นานาสาระประชากร
จะเกิด จะตายกันอย่างไรดี?
ปราโมทย์ ประสาทกุล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
งานอาชีพที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้นับว่าเกี่ยวข้องกับสัจธรรมโดยตรง มนุษย์ทุกคนย่อมหนีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่พ้น การทำงานของผมก็หนีไม่พ้นเรื่อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นกัน ผมสนใจเรื่องการเกิดในประเทศไทยว่าแต่ละปีจะมีมากน้อยเท่าไร ผู้หญิงไทยจะมีลูกกันสักกี่คน แล้วทำไมผู้หญิงไทยสมัยนี้มีลูกกันน้อยลง ผมติดตามการสูงวัยของประชากร สังคมไทยกำลังมีอายุสูงขึ้นเรื่อยๆ คนแก่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เรากำลังจะเป็น “สังคมสูงอายุ” อย่างสมบูรณ์แล้ว ผมสนใจเรื่องการเปลี่ยนรูปแบบการเจ็บป่วยของคนไทย จากสาเหตุการตายส่วนใหญ่ที่เคยเป็นโรคติดเชื้อ กลายเป็นการเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์เอง เมื่อมีคนแก่มากก็มีคนตายมาก จำนวนคนตายแต่ละปีเพิ่มขึ้นจนจะไล่ทันจำนวนคนเกิดอยู่แล้ว ผมสนใจศึกษาอัตราตายในช่วงวัยต่างๆ ของคนไทย และพยายามคาดประมาณอายุเฉลี่ยของประชากรไทยตั้งแต่เกิดไปจนกระทั่งตาย
เมื่อนึกถึงสัจธรรมของชีวิต ก็เกิดคำถามให้ตัวเองตอบว่า “คนไทยเราจะเกิด จะตายกันอย่างไรจึงจะดี?”
เด็กเกิดน้อยลงๆ
ระยะสี่ห้าปีที่ผ่านมานี้ มีนักวิชาการบางคนแสดงความกังวลว่าประเทศไทยมีเด็กเกิดน้อยเกินไปหรือเปล่า เมื่อสี่สิบห้าสิบปีก่อน มีเด็กเกิดในประเทศไทยปีละไม่ต่ำกว่าล้านคน เดี๋ยวนี้ เกิดปีละ 8 แสนคนเท่านั้น เกรงกันว่าถ้าเกิดน้อยอย่างนี้ นานไปเราจะขาดแคลนแรงงาน ขาดคนทำงานหาเงินมาเลี้ยงดูผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บางคนถึงกับอ้างตัวเลขว่าถ้าผู้หญิงคนหนึ่งมีลูกเฉลี่ยน้อยกว่าสองคน ก็จะเป็นจำนวนน้อยเกินไป ไม่เพียงพอที่จะทดแทนพ่อและแม่ บางคนถึงกับกลัวว่าต่อไปประชากรไทยจะมีรูปร่างเป็นพีระมิดหัวกลับคล้ายๆ กับสามเหลี่ยมคว่ำเอายอดลง คือมีแต่คนแก่ ไม่มีเด็ก และถ้าเป็นอย่างนั้น ประชากรไทยอาจจะถึงขนาดสูญสิ้นเผ่าพันธุ์เลยทีเดียว
ประเทศไทยมีเด็กเกิดน้อยลงจริงๆ เดี๋ยวนี้จะหาคนรุ่นใหม่ที่มีลูกมากๆ สามสี่คนขึ้นไปได้น้อยเต็มที หนุ่มสาวสมัยใหม่แต่งงานกันแล้วก็มีลูกกันแค่คนสองคน บางคน แต่งกันแรกๆ ก็คิดอยากจะมีลูกสักครึ่งโหล แต่พอมีไปแล้วคนหนึ่ง หรือสองคน ก็เปลี่ยนใจ ค่านิยมที่จะมีลูกกันมากๆ ได้เปลี่ยนไปแล้ว สมัยนี้มีลูกแล้วไม่ใช่ว่าจะเลี้ยงกันง่ายๆ ทั้งพ่อทั้งแม่ต่างทำงานกันตัวเป็นเกลียว จะหาเวลาอยู่บ้านเลี้ยงลูกตลอดเวลาก็แสนยาก จะจ้างคนเลี้ยงที่ไว้ใจได้ก็ไม่ใช่ถูกๆ แถมหายากอีกต่างหาก พอลูกโตขึ้นหน่อย ต้องหาที่เรียนให้ลูก ตั้งแต่ก่อนอนุบาล จนถึงมัธยม โรงเรียนดีๆ ไม่ใช่หาได้ง่ายๆ ในสังคมที่สับสนวุ่นวายมีปัญหาสารพัดเช่นนี้ จะเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีได้ตลอดรอดฝั่งเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนักทีเดียว แล้วอย่างนี้จะให้ “มีลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง” อย่างที่คนรุ่นก่อนอวยพรให้แก่คู่สมรสใหม่ได้อย่างไร
