ประเด็นประชากรที่น่าสนใจ
“มนุษย์ป้า” กับวัฒนธรรมต่างวัย
มนสิการ กาญจนะจิตรา This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
หัวข้อที่กำลังเป็นที่แพร่หลายในสังคมออนไลน์ และในวงสนทนาหลากหลายกลุ่มในช่วงนี้คงไม่พ้นเรื่อง “มนุษย์ป้า” จากการติดตามเพจและกระทู้ต่างๆ ออนไลน์ และการพูดคุยกับกลุ่มเพื่อน ดูเหมือนว่าปรากฏการณ์ “มนุษย์ป้า” กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในสังคมไทย
นิยาม “มนุษย์ป้า” ในเพจหนึ่งในเฟสบุ๊ค (http://www.facebook.com/KhunPaaaa) กล่าวไว้อย่างสั้นๆ แต่เจ็บแสบว่าเป็น “ชาติพันธุ์ที่เป็นอมตะ และตายยากที่สุด” ตรงกับนิยามที่แพร่หลายในแวดวงสังคมออนไลน์ ว่า “มนุษย์ป้า” เป็นผู้ที่ถูกเสมออยู่เหนือทุกสิ่ง อยากทำอะไรต้องได้ทำ ใครเดือดร้อนไม่สนใจ ตัวอย่างเรื่องราวที่นำมาแชร์กันในวงนินทา “มนุษย์ป้า” ได้แก่ การแซงคิว การแย่งที่จอดรถ การโวยวายเสียงดังเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ของตน การแย่งชิงของโดยเฉพาะของลดแลกแจกแถม และพฤติกรรมที่แสดงถึงความไม่เกรงใจคนอื่น เป็นต้น
ปรากฏการณ์ “มนุษย์ป้า” เกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องเข้าใจก่อนว่าพฤติกรรมของคน เป็นผลพวงของสังคม ดังที่ Hara Shintaro อาจารย์ชาวญี่ปุ่น ได้เขียนในเฟสบุ๊คตัวเองเกี่ยวกับวัฒนธรรมการต่อแถวในประเทศญี่ปุ่น ว่าเป็นวัฒนธรรมที่ถูกปลูกฝังกันมาตั้งแต่เด็ก ใครที่แซงคิวผู้อื่นจะถูกมองว่าเป็นคนไม่มีคุณค่า เห็นแก่ตัว ไม่เกรงใจคนอื่น ดังนั้น ในญี่ปุ่นจึงแทบไม่มีการแซงคิวเลย เพราะสังคมให้คุณค่ากับการเคารพสิทธิ์ผู้อื่น
ประเทศไทยไม่ได้มีวัฒนธรรมอย่างประเทศญี่ปุ่น จากประสบการณ์ส่วนตัว เพิ่งเริ่มเห็นการเข้าคิวขึ้นรถสาธารณะมาไม่นานนี้เอง คือการเข้าคิวขึ้นรถไฟฟ้า แต่ก่อนหน้านี้ไม่เคยเห็นการเข้าคิวขึ้นรถสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่หรือรถประจำทางก็ตาม การเข้าคิวจึงยังถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมใหม่ในสังคมไทย ยังไม่ได้แพร่หลายและเป็นที่ยอมรับในทุกกลุ่มทุกพื้นที่
ที่จริงแล้ว สังคมไทยแต่ดั้งเดิม เป็นวัฒนธรรมที่ยอมรับได้กับการให้สิทธิคนบางกลุ่มเป็นพิเศษ เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่มีตำแหน่งสูง หรือมีฐานะดี ด้วยสังคมที่ให้คุณค่ากับความเอื้อเฟื้อ ถ้อยทีถ้อยอาศัย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ป้าจะแซงคิวและหันมาบอกว่า “ให้ป้าไปก่อนเถอะ ป้าแก่แล้ว” เพราะนี่คือพฤติกรรมที่สังคมไทยยอมรับได้มาเนิ่นนาน แต่ในเมื่อปัจจุบันเริ่มมีกลุ่มคนที่ให้คุณค่ากับวัฒนธรรมการเข้าคิวมากขึ้น ซึ่งโดยมากเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ จึงเกิดความขัดแย้งทางวัฒนธรรมระหว่างคนต่างรุ่นต่างความคิด
ถึงแม้หลายคนจะบอกว่า “มนุษย์ป้า” ไม่ได้จำเป็นจะต้องเป็นสตรีวัยกลางคน แต่หมายถึงใครก็ได้ที่มีพฤติกรรมเห็นแก่ตัว ไม่ได้จำกัดเพศหรือวัย แต่การใช้คำว่า “ป้า” เป็นตัวแทนของพฤติกรรมที่สังคมรังเกียจ คงหนีไม่พ้นการสร้าง “วยาคติ” หรืออคติแห่งวัยไปได้ และจะเป็นการยิ่งตอกย้ำความขัดแย้งระหว่างวัยในสังคมไทยได้
หากเราต้องการร่วมสร้างสังคมไทยให้น่าอยู่สำหรับคนทุกกลุ่มทุกวัย ต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องใช้เวลา กว่าประเทศญี่ปุ่นจะมาถึงจุดนี้ที่คนในชาติมีวินัยและเคารพสิทธิของผู้อื่นได้ ญี่ปุ่นต้องผ่านกระบวนการสร้างสังคมมาอย่างยาวนาน ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน กระบวนการในการสร้างสังคมนี้สามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่นประเทศจีน ปัจจุบันเกิดคนชนชั้นกลางและเศรษฐีใหม่จำนวนมากที่ไม่รู้มารยาทสังคม จึงมีคอร์สฝึกฝนมารยาทเกิดขึ้นจำนวนมาก เพื่อสอนทักษะการวางตัวในสังคมให้เหมาะสม ตั้งแต่เรื่องการแต่งตัว การรับประทานอาหาร ไปจนกระทั่งการเลือกหัวข้อเพื่อพูดคุยกับผู้อื่นในสังคม ส่วนวิธีใดที่จะเหมาะกับประเทศไทยนั้น คงต้องศึกษาและทำความเข้าใจวัฒนธรรมไทยให้ลึกซึ้ง แต่ตอนนี้ เราเริ่มจากการนินทาเหล่าคุณป้าให้น้อยลงกันดีกว่าค่ะ
“มนุษย์ป้า” สร้างทางด่วนพิเศษเพื่อแซงคิวขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดิน
ภาพจาก women.sanook.com