ประเด็นทางประชากรและสังคม

ข้อถกเถียงของนักสตรีนิยมต่อกรณี “การอุ้มบุญ” ตอน 1

สุชาดา ทวีสิทธิ์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

    การอุ้มบุญ แปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า surrogacy แต่หากจะแปลคำนี้ให้ถูกต้องสอดคล้องตามข้อเท็จจริงแล้ว เราควรจะแปลคำนี้ว่า การตั้งครรภ์แทน หรือ การอุ้มท้องแทน ซึ่งให้ความหมายที่เป็นกลางกว่าการอุ้มบุญ การตั้งครรภ์แทน หมายถึง การที่ผู้หญิงคนหนึ่งสมัครใจรับท้องแทนหรือรับอุ้มท้องแทนให้กับบุคคลอื่น โดยให้พันธะสัญญาว่า ทารกที่คลอดออกมาจะต้องเป็นบุตรของผู้ที่ขอให้ตั้งครรภ์แทน การตั้งครรภ์แทนจะต้องไม่ใช้ไข่ของผู้หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมาผสมกับอสุจิบริจาคหรือของผู้ชายที่ต้องการมีลูก ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์แทนให้เพียงมดลูกของเธอเป็นที่ฝังตัวและเป็นที่ที่ตัวอ่อนที่ผสมเสร็จแล้วจากข้างนอกสามารถเติบโตจนกระทั่งถึงกำหนดคลอด
บุคคลที่ขอให้ผู้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนอาจเป็นสามีภรรยาที่มีบุตรยาก เช่น สามีเป็นหมัน หรือภรรยามีปัญหามดลูกไม่รับการเกาะของตัวอ่อน ฯลฯ การตั้งครรภ์แทนอาจเกิดขึ้นในกรณีของผู้หญิงที่ไม่อยากตั้งครรภ์เองเพราะว่ากลัวความเจ็บปวดจากการคลอด หรืออาจได้รับอันตรายจากการตั้งครรภ์หรือการคลอด อย่างไรก็ตามเราอาจได้พบเรื่องนี้ในกรณีหญิง/ชายที่เป็นคนโสดแต่อยากมีลูกด้วย หรือพบในกรณีคู่ชีวิตเพศเดียวกัน เช่น ชายรักชาย หรือ หญิงรักหญิง ที่ต้องการมีลูกและเลี้ยงลูกด้วยกัน การตั้งครรภ์แทนที่พบเห็นมีอยู่ 2 กรณี

     กรณีแรก เรียกว่า การตั้งครรภ์แทนเพื่อมนุษยธรรม (altruistic surrogacy) เพราะช่วยให้คนมีบุตรยากหรือคนมีลูกด้วยตัวเองไม่ได้แต่อยากมีลูก ได้มีลูกสมปรารถนา อันนี้จะไม่ใช่เป็นการว่าจ้างกัน เพราะคนที่รับท้องแทนอาจเป็นญาติพี่น้อง โดยผู้ขอให้ตั้งครรภ์แทนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดูแลระหว่างตั้งครรภ์และค่าคลอดให้กับผู้หญิงที่รับอุ้มท้องแทน

     กรณีที่สอง การตั้งครรภ์แทนเพื่อค่าจ้าง (commercial surrogacy) คือ ผู้ที่ต้องการมีลูกโดยว่าจ้างผู้หญิงที่ไม่ใช่ญาติพี่น้องมารับตั้งครรภ์แทน ผู้ว่าจ้างอาจจ่ายเงินค่าจ้างผ่านบริษัทคนกลางที่เข้ามาจัดบริการให้ทั้งหมด ตั้งแต่จัดหาผู้หญิงตามคุณสมบัติที่ต้องการมาให้เลือก จัดหาไข่ จัดหาอสุจิ หาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยี ตลอดจนให้การดูแลหญิงรับตั้งครรภ์แทนจนกระทั่งคลอด และช่วยดำเนินการเกี่ยวกับการรับบุตรบุญธรรม โดยผู้ที่อยากมีลูกจ่ายค่าบริการตามที่ตกลงไว้ ในกรณีนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการรับจ้างตั้งครรภ์ข้ามชาติ กล่าวคือ ผู้ที่ต้องการมีลูกจากประเทศโลกที่หนึ่ง ซึ่งมีกฎหมายห้ามการจ้างตั้งครรภ์แทน ไปว่าจ้างให้ผู้หญิงยากจนในประเทศด้อยพัฒนารับตั้งครรภ์แทน โดยให้ค่าจ้างในอัตราที่สูงพอที่จะทำให้ผู้หญิงยากจนยินดีที่จะรับจ้างตั้งครรภ์แทน

     อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์ผู้หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน พบว่า บ่อยครั้งที่เหตุผลของการรับตั้งครรภ์แทนของผู้หญิงในทั้งสองกรณีมีความทับซ้อนกัน กล่าวคือ ผู้หญิงจำนวนหนึ่งรับตั้งครรภ์แทนเพราะอยากได้เงินค่าจ้างก็จริง ในขณะเดียวกันก็คิดว่าเป็นการช่วยเหลือคนที่อยากมีลูกให้มีลูกด้วยและคิดว่านี่เป็นการสร้างบุญกุศลอย่างหนึ่ง ข้อเท็จจริงนี้ยืนยันได้จากการได้สัมภาษณ์ผู้หญิงไทยที่รับจ้างอุ้มบุญ

     ความสำเร็จในการคิดค้นวิธีการอุ้มท้องแทน แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นโต้แย้งด้านจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หลายเรื่องทีเดียว ที่ไม่สามารถคลี่คลายได้ง่ายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งครรภ์แทนซึ่งเกิดขึ้นในบริบทของการว่าจ้าง

     ในประเทศที่มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ชัดเจน มักอนุญาตให้มีการรับตั้งครรภ์แทนเพื่อมนุษยธรรมเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อช่วยสามีภรรยาที่มีบุตรยากให้มีบุตรได้ แต่ไม่อนุญาตให้มีการรับจ้างตั้งครรภ์แทนเพื่อการพาณิชย์ อีกทั้งไม่อนุญาตให้บริษัทนายหน้ามารับเป็นคนกลางติดต่อหาผู้หญิงมารับจ้างอุ้มท้องแทน ยิ่งในสังคมที่เชื่อฝังหัวว่า ครอบครัวที่พึงปรารถนาต้องเป็นครอบครัวที่ประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูก โดยพ่อและแม่ต้องเป็น “ชายจริง” กับ “หญิงแท้” เท่านั้น ยิ่งคัดค้านไม่อนุญาตให้คนโสด หรือ คู่ชีวิตที่เป็นเพศเดียวกันได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้มาสร้างลูกของตัวเอง

            โปรดติดตามอ่านข้อถกเถียงของนักสตรีนิยมต่อกรณี “การอุ้มบุญ” ตอนที่ 2 ได้ในประชากรและการพัฒนาฉบับต่อไป ฉบับที่ 2 ปีที่ 35 (ธันวาคม 2557-มกราคม 2558)

Since 25 December 2012