คนรุ่นใหม่ที่แต่งงานแล้วมีลูกน้อยก็ยังดีที่มีลูก มีคนรุ่นใหม่อีกมากมายทั้งชายและหญิงไม่ยอมแม้แต่จะแต่งงาน ไม่รู้เป็นเพราะไม่อยากแต่ง หรือหาคู่ไม่ได้ ไม่ต้องมองอื่นไกล ดูใกล้ๆแค่ตัวผมเอง ลูกยังไม่แต่งงานเลยสักคน โอกาสที่ผมจะมีหลานปู่หลานตาสักคนก็ดูจะริบหรี่เต็มที
จำนวนเกิดที่น้อยลงยังไม่กระไรนัก ตอนนี้ แม้ประเทศไทยจะมีเด็กเกิดน้อย แต่ก็ยังมีมากกว่าจำนวนคนตายในแต่ละปี ในรอบสี่ห้าปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยมีเด็กเกิดปีละแปดแสน และมีคนตายปีละสี่แสนกว่า จำนวนคนเกิดยังมากกว่าคนตาย เท่ากับปีจำนวนคนเพิ่มขึ้นปีละสามแสนกว่าคน เป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะมีเด็กเกิดน้อยลงไปอีก แต่ตราบใดที่จำนวนคนเกิดยังไม่น้อยไปกว่าจำนวนคนตาย ประชากรไทยก็จะยังเพิ่มต่อไป ในระยะ 20 ปีข้างหน้านี้ ประชากรไทยจะยังคงเพิ่มอยู่นักประชากรหลายคนเชื่อว่าผู้หญิงไทยจะมีลูกเฉลี่ยน้อยลงไปอีก ผู้หญิงคนหนึ่งจะมีลูกเฉลี่ยเหลือเพียง 1.2-1.3 คน พอๆ กับอัตราเจริญพันธุ์ของสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศยุโรปตะวันตกส่วนมาก ในขณะนี้ถ้าผู้หญิงไทยมีลูกเฉลี่ยน้อยลงขนาดนั้น ปีๆ หนึ่ง จะมีเด็กเกิดในประเทศไทยเพียง 6 แสนกว่าคน ซึ่งจะเป็นจำนวนพอๆ กันหรือน้อยกว่าคนตายในอนาคตที่จะเพิ่มมากขึ้นเพราะประเทศมีคนแก่มาก
อย่างไรก็ตาม มีนักประชากรบางคนมองอีกมุมหนึ่งว่าขณะนี้อัตราเจริญพันธุ์ของไทยได้ลดต่ำลงจนสุดๆ แล้ว และไม่น่าจะลดต่ำลงไปกว่านี้ แถมยังเป็นไปได้ที่อัตราเจริญพันธุ์ของคนไทยจะกระเด้งกลับ คนไทยรุ่นใหม่อาจจะแต่งงานกันมากขึ้น มีลูกกันมากขึ้น เราคงต้องติดตามลุ้นกันต่อไปว่าคนไทยรุ่นใหม่จะมีลูกกันมากขึ้นจริงหรือไม่
จำนวนเกิดไม่สำคัญเท่าคุณภาพของคน
เรื่องที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าจำนวนเกิดที่น้อยลงคือคุณภาพของการเกิด
ทุกวันนี้ เรื่องที่เป็นกังวลกันมากคือเรามีเด็กเกิดน้อยแล้วเด็กเหล่านั้นยังมีปัญหาติดตัวมาตั้งแต่เกิด มีเด็กเกิดน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ (2,500 กรัม) อีกเกือบ 10% ของการเกิดทั้งหมด และยังมีเด็กเกิดมาพิการทั้งทางร่างกายและสมองอีกจำนวนหนึ่ง ในจำนวนเด็กเกิดในประเทศไทยปีละประมาณ 8 แสนรายนั้นเกิดจากแม่ที่ยังไม่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว คือยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุครบ 17 ปี) มากถึง 5-6 หมื่นราย ที่น่าตกใจคือมีแม่ที่ยังเป็นเด็ก ยังไม่มีโอกาสใช้คำว่านางสาวนำหน้าชื่อ คืออายุไม่ถึง 15 ปีอยู่ 2-3 พันรายในแต่ละปี
