การฟื้นตัวของชาวเชียงรายหลังแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในไทย

อมรา สุนทรธาดา  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

     เหตุการณ์เมื่อ 5 พฤษภาคม 2557 จะเป็นวันแห่งความทรงจำของชาวเชียงรายถึงความสูญเสียและผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตที่ต้องอาศัยเวลา งบประมาณ รวมทั้งความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อการฟื้นฟูพื้นที่และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ บริเวณที่เสียหายหนักที่สุดคือ อำเภอแม่ลาว อำเภอพาน และอำเภอแม่สรวย แผ่นดินไหวครั้งนี้ วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 6.7 ริคเตอร์ นับเป็นความรุนแรงที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทย และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน แรงสั่นสะเทือน 4.6 ริคเตอร์ผลจากภัยธรรมชาติครั้งนี้ทำให้พื้นที่ 7 อำเภอ ได้รับความเสียหาย มีผู้บาดเจ็บ 107 ราย และเสียชีวิต 1 ราย บ้านเรือนเสียหาย 11,173 หลัง วัด 151 แห่ง โบสถ์คริสต์  9 แห่ง โรงเรียน 123 แห่ง สถานบริการสาธารณสุข 44 แห่ง และสถานที่ราชการ 8 แห่ง ประเมินมูลค่าความเสียหายครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 860 ล้านบาท

ณ วันนั้นถึงปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในชุมชน ดงลานโมเดล เป็นการรวมกลุ่มกันระหว่างประชาชนในตำบลบ้านดงลาน อำเภอพาน หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงที่สุด และผู้เกี่ยวข้อง เช่น อบต. ผู้นำชุมชน พระ ผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วน รวมตัวกันเพื่อกำหนดแผนการฟื้นฟูชุมชน โดยยึดหลักช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนมากที่สุดก่อน เช่น การซ่อมสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราวเท่าที่จำเป็นตามความเร่งด่วน สร้างกลุ่มอาสามาช่วยลงแรงกัน ชุมชนมีคำขวัญเพื่อเป็นกำลังใจให้กันและกันว่า เชียงรายไหวแต่ไม่หวั่นและต้องลุกขึ้นมาช่วยชุมชนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนการช่วยเหลือภายนอกจากส่วนราชการ อาจต้องใช้เวลาและมีขั้นตอนตามระเบียบราชการ แต่มิได้ลดความสำคัญแต่อย่างไร เพียงตั้งเป้าหมายว่าชุมชนต้องช่วยชุมชนก่อนแทนที่จะรอความช่วยเหลือจากภายนอก

น้ำใจจากเพื่อนนอกชุมชน

ภารกิจเพื่อการฟื้นฟูด้านกายภาพและกำลังใจ วันที่ 6-10 พฤษภาคม หน่วยอาสาสมัครเคลื่อนที่เร็วเครือข่ายจัดการภัยพิบัติพื้นที่ภาคใต้ จากจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีประสบการณ์ภาคสนามจากสึนามิ เดินทางเข้าพื้นที่ ตำบลทรายขาว อำเภอพาน เพื่อสร้างบ้านพักชั่วคราว ได้เสร็จ 3 หลัง ด้วยการประสานแผนกับชาวบ้านในพื้นที่ ใครมีแรงช่วยแรง ใครมีปัจจัยอื่นๆ เพื่อจัดซื้อวัสดุก่อสร้างก็รวมทุนกันมาช่วยเหลือ ในที่สุดผลงานก็สำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายใว้ ไม่ใช่เพียงได้้เห็นบ้านพักชั่วคราวสร้างเสร็จเท่านั้น แต่ชาวชุมชนตำบลทรายขาวได้เรียนรู้การถอดบทเรียนจากคณะอาสาสมัคร เพื่อเตรียมความพร้อมกับภัยธรรมชาติที่อาจหวนคืนมาอีก

บทบาทสื่อที่เกาะติดสถานการณ์ ทำให้สามารถติดตามข่าวความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมชาติได้อย่างต่อเนื่อง เช่น สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสที่เสนอรายการทันต่อสถานการณ์ทราบความเปลี่ยนแปลงหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนการเชิญชวนให้สังคมมีส่วนในการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวเชียงรายโดยการบริจาคเงิน ความช่วยเหลือลักษณะนี้เป็นมาตรฐานสากลที่ควรให้ความร่วมมืออย่างยิ่ง

