คนอายุ 90 ปีขึ้นไป นี่สิสูงวัยจริง

ปราโมทย์ ประสาทกุล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า ประเทศไทยได้กลายเป็น “สังคมสูงวัย” แล้ว เราจะเห็นผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น
จนชินตาตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตามถนนหนทาง ศูนย์การค้า ในชุมชน หมู่บ้าน และสำหรับผู้สูงวัยที่เคยมีประสบการณ์ยาวนานมาในอดีต อาจสังเกตเห็นจำนวนเด็กเล็กๆที่ลดน้อยลงตามชุมชนหมู่บ้านต่างๆ การที่สังคมไทยของเรามีอายุสูงขึ้นนี้ ยืนยันชัดเจนด้วยตัวเลขและสถิติจากหน่วยงานต่างๆ ที่เชื่อถือได้ บัดนี้ จึงเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าประชากรไทยกำลังสูงวัยขึ้นอย่างรวดเร็วจริงๆ

จากการคาดประมาณประชากรของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี 2557 นี้ ประชากรในประเทศไทยมีอยู่ทั้งหมด 67 ล้านคน เป็นคนสัญชาติไทยและไม่ใช่สัญชาติไทยแต่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน 65 ล้านคน และเป็นคนไม่ใช่สัญชาติไทยและไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (แรงงานข้ามชาติ) ประมาณ 2 ล้านคน ในจำนวนประชากรไทย 65 ล้านคนนี้ มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งนับว่าเป็นผู้สูงอายุตามความหมายที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 อยู่ประมาณ 9 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด

ประชากรอายุ 90 ปีขึ้นไป ปี 2557, 2567 และ 2577
 
คำนวณจาก การคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2583 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ในขณะนี้ กำลังมีการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนิยามของ “ผู้สูงอายุ” ในสังคมไทย เหตุผลเบื้องหลังการเคลื่อนไหวดังกล่าว สืบเนื่องมาจากการที่สุขภาพอนามัยของคนไทยดีขึ้นอย่างมาก คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น ปัจจุบันคนไทยมีอายุคาดเฉลี่ยยืนถึง 74 ปีแล้ว (ผู้ชาย อายุเฉลี่ย 70 ปี ผู้หญิง 78 ปี) ได้มีความพยายามที่จะเปลี่ยนมโนทัศน์ของคน
ในสังคมให้มีทัศนคติว่า อายุ 60 ปี ยังไม่น่าจะเรียกว่าเป็นผู้สูงอายุ นอกจากนั้น ยังมีการทบทวนอายุเกษียณว่าควรจะเลื่อนจาก 60 ปีออกไปหรือไม่ เช่น เลื่อนไปเกษียณอายุที่ 65 ปี ถ้าหากเราจะรับเอาคำนิยามว่าผู้สูงอายุหมายถึง บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ในปี 2557 ประเทศไทย จะมีผู้สูงอายุ 6 ล้านกว่าคน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของประชากรไทยทั้งหมด

ในขณะที่ประชากรรวมของประเทศไทยกำลังเข้าสู่สภาพคงตัว คือ เพิ่มช้ามาก และจะมีอัตราเพิ่มใกล้เคียงกับร้อยละศูนย์
ในอนาคตอันใกล้ ปัจจุบัน อัตราเพิ่มประชากรของประเทศไทยสูงเพียงร้อยละ 0.5 ต่อปี แต่ประชากรสูงอายุกลับกำลังเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่สูงและเร่งเร็ว ประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปจะเพิ่มด้วยอัตราร้อยละ 5 ต่อปีในช่วงเวลาสิบปีข้างหน้านี้ ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ในช่วงสองสามทศวรรษนับจากนี้ ประชากรยิ่งอายุมาก จะยิ่งเพิ่มเร็ว

