ประเด็นประชากรที่น่าสนใจ

เพิ่มปีแห่งชีวิตที่มีคุณภาพ

มนสิการ กาญจนะจิตรา This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

เป็นเรื่องน่ายินดี ที่ประเทศไทยรวมถึงหลายๆ ประเทศทั่วโลก มีแนวโน้มอายุคาดเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เพราะความยืนยาวของชีวิต เป็นสิ่งที่เรามักนำมาผูกกับสุขภาพของคนในประเทศนั้น

            แต่ก่อนที่เราจะวางใจกับความสำเร็จจากความก้าวหน้าทางสาธารณสุขของโลก เราควรที่จะต้องพิจารณาให้ดีด้วยว่าจำนวนปีของชีวิตที่ได้เพิ่มขึ้นมานั้น เป็นปีที่อยู่อย่างมีคุณภาพหรือไม่

            นั่นคือ เราไม่ควรดูเพียงที่อายุคาดเฉลี่ยเพียงอย่างเดียว เพราะอายุคาดเฉลี่ยสะท้อนเพียงแค่จำนวนปีที่คนคนหนึ่งจะมีชีวิตอยู่ได้โดยเฉลี่ย แต่ไม่ได้ดูว่า จำนวนปีที่มีชีวิตอยู่นั้นเป็นอย่างไร

            หากจำนวนปีที่มีชีวิตอยู่ได้เพิ่มขึ้นมาจากการมีอายุคาดเฉลี่ยที่สูงขึ้น กลับกลายเป็นช่วงที่ต้องอยู่อย่างลำบากยากเข็ญ เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ความพิการ และข้อจำกัดต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ อายุคาดเฉลี่ยที่ได้เพิ่มขึ้นมาก็อาจดูไม่มีความหมายมากนัก

            เพราะฉะนั้น เราจะทำอย่างไรที่จะส่งเสริมให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพทั้งกายและใจที่ดี ได้อย่างยาวนานที่สุด นั่นคือ เราจะทำอย่างไร ที่จะเพิ่มจำนวนปีแห่งชีวิตที่มี “คุณภาพ”

            ดังนั้น หากอายุคาดเฉลี่ยไม่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงการมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพได้ จึงจำเป็นต้องหาตัวชี้วัดตัวใหม่ขึ้นมา ที่จะนำมิติทางด้านคุณภาพของชีวิตมาคำนวณด้วย ตัวชี้วัดตัวหนึ่ง คือ อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี (Health Adjusted Life Expectancy หรือ HALE) ซึ่งเป็นการปรับอายุคาดเฉลี่ยที่คำนวณได้ตามตารางชีพ ให้เป็นปีเฉลี่ยที่มีชีวิตอยู่ตามระดับสถานะสุขภาพในแต่ละช่วงชีวิต โดยมีการให้น้ำหนักที่มีค่าตั้งแต่ 1 ซึ่งหมายถึงการมีสุขภาพสมบูรณ์ที่สุด ไปจนถึง 0 ซึ่งหมายถึงการตาย

            เพราะฉะนั้น ถ้าหากประชากรมีสุขภาพที่สมบูรณ์จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต อายุคาดเฉลี่ยและอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีจะเท่ากัน แต่หากประชากรไม่ได้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ที่สุดตลอดช่วงชีวิต อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีจะมีค่าต่ำกว่าอายุคาดเฉลี่ย จึงจะเห็นได้ว่า ยิ่งความแตกต่างระหว่างสองตัววัดนี้มีมากเท่าไหร่ จำนวนปีที่ประชากรต้องอยู่กับความเจ็บป่วย หรือความพิการจะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

            สำหรับประเทศไทย คณะทำงานศึกษาภาระโรคและปัจจัยเสี่ยง ของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ  กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของชายไทยในปี พ.ศ. 2552 อยู่ที่ 71 ปี ในขณะที่อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีอยู่ที่ 65 ปี นั่นหมายความว่า ชายไทยจะมีช่วงเวลาที่อยู่อย่างมีสุขภาพดีโดยเฉลี่ย 65 ปี และอีก 6 ปีที่เหลือนั้น จะอยู่โดยมีสุขภาพที่ไม่สมบูรณ์
สำหรับหญิงไทย ช่วงเวลาที่จะมีชีวิตอยู่โดยมีสุขภาพที่ไม่สมบูรณ์นั้นจะสูงยิ่งกว่าเพศชาย คือประมาณ 9 ปี ด้วยอายุคาดเฉลี่ยที่ 77.5 ปี และอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีที่ 68.1 ปี

            นโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศ จึงไม่ควรจะพึ่งตัวชี้วัดด้านอายุคาดเฉลี่ยเพียงอย่างเดียว เพราะหากเราลองนึกดูเล่นๆ ว่า ถ้าอายุคาดเฉลี่ยของประเทศไทยเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แต่อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีไม่เพิ่มขึ้นตามประชากรของประเทศเราจะเป็นอย่างไร การที่เราต่อชีวิตประชากรให้ยืนยาวขึ้น แต่ไม่ได้ให้สุขภาพที่ดีแถมไปด้วย เป็นสิ่งที่เราต้องการหรือไม่

            ดังนั้น อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเราก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ เพราะถึงแม้เราจะมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น แต่ถ้าหากผู้สูงอายุเหล่านี้สามารถอยู่อย่างมีสุขภาพที่ดี ปัญหาทั้งหลายที่เราคาดว่าจะตามมาจากการเป็นสังคมสูงอายุจะบรรเทาลงเป็นอย่างมาก

            ส่วนแนวทางต่างๆ ในการช่วยเพิ่มอายุคาดเฉลี่ยอย่างมีสุขภาพที่ดีนั้น จะทำอย่างไรได้บ้าง ต้องขออนุญาตยกไปพูดคุยกันในฉบับหน้าค่ะ

Since 25 December 2012