สื่อลักษณะอื่นๆ เปิดตัวอีกมากมายเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เช่น Thai Quake มีจุดมุ่งหมายเรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับภัยธรรมชาติ การปฎิบัติตนเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบกระทันหัน ข้อควรปฎิบัติต่างๆเพื่อให้ปลอดภัยหรือลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด ปัจจุบันมีผู้สนใจจำนวนมากที่เข้าดูหรือการส่งข้อความถึงกันในกลุ่มนักท่องเว็บ เรียกได้ว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากสื่อช่องทางนี้เพิ่มความรู้ให้ตนเองและสังคมรอบข้าง

ประเทศญี่ปุ่นล้ำหน้ามากในเรื่องการเตือนภัยและระบบการช่วยเหลือจากรัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้รับการจัดลำดับให้ครองอันดับหนึ่งของโลกในเรื่องมาตรฐานการเตือนภัยและการฟื้นฟูหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติ ชาวญี่ปุ่นเคยชินกับเรื่องเหล่านี้มาตลอดทั้งชีวิต เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อ มีนาคม ปี 2554 ด้านชายฝั่งทะเลตะวันออก วัดแรงสั่นสะเทือนได้ถึง 8.9 ริคเตอร์ กลับฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากการรวมตัวช่วยเหลือกันในระดับชุมชน นอกเหนือจากการช่วยเหลือจากรัฐบาล มาตรการที่เข้มงวดและต่อเนื่องรวมทั้งการบังคับใช้กฏหมายในญี่ปุ่นมีส่วนอย่างยิ่งในการรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

เท่าที่ได้รับฟังจากคนรู้จักเล่าว่าโครงสร้างอาคารใช้เหล็กเส้นที่งอหักมุม เพื่อรับแรงสั่นสะเทือนให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเหล็กเส้นตรง ที่เคยเห็นจากการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในบ้านเรา อาคารเตือนภัยถูกใช้เพื่อซ้อมเตือนภัยรวมทั้งการใช้งานในสถานการณ์จริง มีเรื่องเล่าสู่กันฟังแบบขำไม่ออกว่าอาคารที่ลงทุนสร้างเพื่อการเตือนภัยในบ้านเรา ปล่อยรกร้างจนกลายเป็นที่ก่ออาชญากรรม เรื่องทำนองนี้พอจะทำใจได้เพราะชีวิตปกติของคนไทยช่างห่างไกลกับภัยธรรมชาติ จนลืมไปว่าโอกาสที่จะเกิดก็มีเช่นกัน อย่าได้ประมาท

เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส

ประสบการณ์ตรงเพื่อการเรียนรู้  นอกจากประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเองและจากวิทยากรหรือผู้มีความเชี่ยวชาญหลากกลุ่มอาชีพแล้ว สถาบันการศึกษาในพื้นที่เชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งสถาบันการศึกษาจากส่วนกลาง พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสโดยให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้เหตุการณ์จริงนอกห้องเรียน ใช้ตัวอย่างจริงเพื่อทำความเข้าใจถึงจุดบกพร่องต่างๆ ของโครงสร้างอาคารและที่อยู่อาศัย นอกจากนี้นิสิตนักศึกษาได้มีโอกาสทำงานอาสาสมัครพร้อมกับประชาชนในพื้นที่ ทำให้การฟื้นตัวจากภัยแผ่นดินไหวได้รับการแก้ไขถูกวิธีสอดคล้องกับเวลาและมีประสิทธิภาพ

การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน  จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของภาคเหนือ เช่น เมืองโบราณเชียงแสน วัดร่องขุ่นที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จากสถิติการท่องเที่ยวของจังหวัดมีนักท่องเที่ยวราว 2.7 ล้านคน/ปี มีรายได้หมุนเวียนจากอุตสาหกรรมและการบริการท่องเที่ยว 1.8 พันล้านบาท/ปี แผนระยะยาวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่สดใสสำหรับชาวเชียงรายให้พลิกฟื้นจากฝันร้ายได้ในที่สุด

Since 25 December 2012