสนสุขนี้ทุกวัน ได้พบเพื่อน ได้พูดคุยกัน และทำให้คลายความเหงา
“เหล่าเหนียนเหริน” ในแดนมังกรยังไม่จบเท่านี้ ติดตามได้ต่อในฉบับต่อไปว่าจะมีเรื่องราวอะไรที่น่าสนใจเกี่ยวกับผู้สูงอายุในจีนอีก แล้วพบกันค่ะ