เวทีวิจัยประชากรและสังคม

เมื่อแนวโน้มสังคมโลกกลายเป็นสังคมคนแก่

กุศล สุนทรธาดา  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

ร้อยละของประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ในปี ค.ศ. 2010, 2050, 2100 (พ.ศ. 2553, 2593, 2643)

ที่มา: Demography is destiny. http://www.mercatornet.com

ภาพ “โลกของคนแก่” แม้ว่าคำนี้จะฟังดูแสลงหู แต่สัจธรรมของโลกก็มีแนวโน้มไปทางนั้น แผนที่นี้ผลิตโดยธนาคารแห่งอเมริกา โดยใช้ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศต่างๆ กำลังจะมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยดูจากสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จากน้อยกว่าร้อยละ 5 (ดูรูปแรก: ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปอาฟริกา) เพิ่มเป็นร้อยละ 5-10 (ดูรูปแรก: ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย และบางประเทศในทวีปอเมริกาใต้) เป็นร้อยละ 10-15 (ดูรูปแรก: ส่วนใหญ่อยู่ในอเมริกา รัสเซีย และ ออสเตรเลีย) เป็นร้อยละ 15-20 (ถ้าดูรูปแรก ส่วนใหญ่อยู่ในสแกนดิเนเวียและยุโรป) จนมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเกิน ร้อยละ 20 (ดูรูปแรก: ในปี 2010 ที่มีเพียง อิตาลี เยอรมัน และ ญี่ปุ่น) ในอีกไม่ถึง 40 ปี (ปี 2050) ประเทศต่างๆ เกือบครึ่งโลกจะมีคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 20 หรือเป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ ((ถ้าดูรูปที่ 2 ได้แก่ประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปเกือบทั้งหมด รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอเมริกา) และในอีกไม่ถึง 100 ปีประเทศต่างๆ เกือบทั้งโลก (ยกเว้นทวีปอาฟริกาทั้งทวีป อินเดีย และอินโดนีเซีย) ที่จะกลายเป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ นอกจากนี้ ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ชี้ว่าคนอายุ 60 ปี จะเพิ่มขึ้นจาก 841 ล้าน ในปี 2013 เป็น 2,000 กว่าล้านคน ในปี 2050 ควบคู่ไปกับการมีลูกน้อย คือมีลูกต่ำกว่าระดับทดแทนหรือน้อยกว่า 2 คน ทำให้จำนวนประชากรวัย 60 ปี มีมากกว่าจำนวนประชากรเด็กเป็นครั้งแรกในปี 2047

สำหรับประเทศไทย จะมีจำนวนประชากรวัย 60 ปี มากกว่าจำนวนประชากรเด็กเป็นครั้งแรกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คือ ในปี 2017-18 (พ.ศ. 2560-61) ในความเป็นจริง เราคงไม่สามารถบอกได้ว่าประชากรกำลังสูงอายุ หรือ โลกนี้กำลังเป็นโลกของคนแก่ โดยดูแค่สัดส่วนของประชากรที่อายุมากกว่า 60 หรือ 65 ปีเท่านั้น เราจำเป็นต้องสำรวจคุณลักษณะอื่นของประชากรด้วย เช่น อายุคาดเฉลี่ยของประชากร สุขภาพร่างกาย ความคิด-ความจำ การทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ และความสามารถในการทำงาน รวมทั้งตัวบ่งชี้ทางชีววิทยา (bio-markers) เพราะอีกหน่อยคนอายุ 75 ปี ก็คงเหมือนคนอายุ 65 ปี ที่ยังแข็งแรง อายุยืน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี (ท่านสามารถดูภาพรูปโลกสวยๆ ได้จากเว็บจดหมายข่าวประชากรและการพัฒนา (http://www2.ipsr.mahidol.ac.th/newsletter/)