ประชากรกลุ่มอายุสูงที่สุด 90 ปีขึ้นไป

ในปี 2557 ประชากรอายุ 90 ปีขึ้นไป มีจำนวนอยู่ประมาณ 1 แสน 5 หมื่นคน หรือคิดเป็นอัตราผู้สูงอายุ 90 ปีขึ้นไป
2.3 คนต่อประชากร 1,000 คน ตามการคาดประมาณของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวนประชากรสูงอายุที่สุดกลุ่มนี้จะเพิ่มเป็น 2 แสน 8 หมื่นคน ในอีกสิบปีข้างหน้า คิดเป็นอัตราผู้สูงอายุที่สุด
4.2 คนต่อประชากร 1,000 คน และเท่ากับว่าระหว่างปี 2557-2567 ประชากรสูงอายุที่สุดกลุ่มนี้เพิ่มด้วยอัตราเร็วมากถึงร้อยละ 9 ต่อปี ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ประชากรรวมของประเทศไทยที่ไม่รวมแรงงานข้ามชาติเกือบจะไม่
เพิ่มขึ้นเลย หรืออาจเรียกว่าอยู่ในสภาพคงที่ คือ มีอัตราเพิ่มเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.2 ต่อปีเท่านั้น

ในอีก 20 ปีข้างหน้า คือ ในปี 2577 ประชากรอายุ 90 ปีขึ้นไปในประเทศไทยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 3 แสน 8 หมื่นคน ในช่วงระหว่างปี 2567-2577 อัตราเปลี่ยนแปลงของประชากรสูงอายุที่สุดกลุ่มนี้ จะอยู่ในราวร้อยละ 4 ต่อปี ในขณะที่จำนวนประชากรไทยโดยรวมจะค่อยๆ ลดลง ด้วยอัตราติดลบคือประมาณร้อยละ 0.1 ต่อปี

ผลจากความจริงที่ว่า ปกติผู้หญิงจะมีอายุยืนยาวกว่าผู้ชายทำให้ประชากรยิ่งมีอายุสูงขึ้นก็จะมีผู้หญิงเป็นสัดส่วนมากกว่าผู้ชาย ยิ่งในกลุ่มประชากรที่มีอายุสูงมากๆ เช่น ศตวรรษิกชน หรือผู้มีอายุ 100 ปีขึ้นไป จะมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 3-4 เท่า ในญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา จะมีศตวรรษิกสตรีมากกว่าร้อยละ 80 ของคนอายุ 100 ปีขึ้นไปทั้งหมด สำหรับประชากรสูงวัยที่สุดที่อายุ 90 ปีขึ้นไปของประเทศไทยในปี 2557 นี้ ประมาณว่ามีอัตราส่วนเพศอยู่ที่ 53 คือมีผู้ชายอายุ 90 ปีขึ้นไป 53 คนต่อผู้หญิงอายุ 90 ปีขึ้นไป 100 คน อัตราส่วนเพศของคนกลุ่มอายุนี้จะลดลงไปอีกเหลือผู้ชาย 48 คนต่อผู้หญิง 100 คนในปี 2567 และลดลงเหลือผู้ชาย 44 คนต่อผู้หญิง 100 คนในปี 2577

สาเหตุที่ประชากรอายุเกิน 90 ปีในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน มีเหตุผลที่จะนำมาอธิบายได้โดย
ไม่ยุ่งยากซับซ้อนนัก สุขภาพอนามัยของคนไทยดีขึ้น อายุจึงยืนยาวขึ้น บริการทางการแพทย์ และสาธารณสุขแพร่หลายและเข้าถึงได้ง่ายและทั่วถึงมากกว่าสมัยก่อน โรคภัยไข้เจ็บในประเทศไทยได้ลดลงไปมาก โดยเฉพาะโรคระบาด และโรค
ติดเชื้อต่างๆ การสุขาภิบาล สิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานทางการสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย และโภชนาการ ของประชาชนคนไทยดีขึ้นกว่าในอดีตมาก

ต่อไปในอนาคต เราพอจะวาดภาพสังคมไทยได้ค่อนข้างชัดเจนว่า เราจะเห็นคนอายุมากๆ 80-90 ปีขึ้นไปออกมาปรากฏตัวในที่สาธารณะมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตามถนนหนทาง สวนสาธารณะ หรือศูนย์การค้า สังคมไทยอาจเดินช้าลงบ้าง แต่ก็น่าจะสุขุมรอบคอบขึ้น

   
แม่อนงค์ นิตย์พิบูลย์ อายุ 104 ปี กรุงเทพฯ

Since 25 December 2012