เวทีวิจัยประชากรและสังคม

จีนสั่งให้ลูกดูแลพ่อแม่

จงจิตต์ ฤทธิรงค์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ปีนี้ (ค.ศ. 2013) จีนได้บังคับใช้กฎหมายใหม่ ให้ลูกกลับมาเยี่ยมพ่อแม่ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปให้บ่อยครั้ง และดูแลให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและจิตใจตามที่พ่อแม่ต้องการ มิฉะนั้นพ่อแม่มีสิทธิ์ฟ้องลูกตัวเองเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ที่พวกเขาพึงจะได้จากลูก แม้หลายคนยังคิดว่ากฎหมายนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าการไปเยี่ยมพ่อแม่จะต้องบ่อยแค่ไหน แต่หลังจากที่กฎหมายใหม่นี้มีผลบังคับใช้ ก็มีกรณีตัวอย่างการฟ้องร้องระหว่างแม่วัย 77 ปี และลูกสาวที่ทอดทิ้งเธอ ผลการตัดสินของศาล มีคำสั่งให้ลูกสาวต้องมาเยี่ยมแม่อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง และให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน

เมื่อได้อ่านข่าวนี้แล้วทำให้ต้องกลับมาคิดว่า เกิดอะไรขึ้นกับสังคมจีน ที่มีวัฒนธรรมเคร่งครัดในเรื่องการดูแลพ่อแม่เพื่อทดแทนบุญคุณ ประเทศจีนใช้นโยบายลูกคนเดียวมาตั้งแต่ปี 1970 และเมื่อลูกๆ ชาวจีนที่เป็นผลจากนโยบายนี้เติบโตขึ้นในสังคมที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จำนวนมากได้ย้ายออกไปทำงานในเมืองใหญ่และทุ่มเทเวลาให้กับงาน คนรุ่นใหม่เหล่านี้ส่วนใหญ่ทำงานหนัก บางคนมีวันหยุดเพียงครั้งเดียวในรอบปี คือ วันตรุษจีน หรือ วันปีใหม่ ทำให้พวกเขาไม่สามารถกลับมาเยี่ยมพ่อแม่ได้บ่อยนัก นโยบายลูกคนเดียวทำให้เด็กในแต่ละครอบครัวไม่มีพี่น้อง เพื่อผลัดเปลี่ยนกันดูแลพ่อแม่เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ในฐานะลูกคนเดียวของพ่อแม่จึงต้องแบกรับภาระนี้ไว้เพียงผู้เดียว

สถานการณ์ประชากรในประเทศจีนกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ ไม่แตกต่างไปจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในปี 2011 ประเทศจีนมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 185 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 221 ล้านคนในปี 2015 ภายในปี 2050 ประชากรหนึ่งในสามของจีนจะเป็นผู้สูงอายุ จำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็วนี้ กอรปกับที่จีนยังไม่มีระบบสวัสดิการเพื่อดูแลผู้สูงอายุอย่างเพียงพอ ทำให้ทางการจีนมีความกังวลเรื่องการดูแลผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น กฎหมายใหม่นี้จึงเกิดขึ้นเพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงสังคม  และรักษาประเพณีการดูแลพ่อแม่สูงอายุให้เป็นหน้าที่ของลูกต่อไป

ค่านิยมของจีนที่ฝังรากลึกมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานเรื่องการทดแทนบุญคุณและการดูแลพ่อแม่เมื่อเข้าสู่วัยชรา กำลังจะเปลี่ยนไป เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ทำให้สังคมแบบดั้งเดิมเข้าสู่สังคมสมัยใหม่อย่างรวดเร็ว พ่อแม่ส่วนหนึ่งต้องการเห็นความสำเร็จในหน้าที่การงานของลูก เพราะพวกเขาได้ลงทุนให้การศึกษาแก่ลูก จึงไม่ต้องการให้ลูกของพวกเขากลับมาอยู่ในเมืองเล็กๆ และไม่ต้องการจะเป็นภาระแก่ลูก พ่อแม่กลุ่มนี้จึงคิดว่ากฎหมายใหม่นี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกถูกบิดเบือนไป

ความคิดเห็นของพ่อแม่ชาวจีนไม่ได้แตกต่างไปจากพ่อแม่คนไทยเท่าใดนัก จากผลการศึกษาเครือข่ายผู้สูงอายุใน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการย้ายถิ่นสูง เมื่อช่วงสงกรานต์ปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า พ่อแม่อายุ 60 ปีขึ้นไป รักและคิดถึงลูก ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ลูกมาอยู่ด้วยกันใกล้ๆ แต่พวกเขาเข้าใจเป็นอย่างดีว่า เป็นไปได้ยาก เพราะลูกต้องไปทำงาน ดูแลครอบครัว และไม่อยากเป็นภาระแก่ลูก คำพูดของหญิงสูงอายุคนหนึ่งที่ร่วมสนทนากลุ่มกล่าวว่า เธอมีความกังวลใจหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ เรื่องที่ลูกต้องเดินทางไปทำงานที่อื่น“ลูกไปหาเงินไกลๆ อยากให้กลับมาอยู่กับแม่ คิดอยู่อย่างนี้ เวลาที่ลูกไปทำงานกรุงเทพ เวลาลูกออกไปทำงานที่อื่น ยายกลุ้มใจ คิดถึงลูก อยากให้ลูกมาอยู่ใกล้ๆ แต่ว่ามันไม่ได้ เพราะว่าเงินไม่มี ก็ต้องหา ก็คิดอยู่อย่างนั้น”

หากมองแบบให้กำลังใจรัฐบาลจีนที่มีเจตนาดี สร้างกฎหมายเพื่อรักษาประเพณีการดูแลพ่อแม่ แต่ความรักและความผูกพันน่าจะช่วยรักษาความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูกได้อย่างเป็นธรรมชาติ และน่าจะได้ผลดีและยั่งยืนมากกว่าการบังคับใช้กฎหมาย เพราะไม่นานการดูแลพ่อแม่อาจจะถูกมองว่าเป็นเพียงหน้าที่ ลูกสามารถให้ความช่วยเหลือด้านการเงินได้ แต่ด้านจิตใจคงให้ไม่ได้ด้วยเงิน หรือการบังคับ

เมื่อดูเขาแล้วจึงกลับมาดูเรา ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้วตั้งแต่ปี 2005 (มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 7) และจากการสังเกตผู้คนที่ย้ายมาจากต่างจังหวัด ก็เห็นว่า  พวกเขามักจะกลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ส่วนคนบ้านไกลก็จะกลับในวันหยุดยาว ทำให้ใจชื้นขึ้นมาว่า คนไทยยังมีค่านิยมที่รักและเทิดทูนบุพการี อีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 20) หวังว่าเมื่อถึงเวลานั้น รัฐบาลไทยคงไม่ต้องออกกฎหมายเพื่อบังคับให้ลูกต้องกลับไปเยี่ยมพ่อแม่เหมือนที่เกิดขึ้นกับประเทศจีน

ที่มา http://edition.cnn.com/2013/07/02/world/asia/china-elderly-law/index.html

Since 25 December 2012