ประเด็นทางประชากรและสังคม

การวิจัยท่ามกลางความไม่สงบ: บันทึกภาคสนามจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

อารี จำปากลาย  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

“การย้ายถิ่นของผู้หญิงและความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ โครงการ M&M” หนึ่งในงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คณะนักวิจัยประกอบด้วย ดร.แคธลีน ฟอร์ด ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ และผู้เขียน ที่จริงแล้วพวกเรานักวิจัยไม่มั่นใจนักว่าความพยายามที่จะตอบคำถามว่า การย้ายถิ่นไปทำงานในประเทศมาเลเซียของชาวมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้นับตั้งแต่ในอดีต มีความสัมพันธ์กับความไม่สงบที่เกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไรนั้น จะเป็นไปได้หรือไม่

คณะนักวิจัยทราบดีว่าเส้นทางในการทำวิจัยท่ามกลางปัญหาความไม่สงบที่ซับซ้อนเกินกว่าความเข้าใจของผู้วิจัยนั้น จะเป็นไปด้วยความยากลำบากและแตกต่างจากการลงภาคสนามครั้งอื่นๆ ที่พวกเราคุ้นเคยโดยสิ้นเชิง แม้ว่าจะไม่ได้พูดคุยเปิดเผยความรู้สึกกันอย่างตรงๆ ถึงความกังวลต่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ในขณะนี้ ผู้เขียนรู้ดีว่า คำถามที่เกิดขึ้นกับเราสามคนตลอดเวลาระหว่างรอการตอบรับจากแหล่งทุน คือ เราควรล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำงานวิจัยครั้งสำคัญนี้หรือไม่ แน่นอนว่าคำตอบของเราสามคนตรงกัน คือ ไม่

การวิจัยครั้งนี้จึงได้เริ่มต้นขึ้นโดยได้ทำการเก็บข้อมูลทั้งหมด 1,100 ครัวเรือนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสร็จสิ้นครบถ้วนสมบูรณ์และแบบสอบถามเกือบทั้งหมดได้ถูกส่งมายังสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อประมวลผลข้อมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ที่สำคัญที่สุดผู้เขียนรู้สึกขอบคุณพนักงานสัมภาษณ์ของเราทุกๆ คน เป็นอย่างยิ่ง และขอบคุณในความเมตตาของพระเจ้าเป็นที่สุดที่ทำให้พวกเราทุกคนปลอดภัยทุกประการ

ในขณะที่การวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์ควรที่จะเดินตามหลักการทั่วๆ ไปของการทำวิจัย คือ เป็นระบบผลิตซ้ำได้ เชื่อถือได้ และถูกต้อง (Cohen &Arieli, 2011) งานวิจัยทางสังคมศาสตร์จำนวนมากไม่สามารถยึดตามหลักการของการวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์ได้อย่างเต็มรูปแบบ ประเด็นเหตุการณ์ความไม่สงบที่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เป็นปรากฏการณ์ที่ควรจะได้รับความสนใจจากนักวิจัยอย่างมาก แต่การทำวิจัยท่ามกลางความขัดแย้งเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ความท้าทายที่ว่ามีตั้งแต่การเข้าถึงข้อมูล การวิเคราะห์ การตีความ และการนำเสนอข้อมูล

บันทึกจากภาคสนามครั้งนี้ต้องการแบ่งปันประสบการณ์ภาคสนามของพนักงานสัมภาษณ์ ซึ่ง ดร.แคธลีน ฟอร์ดและผู้เขียนได้ไปเยี่ยมติดตามงานสนามในเดือนเมษายน 2557 และบันทึกนี้ เน้นเฉพาะเรื่องความยากลำบากในการเข้าถึงข้อมูล

งานภาคสนามในพื้นที่ที่มีความไม่สงบนั้น ความยากลำบากในการเข้าถึงข้อมูลมีสาเหตุหลักมาจากปัญหาเรื่องความปลอดภัยซึ่งเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดในการทำงานวิจัยในจังหวัดสามชายแดนภาคใต้ นักวิจัยจึงใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยของทั้งพนักงานสนามและผู้ตอบแบบสอบถามเป็นพิเศษ ประเด็นหนึ่งที่ต้องบันทึก คือ พนักงานสนามของโครงการ M&M ทุกคน ทั้งผู้ควบคุมงานสนาม และพนักงานสัมภาษณ์เป็นมุสลิมในพื้นที่และใช้ภาษามลายูท้องถิ่น

