เวทีวิจัยประชากรและสังคม

สังคมไทยยอมรับความหลากหลายทางเพศจริงหรือ?

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.


เมื่อมองเผินๆ เราอาจเห็นว่าสังคมไทยเปิดกว้างต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นกว่าในอดีต เช่น เกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ คนเหล่านี้สามารถใช้ชีวิตอย่างเปิดเผยได้มากขึ้น หลายคนเป็นผู้มีหน้ามีตาในสังคม เป็นดารานักแสดง นักร้อง ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง

    แต่ในความเป็นจริง สังคมไทย ยอมรับกลุ่มคนเหล่านี้จริงหรือ?

      “นิด้าโพล” ซึ่งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “สังคมไทยคิดอย่างไรกับเพศที่ 3” ระหว่างวันที่ 15-16 พ.ค. 56 จากประชาชนทั่วประเทศ ทุกภูมิภาคของไทย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 88.5 ยอมรับได้ หากมีเพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานเป็นเพศที่ 3 มีเพียงร้อยละ 8.8 เท่านั้น ที่ตอบว่าไม่สามารถยอมรับได้เพราะเป็นการฝืนธรรมชาติ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กร

     แต่ถ้าหากมีสมาชิกหรือคนในครอบครัวเป็นเพศที่ 3 นั้น ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.6 ยอมรับได้ ในขณะที่ร้อยละ 17.3 ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะผิดกฎธรรมชาติ ยังต้องการผู้สืบทอดสกุล และเพศที่ 3 มีพฤติกรรมบางอย่างสะดุดตาผู้คน ทำให้ทำใจยอมรับไม่ได้

     ถึงแม้ว่ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ จะสามารถเข้ามามีบทบาททางสังคมได้มากขึ้น แต่ก็ยังเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น

     สื่อสาธารณะมักให้ภาพคนเหล่านี้เป็นตัวประกอบ ตัวตลก ผู้ร้าย หรือมักสื่อว่าคนเหล่านี้มีความบกพร่องทางจิต ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจของสังคมไทยต่อกลุ่มคนเหล่านี้ แม้จะดูเหมือนว่าสังคมเปิดกว้าง แต่ก็ไม่ได้ยอมรับว่าคนเหล่านี้เป็นคนปกติ เหมือนกับประชากรคนอื่นๆ ที่นิยามว่าตนเองเป็น “หญิง” หรือ “ชาย”

     สังคมไทยมักใช้คำว่า “เบี่ยงเบนทางเพศ” ในการเรียกคนที่ไม่ปฏิบัติตามแบบแผนหรือบทบาททางเพศที่สังคมได้กำหนด สื่อถึงความบกพร่อง ไม่ปกติ การมองกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในลักษณะดังกล่าวนั้น บ่มเพาะให้เกิดอคติและความรุนแรงที่แอบแฝงอยู่ในสังคม หลายคนยังถูกดูถูก เหยียดหยาม และไม่ได้รับสิทธิที่เขาพึงจะได้รับ

     จากการวิจัยของอาจารย์แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งสำรวจความหลากหลายทางเพศของเด็กมัธยม 2,700 คน จากโรงเรียน 5 แห่งในกรุงเทพฯ พบว่า
มีเด็กวัยรุ่นที่คิดว่าว่าตัวเองมีความหลากหลายทางเพศร้อยละ 11 ซึ่งในร้อยละ 11 นั้นส่วนมากไม่รู้ว่าตัวเองเป็นเพศไหน

     มีพ่อแม่จำนวนหนึ่งซึ่งมีลูกที่มีความหลากหลายทางเพศ ส่งลูกไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์แก้ไข “ความเบี่ยงเบนทางเพศ” ของเด็กเหล่านี้ให้กลับมาเป็น “ปกติ” ดังเดิม

     อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยข้างต้นพบว่า หากพ่อแม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศของเด็ก จะส่งผลให้เด็กมีผลการเรียนดีขึ้น มีความสุขมากกว่า ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าน้อยกว่า และคิดฆ่าตัวตายน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในทางกลับกันความพยายาม
ที่จะแก้ไขอัตลักษณ์ทางเพศนั้นกลับเป็นผลเสียและอาจนำมาสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา

     ปัจจุบัน กลุ่มคนหลากหลายทางเพศในประเทศไทยได้มีการเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิด พ.ร.บ. คู่ชีวิตขึ้น ซึ่งเป็น พ.ร.บ. ที่จะรับรองสิทธิให้กับคู่ที่จดทะเบียนภายใต้ พ.ร.บ.นี้ ในการแบ่งสมบัติเมื่อหย่าร้าง รับรองสิทธิในการเยี่ยมคู่ชีวิตของตนเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย หรือเป็นผู้รับสมบัติของคู่ชีวิตที่เสียชีวิตไป เป็นต้น เนื่องจากพบว่า คู่รักร่วมเพศหลายคู่ที่แม้ว่าจะใช้ชีวิตร่วมกันมานานนับสิบปี แต่กลับไม่ได้รับสมบัติที่ร่วมหามาด้วยกันเมื่อตอนที่คู่ครองมีชีวิตอยู่ โดยสมบัติเหล่านั้นต้องตกทอดไปให้ญาติของผู้เสียชีวิต เนื่องจากไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิและสถานภาพของคู่ชีวิต บางคนไม่ได้รับอนุญาตให้เฝ้าไข้คู่ชีวิตของตนซึ่งพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เนื่องจากไม่ใช่สามี ภรรยา หรือญาติ จะเห็นได้ว่ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังถูกจำกัดสิทธิทางกฎหมายในหลายๆ ด้าน

     แม้สังคมไทยจะเปิดกว้างกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่การเปิดกว้างนั้นก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขและเท่าเทียมกับคนทั่วไป หรือได้รับสิทธิเท่าเทียมกับประชาชนคนอื่นๆ นอกจากนั้นคนบางส่วนในสังคมยังเห็นว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดปกติและต้องได้รับการแก้ไข บางคนมีความรู้ ความสามารถ สามารถทำประโยชน์มากมายให้กับประเทศชาติ แต่ต้องกลับทนต่อการหยามเหยียดเนื่องจากเพศสภาพของตน

    สังคมไทยต้องทำความเข้าใจว่าอัตลักษณ์ทางเพศนั้นมีความหลากหลาย และทุกคนๆ ไม่ว่าจะหญิง ชาย เกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล หรือคนข้ามเพศ ก็ควรมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง         

อ้างอิง

  • กะเทาะเปลือก ‘นักกีฬาเกย์’ สังคมไทย รับได้หรือยังษ?, ไทยรัฐออนไลน์, (10มกราคม 2557)
    เข้าถึงได้จาก http://www.thairath.co.th/content/394893
  • ไม่รู้...ตัวเอง...เพศอะไร ?, ประชาชาติออนไลน์, (4 กันยายน 2557)
    เข้าถึงได้จาก http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1409816785

Since 25 December 2012