ประชากรต่างแดน

อีโบลา.......มัจจุราชหน้าเดิมที่กลับมาอีกครั้ง

อมรา สุนทรธาดา This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา สื่อสังคมเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในกลุ่มประเทศของทวีปแอฟริกาอย่างต่อเนื่อง มีผู้ป่วยเสียชีวิตราวใบไม้ร่วงในกินี ไลบีเรีย ไนจีเรีย เซเนกัล และเชียร์ราลีโอน จากการระบาดของไวรัสอีโบลา โรคนี้เคยระบาดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2519 ในประเทศคองโก ใกล้บริเวณแม่น้ำอีโบลา ซึ่งกลายเป็นชื่อของโรคระบาดนับแต่นั้นมา ไวรัสอีโบลาหรือโรคไข้เลือดออกที่คนทั่วไปคุ้นเคย ณ ปัจจุบันยังไม่มีตัวยาที่รักษาผู้ป่วย โอกาสรอดชีวิตเกือบเป็นศูนย์ องค์การอนามัยโลกรายงานว่า มีแพทย์และพยาบาลเสียชีวิตจากการติดเชื้ออีโบลาแล้ว 120 ราย และมีผู้เสียชีวิต 2,461 ราย ตั้งแต่เริ่มการระบาดช่วงเดือนสิงหาคมจนถึงวันที่ 13 กันยายน 2557 สหรัฐอเมริกาส่งกำลังพล 3,000 คน ประกอบด้วยทหารและบุคลากรสาธารณสุข ไปปฏิบัติการในเชียร์ราลีโอน เช่นเดียวกับที่จีนส่งแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านห้องทดลอง 174 คน ไปช่วยเหลือ
 
การเคลื่อนย้ายผู้เสียชีวิตด้วยมาตรการปลอดภัยสูงสุด

การเคลื่อนย้ายผู้เสียชีวิตด้วยมาตรการปลอดภัยสูงสุด

            รัฐบาลเร่งมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อให้ความรู้กับประชาชน เช่น ให้ตระหนักว่าโรคระบาดอีโบลาไม่ติดต่อทางลมหายใจ เมื่อพบผู้ป่วยต้องสงสัยหรือรู้สึกว่ามีอาการไข้ขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว อาเจียน ท้องเสียรุนแรง ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร มีอาการปวดกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย ให้พบแพทย์ทันที ถ้าผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวเสียชีวิตให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้เสียชีวิต หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าที่ปรุงไม่สุก หลีกเลี่ยงการสัมผัสนกหรือสัตว์ป่าที่กินผลไม้โดยเฉพาะค้างคาวเพราะเป็นพาหะโรค อย่างไรก็ตามการให้ความรู้ดังกล่าวดูจะไร้ผลในทางปฏิบัติ เช่น การรักษาผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้ออีโบลา จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแยกผู้ป่วยให้อยู่ในเขตปลอดเชื้อโดยลำพัง เพื่อการเฝ้าระวังอย่างน้อย 21 วัน ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย หรือแม้แต่การสัมผัสผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้ว

            การต่อต้านจากญาติที่ต้องการนำผู้ป่วยกลับบ้านเมื่อคิดว่าหมดทางรักษา และต้องการให้ไปเสียชีวิตที่บ้าน กลายเป็นข้อ
ขัดแย้งในภาวะวิกฤตเช่นนี้ สถานพยาบาลจำเป็นต้องมีมาตรการคุมเข้มเพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือขโมยศพออกจาก
โรงพยาบาล
อาหารป่าจานโปรดของประชากรส่วนใหญ่ในแอฟริกา

            เราได้บทเรียนอะไรบ้างจากการที่โลกเผชิญกับภัยคุกคามจากการระบาดของโรคที่ร้ายแรงเช่นนี้มาตรการเพื่อเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มข้นในประเทศที่กำลังวิกฤต เช่น กินีไลบีเรีย และประเทศที่กำลังเป็นจุดเสี่ยง เช่น ไนจีเรีย และไอวอรีโคสต์ ส่งผลกระทบต่อประชากรส่วนใหญ่ เกิดภาวะ ‘ตระหนก’ มากกว่า ‘ตระหนักรู้’ ประชาชนในกรุงมอนโรเวีย ประเทศไลบีเรีย ใช้ก้อนอิฐขว้างทำลายโรงพยาบาล รวมทั้งคุกคามเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพราะไม่พอใจประสิทธิภาพการทำงานที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
จนในที่สุดต้องสั่งปิดโรงพยาบาลชั่วคราว ไอวอรีโคสต์ปิดชายแดนรอยต่อระหว่างประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นจุดเสี่ยงสูงสุด
มีผลทำให้การค้าขายผลิตผลการเกษตรโดยเฉพาะผลโกโก้ถูกกระทบอย่างรุนแรง ราคาสินค้าประเภทอื่นๆ พุ่งสูงตามทันทีจนเกิดภาวะขาดแคลน ไนจีเรียมีมาตรการตรวจเข้มการเดินทางระหว่างประเทศทางอากาศ คนขับรถแท็กซี่รับส่งผู้เดินทางจากสนามบินตกงานเพราะจำนวนผู้โดยสารลดลง จำนวนสัปเหร่อในไลบีเรียลดลงเนื่องจากการติดเชื้อและเสียชีวิต รวมทั้งไม่อยากเสี่ยง จนต้องเร่งหาอาสาสมัครเพื่อรับมือกับภารกิจที่เพิ่มมากขึ้นจากจำนวนผู้เสียชีวิต การเปลี่ยนแปลงที่กระทบชีวิตปกติอีกประการหนึ่งคือเพื่อนบ้านปฏิเสธไปร่วมงานศพ

            บทความนี้ขอจบด้วยเรื่องราวของนายแพทย์เคนท์ เบร็นท์ลี่ชาวอเมริกัน ที่สื่อสังคมประโคมข่าวความกล้าหาญและความ
เสียสละในฐานะแพทย์อาสาทำงานในไลบีเรีย เขาติดเชื้อไวรัสอีโบลา แต่รอดชีวิตได้ราวปาฏิหารย์หลังจากถูกส่งตัวกลับสหรัฐอเมริกาและอยู่ในการดูแลของแพทย์ด้วยการใช้ยา ZMapp ที่ยังไม่เคยทดลองในคนมาก่อน เพราะอย่างน้อยๆ ก็เป็นกำลังใจสำหรับคณะทำงานทดลองวัคซีน 2 ตัว และตัวยาอื่นๆ อีก 8 ชนิด รวม ZMapp ด้วย ว่าการทดลองในคนนั้นมีความเป็นไปได้และได้ผล ถ้าอีโบลาจะกลับมาระบาดอีกครั้ง เราคงไม่ได้ยินเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดจากการตื่นตระหนกโกลาหล หนีตายอย่างที่เล่าสู่กันฟังในบทความนี้

งานนี้อีโบลา.......ไม่รับคำท้า ZMapp

Since 25 December 2012