ในการสุ่มตัวอย่าง นักวิจัยร่ำๆ ที่จะเลือกเฉพาะหมู่บ้านที่อยู่นอก “พื้นที่สีแดง” (พื้นที่อันตราย/ยากที่จะเข้าถึง) เท่านั้น แต่ในท้ายที่สุดเราก็ได้ตัดสินใจที่จะรวมหมู่บ้านทั้งหมดรวมทั้ง “พื้นที่สีแดง” เป็นกรอบในการสุ่มตัวอย่าง เรามีเหตุผลอย่างน้อยสองข้อในการทำเช่นนี้ ประการแรก การยกเว้นพื้นที่อันตรายอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อผลสำรวจของงานวิจัย เนื่องจากว่า ประเด็นหลักในการทำวิจัยครั้งนี้คือความสัมพันธ์ระหว่างการย้ายถิ่นและความไม่สงบในพื้นที่ ดังนั้น การหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูงหรือพื้นที่สีแดงนั้น อาจทำให้เรารับรู้ถึงผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบไม่ตรงกับความเป็นจริง ประการที่สอง จากการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าใจในเรื่องความขัดแย้งในพื้นที่ ทำให้นักวิจัยมีความมั่นใจมากขึ้นและเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเก็บข้อมูลในพื้นที่เสี่ยง ด้วยวิธีการเข้าถึงผู้คนในพื้นที่ที่เหมาะสมและอย่างระมัดระวัง และในที่สุดหมู่บ้านที่สุ่มตัวอย่างได้จำนวนหนึ่งของโครงการ M&M เป็น “พื้นที่สีแดง”

บทเรียนสำคัญที่เราได้เรียนรู้คือ สาเหตุหลักที่ทำให้การเข้าถึงพื้นที่เหล่านี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก คือความไม่ไว้วางใจบุคคลภายนอกทั้งที่โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นคนที่ให้ความร่วมมือและเป็นมิตรที่สุด  เพื่อที่ผู้อ่านจะได้ให้เห็นภาพว่า ชาวบ้านไม่ไว้วางใจคนภายนอกอย่างไร บันทึกนี้เล่าเรื่องการเข้าไปทำงานในหมู่บ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่สีแดงหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งได้ชื่อว่าไม่ต้อนรับ “บุคคลภายนอก” เราได้รับคำเตือนว่า บุคคลจากภายนอกจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในหมู่บ้านนี้ ยกเว้นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อเหตุผลด้านการรักษาพยาบาลเท่านั้น อย่างไรก็ดี ผู้ประสานงานในพื้นที่ได้ให้ความมั่นใจว่าเขาได้อธิบายให้ผู้นำของหมู่บ้านเข้าใจเกี่ยวกับงานวิจัยครั้งนี้แล้ว และพนักงานภาคสนามของเราได้รับการอนุญาตให้เข้าหมู่บ้านได้

อย่างไรก็ตาม อาจเนื่องจากความผิดพลาด หรือความไม่ชัดเจนในการสื่อสารในบางเรื่อง พนักงานสัมภาษณ์ของเราได้รับการต้อนรับที่ไม่คาดคิดเมื่อแรกเดินทางไปถึงที่หมู่บ้านพนักงานสัมภาษณ์ (ซึ่งเป็นผู้หญิงทั้งสี่คน) ถูกนำตัวไปในห้องประชุมของมัสยิดในหมู่บ้าน ท่ามกลางวงล้อมของชาวบ้านกว่า 20 คน ทั้งชายและหญิง ก่อนที่จะได้สัมภาษณ์แบบสอบถาม พนักงานสัมภาษณ์ของเรากลับเป็นผู้ถูกสัมภาษณ์เสียเอง ทั้งสี่คนถูกตั้งคำถามมากมาย อย่างละเอียดยิบ เกี่ยวกับงานวิจัยเป็นเวลาร่วมชั่วโมง พนักงานสัมภาษณ์ของเราพยายามตอบคำถามอย่างใจเย็นและสุภาพ