เด็กที่เกิดจากแม่ที่ยังเป็นเด็กหรือวัยรุ่นโดยมากเกิดจากการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ตั้งใจ สมัยนี้เด็กและวัยรุ่นมีโอกาสที่จะท้องโดยไม่ตั้งใจสูงมาก สังคมไทยยุคใหม่เปิดกว้างมากขึ้น ค่านิยมเรื่องเพศเปลี่ยนไปเป็นแบบเสรีมากขึ้น เหมือนที่พวกเราอาจเคยได้ยินสปอตโฆษณา “แค่ขอไปค้างคืนบ้านแฟนแค่เนี้ย แม่ต้องตกใจร้องอกอีแป้นแตก” การมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นทั้งหญิงและชายตั้งแต่อายุยังน้อยไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดแบบแผนประเพณีอีกต่อไป เด็กอาจตั้งท้องในขณะที่ยังอยู่ในวัยเรียน ท้องเพราะประมาท ขาดสติ ท้องเพราะขาดความรู้เรื่องคุมกำเนิด ท้องเพราะไม่ได้ป้องกันตัวเอง คาดว่าทุกวันนี้ มีเด็กวัยรุ่นที่ต้องไปหาทางยุติการตั้งครรภ์ด้วยวิธีต่างๆ รวมทั้งการทำแท้งเป็นจำนวนนับแสนรายในแต่ละปี
“คุณภาพ” และ “คุณค่า” ของการเกิด
ต่อไปนี้ ประเทศไทยคงต้องเปลี่ยนจากการลดอัตราเกิดมาเน้นที่การเพิ่มคุณภาพของการเกิด เรามีเด็กเกิดใหม่เพียง ปีละ 8 แสนคนและดูเหมือนว่าเด็กจะเกิดลดน้อยลงไปอีก จำนวนที่ลดลงน่าจะถือเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะส่งเสริมให้คุณภาพของการเกิดดีขึ้น ขณะนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขกำลังวางยุทธศาสตร์ที่จะทำให้การเกิดทุกรายมีคุณภาพ หัวใจสำคัญของการเกิดที่มีคุณภาพคือเด็กที่เกิดจากครรภ์ที่ทั้งพ่อและแม่ตั้งใจและวางแผน รวมทั้งแม่อยู่ในวัยอันสมควรคืออย่างน้อยก็บรรลุนิติภาวะแล้ว
ต่อไปนี้ ประเทศไทยคงต้องให้ความสำคัญต่อการเกิดมากยิ่งขึ้น เราจะต้องถือว่าการเกิดแต่ละรายเท่ากับทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่ายิ่งได้เพิ่มเข้ามาเป็นสมาชิกของสังคมไทยอีกคนหนึ่งแล้ว รัฐและสังคมต้องช่วยส่งเสริม “คุณค่า” ของเด็กเกิดใหม่ทุกราย จะต้องช่วยกันทะนุถนอม ดูแล สร้างภูมิคุ้มกันให้สมาชิกใหม่ของสังคม เพื่อวางรากฐานในการพัฒนาให้เด็กทุกรายเจริญวัยขึ้นอย่างมีคุณภาพในขั้นต่อๆ ไป
เดี๋ยวนี้ เวลาผมเห็นเด็กตัวเล็กๆที่เป็นลูกของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมวิชาชีพ ลูกศิษย์ หรือญาติรุ่นลูกรุ่นหลาน ผมจะรู้สึกว่าเด็กเหล่านี้มีคุณค่าและช่างน่ารักเสียเหลือเกิน ผมชอบยุให้ครอบครัวคนรุ่นใหม่ที่มีลูกน่ารักๆเหล่านี้ว่า “อย่าหยุดๆ ... มีอีกๆ มีสองคนแล้วก็อย่าเพิ่งหยุด ช่วยผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าอย่างนี้เพิ่มให้กับสังคมไทยกันหน่อย”
ตายอย่างไรจึงจะมีคุณภาพ?