ตัวเลขเหล่านี้บ่งบอกเราหลายอย่าง ว่าในอนาคต เราจะเตรียมรับมือกับสังคมสูงวัยกันอย่างไร เราจะดึงเอาทุนทางสังคม-วัฒนธรรมของครอบครัวและชุมชนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการดูแลผู้สูงอายุและเด็กอย่างไร ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่เชี่ยวกราก และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ธุรกิจก็อาจต้องมองการเปลี่ยนแปลงอย่างมีวิสัยทัศน์ ทั้งธุรกิจอุตสาหกรรมและบริการที่จะผลิตสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองผู้สูงอายุ ซึ่งมีกำลังซื้อสูง (โดยเปรียบเทียบกับคนวัยอื่น) และธุรกิจการเงินที่อาจเผชิญความเสี่ยงต่อความยืนยาวของชีวิต อย่างไรก็ตามธุรกิจเหล่านี้จะสามารถสร้างงานได้มากขึ้นหรือไม่ จนทำให้มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานมากขึ้น ผู้สูงอายุที่มีอายุยืนขึ้นและยังแข็งแรง ก็สามารถทำงานได้ และอาจจำเป็นต้องทำงานให้นานขึ้น เพื่อลดภาระครอบครัวและสังคม ถ้าอายุการทำงานเป็นไปตามความต้องการของแต่ละคน อายุเกษียณก็น่าจะช้าลงไปโดยปริยาย ดังนั้นอายุเกษียณก็ไม่น่าจะต้องกำหนดเป็นตัวเลขว่าทุกคนต้องเกษียณอายุเท่านั้นเท่านี้ หรือไม่จำเป็นต้องออกเป็นกฎหมายยืดอายุเกษียณ แต่ให้มีความยืดหยุ่น ปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของแต่ละคน

ในอดีต ประเทศตะวันตกหลายประเทศมีนโยบายขยายอายุเกษียณ เพราะไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะจ่ายผลประโยชน์จากการเกษียณอายุในระดับที่เป็นอยู่ แม้ว่ามีงานศึกษาวิจัยในประเทศพัฒนาที่สนับสนุนการเพิ่มอายุเกษียณก็ตาม แต่คนส่วนใหญ่ก็รู้สึกไม่พอใจ เมื่อถูกบังคับให้ทำงานนานขึ้น ดังนั้น นโยบายการขยายอายุเกษียณควรทำด้วยความรอบคอบไม่เข้มงวดเกินไปจนทำให้กระทบผู้สูงอายุที่ต้องการผลประโยชน์มาใช้ด้วยความจำเป็น หรือเอาเงินทุนและเวลาไปทำอย่างอื่น และกระทบแรงงานในวัยทำงานด้วย การเพิ่มอายุเกษียณจึงไม่ใช่รูปแบบหรือหนทางเดียวที่ทำได้ (Scherbov et al., 2014) เราคงไม่สามารถดูแค่สัดส่วนของประชากรที่อายุมากกว่า 60 หรือ 65 ปี เท่านั้น แต่เราต้องสำรวจคุณลักษณะด้านอื่นของประชากรด้วย แล้วนโยบายค่อยทำให้สอดคล้องตามมา เช่นในออสเตรเลีย รัฐบาลออสเตรเลีย ได้ตัดสินใจเพิ่มอายุเกษียณเป็น 70 ปีเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเอาอายุคาดเฉลี่ยของคนออสเตรเลียเข้ามาพิจารณาด้วย เพราะคนออสเตรเลียมีอายุยืนยาวขึ้นเป็น 85 ปี การขยายอายุเกษียณจึงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แต่นโยบายนี้ก็ไม่ได้นำไปปฏิบัติกับคนทุกคน ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของแต่ละคน

อ้างอิง:

  • http://www.mercatornet.com. A fascinating map of an ageing world. Demography is destiny, 2014. Retrieved 15th June 2014.
  • Scherbov et al., 2014. Quantifying policy tradeoffs to support agingpopulations. Demographic Research, Volume 30-Article 20|Pages 579-608.       

Since 25 December 2012