รางวัลอีกโนเบล

ลักษณนาม

วรชัย ทองไทย This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ภาษาเป็นองค์ประกอบสำคัญของการดำรงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ในสังคมดั้งเดิมที่ความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อน ภาษาที่ใช้เพื่อการสื่อสารก็จะง่ายตามไปด้วย คือ มีคำใช้ไม่มากนัก และมีเพียงภาษาพูดเท่านั้น เมื่อสังคมเจริญก้าวหน้า ภาษาก็เจริญงอกงาม คำพูดที่ใช้ก็เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ และภาษาเขียนก็เกิดขึ้น

            เนื่องจากภาษาเป็นสื่อของความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ ภาษาจึงแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม เช่น สังคมเกษตรย่อมมีคำศัพท์เกี่ยวกับพืช สัตว์ การเพาะปลูก และการเลี้ยงสัตว์ ส่วนสังคมอุตสาหกรรมมีคำศัพท์มากเกี่ยวกับเครื่องยนต์กลไกและการผลิต สังคมชนบทมีคำที่ใช้ในเรื่องธรรมชาติและการช่วยเหลือเกื้อกูลมาก ส่วนสังคมเมืองมีคำที่ใช้มากในเรื่องธุรกิจและการแข่งขัน เป็นต้น เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป ภาษาก็ย่อมเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ในทางกลับกัน ภาษาก็อาจเป็นตัวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้เช่นกัน

            ปัจจุบัน เทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเทอร์เน็ต ทำให้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาสากลในโลกอินเทอร์เน็ต ซึมแทรกเข้ามาในภาษาไทยมากขึ้น ยิ่งกว่านั้น การส่งข้อความผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ที่มีเนื้อที่จำกัด ทำให้คำบางคำถูกย่อให้สั้นลง หรือเปลี่ยนตัวสะกด บางคำก็ถูกตัดทิ้งไป และมีบางคำเกิดขึ้นใหม่ แต่คำศัพท์กลุ่มหนึ่งอาจสูญหายไป นั่นคือ “ลักษณนาม”

            จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ลักษณนาม คือ “คํานามที่แสดงลักษณะของสิ่งต่างๆ เช่น คน 3 คน แมว 2 ตัว ขลุ่ย 3 เลา ลูกคนโต หมวกใบใหญ่” จะเห็นได้ว่า ลักษณะมี 2 ประเภทคือ ประเภทแรกเกี่ยวกับจำนวนหรือปริมาณของสิ่งนั้นๆ ได้แก่ คน 3 คน แมว 2 ตัว และขลุ่ย
3 เลา ซึ่งคน ตัว และเลา เป็นลักษณนามของคน แมว และขลุ่ย ตามลำดับ ประเภทที่สองเกี่ยวกับรูปร่างลักษณะ ได้แก่
ลูกคนโต และหมวกใบใหญ่ ซึ่งคนและใบ เป็นลักษณะนามของลูก และหมวก ตามลำดับ โดยทั่วไป เรามักจะนึกถึงลักษณนาม
ในความหมายแรก ซึ่งเกี่ยวกับจำนวน

            เพราะภาษาอังกฤษไม่มีลักษณนาม จึงเริ่มต้นด้วยจำนวนและตามด้วยคำนาม ดังเช่น แมว 2 ตัว ในภาษาไทย ก็จะเป็น 2 แมว ในภาษาอังกฤษ หรือขลุ่ย 3 เลา ในภาษาไทย ก็จะเป็น 3 ขลุ่ย ในภาษาอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งเรามักจะได้ยินหรือได้อ่านคำเช่นนี้บ่อยครั้งขึ้น เช่น 7 นาวิกโยธิน หรือ 5 วุฒิสมาชิก เป็นต้น

            การเลิกใช้ลักษณนามนี้ ผู้เลิกใช้อาจคิดว่าเท่ห์ หรืออาจเป็นเพราะความมักง่าย เห็นแก่ความสะดวกเข้าว่า หรือเพราะความเกียจคร้าน ไม่อยากค้นคว้าหรือจดจำลักษณนามที่ถูกต้องก็ได้ แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ย่อมไม่เป็นผลดีต่อภาษาไทย

            สังคมไทยได้รับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมาเกือบทุกอย่าง  ตั้งแต่อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ทุนนิยม บริโภคนิยม การเมือง การทหาร การศึกษา ฯลฯ ก็คงเหลือภาษาไทยที่เป็นปราการด่านสุดท้าย จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ที่ต้องช่วยกันรักษาภาษาไทยไว้

ผู้ที่ต้องการใช้ลักษณนามที่ถูกต้อง สามารถเปิดดูได้จากเว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสถาน คือ www.royin.go.th

            สำหรับภาษาอังกฤษก็มีการใช้ผิดอยู่บ่อยๆ เหมือนกัน จนทำให้เกิดสมาคมปกป้องภาษาขึ้น ได้แก่ สมาคมปกป้องเครื่องหมายวรรคตอน (The Apostrophe Protection Society) ในประเทศอังกฤษ ซึ่งก่อตั้งโดย จอนห์ ริชาด (John Richards) อดีตนักหนังสือพิมพ์และผู้ช่วยบรรณาธิการ ที่หงุดหงิดกับการใช้เครื่องหมายวรรคตอนที่ไม่ถูกต้อง ครั้นเมื่อเกษียณแล้ว จึงได้จัดตั้งสมาคมนี้ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2554 โดยมีพันธกิจที่จะอนุรักษ์ความถูกต้องของการใช้เครื่องหมายวรรคตอนที่เขียนในภาษาอังกฤษ (ดูวิธีการใช้ที่ถูกต้องได้ที่เว็บไซต์ของสมาคม คือ www.apostrophe.org.uk)

            เพราะคนทุกคนเป็นเจ้าของภาษา แต่ละคนจึงต้องมีหน้าที่ ที่จะต้องรักษาความถูกต้องของภาษาตนเองด้วย โดยต้องรู้ว่า ภาษาที่ถูกต้องเป็นอย่างไร และจะหลีกเลี่ยงไม่ให้ใช้ผิดอย่างไร สิ่งที่สมาคมฯ ได้ทำก็คือ โพสต์ภาพถ่ายของการใช้เครื่องหมายวรรคตอนที่ไม่ถูกต้องบนเว็บไซต์ และสนับสนุนให้ผู้อ่านร่วมส่งรูปถ่ายเพื่อขึ้นบนเว็บไซต์ด้วย ปัจจุบันมีรูปภาพบนเว็บไซต์มากกว่า 350 รูป จากทั่วทุกมุมโลก

            ผู้ที่เข้าไปดูรูปภาพเหล่านี้ มักจะขำก่อน แล้วจึงได้ฉุกคิด สมกับเจตนารมณ์ของรางวัลอีกโนเบล จึงมีผลให้ John Richards ได้รับรางวัลอีกโนเบล สาขาวรรณคดี ในปี พ.ศ. 2544

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับงานวิจัยที่ทำให้ “ขำ” ก่อน “คิด”

Since 25 December 2012