เกิดอย่างมีคุณภาพแล้วก็ต้องตายอย่างมีคุณภาพ
ตายอย่างมีคุณภาพคือตายอย่างไร ผมเคยเขียนเอาไว้เมื่อนานมาแล้วว่า ตายอย่างมีคุณภาพ คือ “ตายในวัยอันสมควร และด้วยสาเหตุอันสมควร” วัยอันสมควรตายย่อมไม่ใช่ตายตั้งแต่ยังเป็นทารก ไม่ใช่ตายตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ตายเมื่อยังหนุ่มยังสาว ยังไม่ทันแก่ก็ตายเสียก่อนแล้ว สาเหตุอันสมควรตายคือตายเมื่อชราและหมดอายุขัย อายุขัยของมนุษย์ก็อยู่ในราว 90-100 ปี คนเราไม่ควรตายด้วยอุบัติเหตุไม่ว่าจะเป็นทางบก เช่น รถชนกัน รถคว่ำ รถหงาย หรือนั่งอยู่ดีๆ ก็มีรถมาชนให้ตาย อุบัติเหตุทางน้ำ เช่น จมน้ำตาย เรือล่ม เรือคว่ำ หรือตายด้วยอุบัติเหตุทางอากาศ เช่น เครื่องบินระเบิด เครื่องบินตก หรือนั่งเครื่ิองบินแล้วหายสาปสูญไปทั้งลำอย่างไร้ร่องรอย คนเราไม่ควรตายในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองใดๆ ไม่ควรตายด้วยโรคระบาดที่ควรป้องกันหรือขจัดให้หมดไปได้ด้วยระบบการสาธารณสุขที่ดี คนเราไม่ควรตายด้วยโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกินอยู่ที่ไม่ถูกต้อง ฯลฯ
การตายอย่างมีคุณภาพนอกจากจะต้องเป็นการตายในวัยและด้วยสาเหตุอันสมควรแล้ว ยังควรจะเป็นการลาจากโลกนี้ไปอย่างสงบทั้งกายและใจ
ผมเคยคุยกับเพื่อนๆ เรื่องเกี่ยวกับว่าแต่ละคนอยากตายแบบไหน ดูเหมือนทุกคนจะเห็นพ้องกันว่า เราอยากตายแบบไม่เจ็บป่วยทรมาน ทุกคนอยากจะนอนหลับแล้วหมดลมหายใจจากไปอย่างสงบ ไม่มีอาการทุรนทุราย เรียกว่าไปอย่างสบายๆ เพื่อนคนหนึ่งสงสัยว่า “โรคไหลตาย” เป็นอย่างไร ได้ยินมาว่า มีแรงงานนอนหลับไปแล้วไม่ตื่น โรคนี้น่าจะเป็นการตายอย่างไม่ทรมาน เพื่อนคนหนึ่งบอกว่า ถ้าจะตายก็อยากจะไหลตายบ้าง เพื่อนคนนี้สงสัยว่า กินอะไรและปฏิบัติตัวอย่างไร จึงจะเป็นโรคนี้
การตายอย่างสงบเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พวกเราเหล่า ส.ว. ผู้สูงวัยเริ่มพูดถึงกันมากขึ้น เราเชื่อกันว่า คนเราไม่ควรจะกลัวตาย ความตายเป็นสิ่งแท้แน่นอน คนเราทุกคนหนีความตายไม่พ้น ทุกคนต้องตาย ต่างกันเพียงว่าตายเร็ว ตายช้า ตายด้วยสาเหตุใด ตายสงบหรือตายทรมานเท่านั้น
ใครๆ ก็อยากตายอย่างสบาย จากโลกนี้ไปโดยไม่มีห่วงกังวลใดๆ เรื่องนี้คงเป็นเรื่องของเวรกรรม (หรือกรรมเวร) ที่เราประกอบไว้ ขณะยังมีชีวิตอยู่
ผมเคยคุยเรื่องตายอย่างมีคุณภาพกับคุณมนตรี เภกะนันทน์ ผู้อำนวยการสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย (สวท.) ผมถามคำถามยากๆ ว่า “เราจะตายอย่างไรจึงจะสบายๆ” ท่านผู้อำนวยการสมาคมฯ ตอบง่ายๆ ว่า “ก็ตายตามสบถ สิครับพี่” “เออ...จริง” ผมเห็นด้วย