วัยใส ใส่ใจทำดี

กมลชนก ขำสุวรรณ
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ในช่วงเวลาชีวิตของการเป็น “วัยรุ่น” ผู้เขียนเชื่อว่าเราทั้งหลายต่างก็เคยมีพฤติกรรมเหล่านี้ ทั้ง แก่น เซี้ยว เกรียน กวนประสาท เกเร ซึ่งในบางครั้งก็น่ารัก เรียบร้อย..วัยรุ่น ในที่นี้ หมายถึง ช่วงวัยที่อายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์นับเป็นวัยที่มีพลังแฝงแห่งพฤติกรรมว้าวุ่น สารพัดรูปแบบอารมณ์และการแสดงออกที่จะมีได้ ปัจจุบันเรามีประชากรวัยรุ่นประมาณ 22 ล้านคน หรือ ร้อยละ 35 ของประชากรทั้งประเทศ1 ซึ่งนับเป็นกลุ่มประชากรสำคัญที่มีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต ขณะที่สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ สวนทางกับอัตราเกิดที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงทางประชากร เศรษฐกิจ และสังคม ส่งผลให้เด็กและเยาวชนวัยใส ต้องเผชิญกับปัญหาและความเสี่ยงในหลายเรื่อง ที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต คุณภาพประชากร และสังคม รวมถึงสมรรถนะเพื่อการแข่งขันของประเทศ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพของเด็กและเยาวชนวัยใส มักถูกนำเสนอในภาพลบอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องปัญหายาเสพติด การใช้ความรุนแรง ติดเกม ติดการพนัน พฤติกรรมมั่วสุม เพศสัมพันธ์ในวัยเรียนหรือก่อนวัยอันควร ขาดจิตสำนึกและความรับผิดชอบ ตลอดจนการเรียกร้องความสนใจจากสังคมอย่างไม่เหมาะสม2 แม้หลายภาคส่วนทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้แต่ภาคธุรกิจ จะให้ความสำคัญและดำเนินการพัฒนา ป้องกัน แก้ไข บำบัด และฟื้นฟู ในทุกระดับตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติ แต่ดูเหมือนแนวโน้มสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่ลดลงเท่าที่ควร
การศึกษาติดตามและประเมินผลโครงการด้านการพัฒนาส่งเสริมศักยภาพเด็กและเยาวชน ของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) จำนวน 12 โครงการในช่วงปีที่ผ่านมา ให้ข้อค้นพบว่า ศักยภาพของเด็กและเยาวชน ไม่ได้วัดจากการสอบแข่งขันเพียงด้านเดียว แต่สามารถวัดจากการเข้าร่วมกิจกรรมนอกหลักสูตร ที่ก่อให้เกิดประสบการณ์นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน อันเป็นประโยชน์ในการทำงานในอนาคต อาทิ การรู้จักแบ่งเวลาการทำงาน การได้ฝึกทำงานกับผู้คนจำนวนมาก การทำงานเป็นทีม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนวัยใสที่เป็นแกนนำหรือผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ก็ได้มีโครงการและกิจกรรมที่หลากหลายเกิดขึ้นเพื่อมุ่งเน้นให้วัยใสได้เข้ามามีส่วนร่วมทำกิจกรรมที่ดีให้กับสังคม เช่น กิจกรรมการดูแลเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส หรือการให้ความรู้ในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น

ศักยภาพที่เกิดจากประสบการณ์ต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เด็กและเยาวชนจะสามารถซึมซับทีละเล็กทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว และไม่สามารถประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้ แต่วัยใสทุกคนจะรู้ถึงประโยชน์ที่ได้ตรงนี้เมื่อจบการศึกษาและเริ่มออกไปทำงาน การเข้าร่วมทำกิจกรรมทางสังคมจึงเป็นการปลูกฝังเจตนารมณ์ของเด็กและเยาวชนวัยใส ให้รู้สึกห่วงใยต่อสังคม ต้องการตอบแทนคุณต่อสังคม เจตนารมณ์นี้จะซึมซับติดตัวไปกับเด็กและเยาวชน จนสำเร็จการศึกษาไปเป็นบัณฑิต ประกอบอาชีพ และทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดีของสังคมและประเทศชาติต่อไป

สังคมไทยควรตระหนักถึงมุมมองของเด็กและเยาวชนที่ต้องการให้มีการนำเสนอเรื่องราวของเด็กและเยาวชนวัยใส
ในมุมบวกที่มากขึ้น วัยใสพร้อมที่จะบอกเล่าตัวตน ให้สังคมได้รับรู้ภาพลักษณ์ที่งดงาม ให้มองเห็นว่าวัยใสมีคุณค่าในตัวเอง วัยใสทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม ไม่ใช่มองแค่เพียงว่า “เด็กและเยาวชน คือปัญหาที่รอการแก้ไข”

