ประชากรต่างแดน

สวนครัวชุมชน (Community garden): การเคลื่อนไหวของสังคมโลกในการสร้างสังคมของคนเมือง

อารีย์ พรมโม้  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

สวนครัวชุมชนอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่แนวคิดนี้ก็ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในเขตเมืองต่างๆ มากมาย โดยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพื้นที่รกร้างต่างๆ ให้กลายเป็นสวนเกษตร กระจายผลผลิตที่ได้ไปสู่ชุมชนรอบๆ ให้ผู้คนได้รับประทานพืชผักที่มีคุณภาพดีปราศจากสารพิษ บทความนี้จะพาท่านไปชมสวนครัวชุมชนที่อยู่ใจกลางเมืองไครส์เชิร์ต ประเทศนิวซีแลนด์ แม้ว่าประเทศนี้จะเลี้ยงแกะเยอะแต่ก็เลี้ยงกันในชนบท ในเมืองจะเป็นที่ตั้งของอาคารบ้านเรือน ร้านค้า มหาวิทยาลัย ฯลฯ เป็นเมืองที่ดูสะอาดสะอ้านเป็นระเบียบ แม้ว่าจะไม่ได้ร่ำรวยมากมาย แต่ก็มีความจริญมาก ผลิตผลที่มีในตลาดโดยเฉพาะทุกวันนี้ที่เป็นยุคการค้าเสรีด้วยแล้วก็ยิ่งจะหาซื้อกันได้ทุกอย่าง การเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยแล้วผู้คนน่าจะไม่ต้องมาเหนื่อยลงมือปลูกพืชผักกินเอง แต่เชื่อไหมว่าสวนครัวชุมชนนั้นกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในทุกเมืองทั่วโลก รวมทั้งเมืองไครส์เชิร์ตด้วย

สวนครัวชุมชนกลายเป็นการเคลื่อนไหวในสังคมโลกที่ผู้คนตื่นตัวที่จะลงมือลงแรงร่วมกันในการปลูกพืชผักปลอดสารในที่สาธารณะที่จัดสรรให้ในชุมชน ทำให้ได้ประโยชน์โดยตรงจากการมีพืชผักและผลไม้สดๆ รับประทานในครัวเรือนคนที่เป็นสมาชิกได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนทักษะการทำสวนที่ช่วยรักษาสภาวะแวดล้อม รู้จักการนำเศษอาหารของเหลือใช้มาทำเป็นปุ๋ย ลดการใช้สารเคมี และยังมีโอกาสได้ออกกำลังกาย นอกจากนั้นแล้วยังให้ประโยชน์ในเชิงสังคมที่ผู้คนได้มีโอกาสพบปะกัน เสริมสร้างความผูกพันและความเป็นชุมชนอีกด้วย

จำนวนสวนครัวชุมชนที่เมืองไครส์เชิร์ตและเมืองที่อยู่ใกล้ๆนั้นมีจำนวนทั้งหมด 29 แห่ง และทุกแห่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เท่าที่ได้ดูจากประวัติการก่อตั้งแล้วสวนครัวชุมชนเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วนี่เอง สวนครัวชุมชนแห่งแรกเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2525 ส่วนสวนครัวชุมชนแห่งอื่นๆ ก็ทยอยเกิดขึ้นตามมา สวนครัวแต่ละแห่งนั้นมีการจัดตั้งแล้วรวบรวมสมาชิก จัดกิจกรรมทำสวนตามฤดูกาล การทำปุ๋ยหมัก การจัดเก็บพันธุ์พืช การอบรมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตลอดจากการจัดให้มีวันตลาดนัดด้วย ปีหนึ่งๆ 3-4 ครั้ง สำหรับผลผลิตที่ได้ เช่น ผักสด พืชสมุนไพร ผลไม้ ก็มักจะแบ่งปันกันในหมู่สมาชิก หรือวางขายที่หน้าสวน ซึ่งผู้ที่สัญจรผ่านไปมาสามารถแวะซื้อได้และบริจาคเงินตามแต่จะเห็นสมควร เพราะผลผลิตเหล่านี้ไม่มีการกำหนดราคา ช่วงแผ่นดินไหวที่ผ่านมา สวนครัวชุมชนเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นแหล่งอาหารฉุกเฉินสำหรับชุมชน

 

สวนครัวชุมชนแต่ละแห่งเป็นสมาชิกของสมาคมสวนครัวชุมชนแห่งแคนเทอร์บุรี (Canterbury Community Garden Association) เป็นการทำงานเพื่อเชื่อมเครือข่ายสวนครัวชุมชนและให้การสนับสนุนซึ่งกันละกัน สมาคมฯ นี้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากการรวมตัวกันของกลุ่มชาวสวนชุมชนและผู้สนับสนุนที่ต้องการจะส่งเสริมงานที่เกี่ยวข้องกับสวนครัวชุมชนและนวัตกรรมในเมืองไครส์เชิร์ต โดยสมาคมฯนี้ได้ลงนามและได้รับการสนับสนุนจากโครงการเมืองน่าอยู่อีกต่อหนึ่ง ซึ่งโครงการเมืองน่าอยู่นี้เน้นการทำงานร่วมกันเพื่อ
ส่งเสริม และปรับปรุงสุขภาพและความอยู่ดีกินดีของชาวเมืองไครส์เชิร์ต สมาคมฯ จึงเป็นองค์กรเครือข่ายด้านสวนครัวชุมชนที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการเพาะปลูกพืชที่มีในท้องถิ่นและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลที่ให้บริการสำหรับสมาชิกและสาธารณะเพื่อทำวิจัยและเผยแพร่ผลงานของสมาชิกต่อสาธารณะอีกด้วย (สนใจดูที่ http://ccga.org.nz/garden-directory/redcliffs/

สิ่งที่สำคัญสำหรับสวนครัวชุมชน คือเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการส่งเสริมให้ผู้คนได้รับประทานผักและผลไม้สดๆ ที่ปลอดสารพิษ การได้ลงแรงลงมือทำเองน่าจะเป็นบทเรียนเพื่อการเรียนรู้ที่ผู้คนจะได้ตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งอาหารที่ปลอดภัย รวมทั้งผลพลอยได้อื่นๆ เช่น ได้ออกกำลังกาย ได้รู้จักเพื่อนบ้าน การทำงานร่วมกัน และความเป็นชุมชนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ชาวกรุงเทพฯ ไม่ตกขบวนเรื่องอย่างนี้แน่นอน เช่น ชุมชนเคหะทุ่งสองห้อง ชุมชนปิ่นเจริญ และบางบอนวิลล์ แม้จะยังไม่แพร่หลาย แต่ก็กำลังตื่นตัวมากขึ้นเรื่อยๆ หลายกลุ่มหันมารวมตัวกันทำกิจกรรมสวนเกษตรต่างๆ ทั้งยังมีศูนย์ฝึกอบรมเกิดขึ้นมากมายเปิดให้ผู้ที่สนใจจะปรับเปลี่ยน พื้นที่ว่างในบ้าน ให้กลายเป็น พื้นที่สีเขียวกินได้ ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ

Since 25 December 2012