รางวัลอีกโนเบล

โดรน (Drone)

วรชัย ทองไทย  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

เมื่อเราได้ยินคำว่า โดรน (Drone) เรามักจะนึกถึงเครื่องบินลาดตระเวน หรือเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ไม่มีนักบิน ซึ่งปฎิบัติการอยู่แถบประเทศปากีสถาน อัฟกานิสถาน หรือในตะวันออกกลาง แต่นั่นเป็นเพียงโดรนประเภทหนึ่ง ซึ่งใช้ในกิจการทหารเท่านั้น

โดรนมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า อากาศยานไร้คนขับ หรือ ยูเอวี (UAV: Unmanned Aerial Vehicle) เป็นอากาศยานที่ไม่มีห้องนักบิน เพราะไม่มีนักบินบนเครื่อง แต่บินได้ด้วยการควบคุมของคอมพิวเตอร์บนเครื่อง หรือควบคุมระยะไกลจากนักบินบนพื้นดิน

การควบคุมโดรนระยะไกล ทำได้ด้วยกล้องวิดิโอที่อยู่ส่วนหน้าของเครื่อง ส่งภาพเคลื่อนไหวตามเวลาจริง (real-time) ไปยังจอคอมพิวเตอร์ภาคพื้นดิน ทำให้นักบินสามารถบังคับเครื่อง ให้บินไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้

โดรนที่ใช้ในการทหาร มีความสลับซับซ้อนมากกว่าที่ใช้ในกิจกรรมพลเรือน หรือสันทนาการ เนื่องจากนักบินและโดรนอยู่ห่างไกลกัน หลายพันกิโลเมตร เช่น โดรนที่ปฏิบัติการในประเทศอัฟกานิสถานหรืออิรัค ถึงแม้ว่าจะบินขึ้นหรือบินลง จากสนามบินในประเทศนั้นๆ หรือใกล้เคียง แต่นักบินปฏิบัติการกลับนั่งอยู่ในห้องนักบิน ที่สถานีควบคุมภาคพื้นดินในรัฐเนวาดา นิวแม็กซิโก หรือแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

การควบคุมการบินระยะไกล จึงต้องใช้ดาวเทียมถ่ายทอดสัญญาน เพื่อให้สัญญานระหว่างนักบินกับโดรนเป็นไปตามเวลาจริง อันจะทำให้นักบินที่มองภาพบนจอคอมพิวเตอร์ มีความรู้สึกเสมือนนั่งบังคับเครื่อง อยู่ในห้องนักบินโดยตรง

การที่ต้องสื่อสารผ่านดาวเทียม ทำให้ช่วงเวลาระหว่างสัญญานจากคันบังคับ (joystick) กับการตอบสนองของโดรน ห่างกันถึง 2 วินาที อันเป็นเวลานานพอที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ ในช่วงการบินขึ้นหรือลงได้ ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องใช้นักบินที่สนามบินเป็นผู้บินโดรนขึ้นและบินลง เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปโดยตรงระหว่างนักบินกับโดรน และไม่ต้องผ่านดาวเทียม ดังนั้น จึงต้องมีนักบินสองชุด คือ นักบินที่สนามบินเป็นผู้บังคับโดรน ในครึ่งชั่วโมงแรกนับจากบินขึ้น และอีกครึ่งชั่วโมงหลังจนถึงบินลง นักบินในสหรัฐฯ เป็นผู้บังคับโดรนในช่วงปฏิบัติการ

เพราะโดรนไม่มีนักบินบนเครื่อง ทำให้มีโดรนหลายรูปแบบ นอกจากโดรนที่เหมือนเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ทั่วไปแล้ว ยังมีโดรนที่มีรูปร่างเหมือนนก แมลง หรือเฮลิคอปเตอร์หลายใบพัด ส่วนขนาดของโดรนก็มีมากมาย ตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าฝ่ามือ จนถึงขนาดใหญ่เท่าเครื่องบินรบ เช่น โดรนเอฟสิบหก (Drone F-16) ที่นำเอาเครื่องบินรบจริงมาดัดแปลงเป็นโดรน มีการใช้โดรนในกิจการพลเรือนมากมาย โดยเฉพาะกิจกรรมที่ยากลำบากและเสี่ยงอันตราย ได้แก่ ทำแผนที่ไฟป่า เฝ้าระวังพายุหมุน ตรวจตราสายส่งไฟฟ้าและท่อส่งน้ำมัน ค้นหาและกู้ภัย ดูแลพืชไร่และสัตว์เลี้ยง ถ่ายทำภาพยนตร์ รวมถึงการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์

รางวัลอีกโนเบล สาขาวิศวกรรม ในปี พ.ศ. 2553 มอบให้แก่ Karina Acevedo-Whitehouse กับ Agnes Rocha-Gosselin จากสมาคมสวนสัตว์แห่งลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร และ Diane Gendron จาก Instituto Politecnico Nacional ประเทศเม็กซิโก ที่ได้พัฒนาวิธีการเก็บน้ำมูกวาฬ ด้วยเฮลิคอปเตอร์โดรน

 

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับงานวิจัยที่ทำให้  “ขำ” ก่อน “คิด”

 

 

Since 25 December 2012