โดยธรรมชาติแล้วเด็กและเยาวชนเป็นวัยที่มีพลังและมีความสร้างสรรค์ในตัวเองเกินกว่าที่จะคาดเดาได้ การที่เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมทางสังคม หรือกิจกรรมนอกหลักสูตร นอกเหนือจากการเรียนรู้ในห้องเรียน เป็นการเพิ่มศักยภาพของวัยใสเอง และ เป็นการติดอาวุธให้วัยใสพร้อมต่อสู้ในโลกของการทำงานจริง รวมถึง ได้ซึมซับความรู้ความเข้าใจด้านคุณธรรมจริยธรรม จากตัวอย่างที่ดีต่างๆ ผ่านการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง การมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมทางสังคม จึงเป็นกระบวนการสำคัญและจำเป็นที่สุด ที่จะทำให้เด็กและเยาวชนเข้าใจและปฏิบัติตามแนวคิดเหล่านี้ได้อย่างแท้จริง การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวจะช่วยให้เด็กเห็นคุณค่าของตนเอง สามารถเข้าใจหลักการปฏิบัติตนที่ดีต่อผู้อื่น และต่อสังคมได้ ทั้งนี้การทำกิจกรรมต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงจะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรม

แม้การทำกิจกรรมจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของเด็กและเยาวชนวัยใสในหลายเหตุผล อย่างไรก็ตาม พ่อแม่
ครู-อาจารย์ ในหลายครอบครัวและในสังคมกลับยังคงมีมุมมองว่า การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน ควรมุ่งเน้นไปที่เรื่องการศึกษา ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรฐานการศึกษาปัจจุบันที่ใช้ “คะแนน” เป็นตัวชี้วัดในทุกระดับ เด็กที่ทำกิจกรรมกลับถูกมองจากผู้ปกครองว่าจะเสียการเรียน และเป็นกังวลว่าจะสอบได้คะแนนน้อย สอบเลื่อนชั้น สอบเข้าเรียนต่อ หรือสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ในยุคที่เด็กเกิดน้อย แต่ผู้ใหญ่ต้องการให้มีคุณภาพสูง เด็กจำนวนมากจึงหมดเวลาไปกับการเรียนกวดวิชามากกว่าการได้เรียนรู้ชีวิตจากการทำกิจกรรมทางสังคม ความแตกต่างของมุมมองนี้จากสมาชิกในครอบครัวและจากสังคม จึงเป็นข้อจำกัดตั้งแต่จุดเริ่มต้นต่อกลุ่มวัยใสที่ใส่ใจการทำกิจกรรมดี เพื่อพัฒนาตัวเอง

ในปัจจุบัน แม้จะมีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนตั้งแต่ระดับชาติลงไปจนถึงระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพตนเอง แต่การจัดกิจกรรมที่ผ่านมายังคงทำได้ไม่เต็มที่ แม้ว่าจะมีหน่วยงานที่ทำงานด้านเด็กทั้งภาครัฐ เอกชนและองค์กรเอกชนจำนวนมาก แต่ยังขาดการประสานงานกันอย่างจริงจังในการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน มีการประสานเชื่อมโยงกันอย่างหลวมๆ เครือข่ายการทำงานยังเป็นสมาชิกกลุ่มเดิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ในขณะที่กลุ่มที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ห่างไกล ยังไม่ค่อยได้มีส่วนร่วม กลไกในการประสานงานยังคงใช้รูปแบบที่ไม่เป็นทางการ ส่วนใหญ่อาศัยบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันเป็นส่วนตัว ซึ่งทำให้ จำนวนสมาชิกมีค่อนข้างจำกัด และทำให้งานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนมีความเข้มแข็งอยู่ในระดับจังหวัดเท่านั้น

ทั้งหมดที่กล่าวมา อาจมีประเด็นสำคัญอื่นๆ อีกมากที่ยังไม่ได้กล่าวถึง แต่สิ่งสำคัญของเรื่องนี้ คือความพยายามที่จะนำเสนอเรื่องราวของวัยใสใส่ใจทำดีท่ามกลางข้อจำกัดต่างๆ ของสังคม เพื่อเชิญชวนให้ผู้เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ ทำการส่งเสริมประชากรวัยใสให้หันมาใส่ใจทำกิจกรรมดีดีให้กับสังคม และช่วยกันลดข้อจำกัดต่างๆ ของการทำกิจกรรม โดยสิ่งที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ ไม่ได้มีเจตนาจะเปรียบเทียบว่า “เก่งด้านวิชาการ” หรือ “เก่งด้านกิจกรรม” อะไรดีกว่ากัน เพียงแต่ต้องการถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์จริงในการถอดบทเรียนข้อมูลเด็กและเยาวชนที่ทำกิจกรรม เพื่อเสนอให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการวัดหรือประเมินศักยภาพของเด็กและเยาวชนวัยใส นอกเหนือจากการสอบแข่งขันวัดผลกัน
ที่คะแนนเท่านั้น

“เด็กที่เรียนอย่างเดียว ก็อาจจะได้แค่เกรดสวยหรู
เด็กที่เล่นอย่างเดียว ก็อาจจะเรียนไม่จบ
เด็กที่รู้จักทั้งเรียนและเล่นอย่างสมดุล
ก็จะประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างแน่นอน”

เอกสารอ้างอิง
1 เว็บไซต์ : กรมการปกครอง, 2556
2 สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ. (2556). รายงานการพัฒนาเด็กและเยาวชนประจำปี 2554.
สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ ร่วมกับคณะอนุกรรมการจัดทำรายงานการพัฒนาเด็กและเยาวชน ในคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ

 

Since 25 December 2012