วันที่ผู้เขียนนั่งพูดคุยกับพนักงานสัมภาษณ์นั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านผ่านไปหลายวันแล้ว แต่ทุกรายละเอียดของเรื่องราวที่เกิดขึ้นยังแจ่มชัดในความรู้สึกของพนักงานสัมภาษณ์ พวกเขาเล่าว่า แม้ช่วงนั้นจะเป็นหน้าร้อนที่อุณหภูมิสูงเกือบสี่สิบองศา แต่กลับรู้สึกถึงบรรยากาศที่เย็นยะเยือกในห้องประชุม ฝ่ามือของพวกเธอทั้งสี่คนก็ชุ่มชื้นไปด้วยเหงื่อแห่งความกังวล และหวาดกลัว

 แล้วในที่สุด พนักงานสัมภาษณ์ของเราก็สามารถทำให้ผู้นำชาวบ้านและชาวบ้านที่รุมกันซักถามพวกเธออย่างเข้มข้น จริงจัง เชื่อว่านี่คืองานทางด้านวิชาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐ และยอมให้พวกเธอได้ทำงานที่ได้รับมอบหมายมา  เป็นเรื่องน่ายินดีที่เหลือเชื่อจริงๆ ที่พวกเธอพบว่า เมื่อความไว้วางใจได้ก่อตัวขึ้น พนักงานสัมภาษณ์ ของเราก็ได้รับความช่วยเหลือและความร่วมมืออย่างอบอุ่น หลังจากนั้นในการไปสัมภาษณ์บ้านแต่ละหลัง พนักงานสัมภาษณ์แต่ละคนมีชาวบ้านหนึ่งคนไปเป็นเพื่อน เพื่อไปหาครัวเรือนที่เข้าข่าย และไม่มีบ้านไหนปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือแม้แต่บ้านเดียว เพียงเวลาไม่กี่วันที่อยู่ในหมู่บ้านนั้น พนักงานสัมภาษณ์ของเราได้สร้างความสนิทชิดเชื้อกับผู้คนในหมู่บ้าน สำหรับพวกเธอความสนิทสนมและการดูแลช่วยเหลือของชาวบ้านระหว่างที่อยู่ที่หมู่บ้าน(หลังจากการซักถามที่เยือกเย็นและยาวนานในวันแรก!!!) สร้างความประทับใจให้พวกเธอมิรู้ลืม

เห็นได้ชัดว่าความเย็นชาและไม่ต้อนรับคนแปลกหน้านั้น สาเหตุเกิดมาจากการที่ชาวบ้านไม่ไว้วางใจคนภายนอก สำหรับชาวบ้านในพื้นที่ที่ต้องประสบกับเหตุการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแล้ว การตอบสนองต่อบุคคลภายนอกด้วยความสงสัยและไม่ไว้วางใจเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นเรื่องที่เข้าใจได้

การทำวิจัยอย่างเป็นระบบท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีความขัดแย้งเช่นนี้ เป็นทางสองแพร่งที่ต้องให้ความสำคัญและควรมีการพูดคุยมากขึ้น สิ่งที่นักวิจัยต้องคำนึงถึงคือความขัดแย้งอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการของงานวิจัยและผลของการสำรวจ ผู้เขียนและคณะวิจัยหวังว่าเราจะได้แบ่งปันประสบการณ์ของเราที่ล้วนมีความท้าทายในการทำวิจัยท่ามกลางความไม่สงบในแง่มุมอื่นๆ ในโอกาสต่อๆ ไป เป็นความหวังอย่างยิ่งของคณะวิจัยที่จะทำให้งานวิจัยครั้งนี้มีคุณประโยชน์ แม้จะอาจมีข้อจำกัดบ้างในเชิงวิชาการ แต่อย่างน้อยเราหวังว่าผลงานวิจัยจะมีนัยเชิงนโยบายที่ยังประโยชน์ต่อชีวิตผู้คนในสามจังหวัดภาคใต้ในภายหน้า

อ้างอิง

  • Cohen, N., & Arieli, T. (2011).Field research in conflict environments: Methodological challenges and snowball sampling. Journal of Peace Research, 48(4), 423-435.

 

Since 25 December 2012