นานาสาระประชากร
อันเนื่องมาจากแม่ร้อยปี ๒๕๕๗
ปราโมทย์ ประสาทกุล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
วันแม่ปีนี้ ผมมีโอกาสได้รับใช้มหาวิทยาลัยมหิดลด้วยการช่วยคัดเลือก “แม่ร้อยปี” เพื่อเข้ารับรางวัลในงานวันแม่ของมหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง ผมมีส่วนเกี่ยวข้องกับแม่ร้อยปี-มหิดลมานาน น่าจะเกิน 20 ปีแล้ว จนน้องๆ หลายคนที่มหาวิทยาลัยชอบทักผมว่าเป็น “พ่อร้อยปี”
ศตวรรษิกชน คนร้อยปี
“แม่ร้อยปี” ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า centenarian mother ก็น่าจะได้ ที่จริง ผมอยากใช้ศัพท์ภาษาไทยให้ฟังดูสูงศักดิ์ มีราศีสักหน่อย สำหรับคนที่มีอายุถึงร้อยปีซึ่งย่อมไม่ใช่คนธรรมดา ไม่ใช่ว่าใครก็มีชีวิตอยู่ถึงร้อยปีได้ ผมจึงขอยืมคำภาษาสันสกฤตมาสร้างคำใหม่สำหรับแม่ร้อยปีว่า “ศตวรรษิกมาต” (อ่านว่า สะ-ตะ-วัด-สิ-กะ-มาด) อ๊ะ! ฟังดูโก้ไม่เบา แต่หลายคนคงนึกนินทาว่าผมดัดจริตเอาภาษาต่างประเทศมาใช้ บางคนฟังแล้วคงไม่รู้สึกโก้ไปกับผมด้วย ผมใช้คำว่า “ศตวรรษิกชน” (อ่านว่า สะ-ตะ-วัด-สิ-กะ-ชน) เพื่อหมายถึงคนที่มีอายุร้อยปีขึ้นไป ภาษาอังกฤษใช้คำว่า centenarian บางทีผมก็ใช้คำสันสกฤตและไทย ตีคู่กันไปเลยว่า “ศตวรรษิกชน คนร้อยปี” คล้องจองกันดีด้วย
การที่ผมอยากให้้้มีศัพท์เฉพาะเพื่อเรียกคนที่มีอายุร้อยปีขึ้นไปนี้ เพราะเห็นว่าศตวรรษิกชนเป็นคนพิเศษ ถ้าไม่พิเศษเหนือมนุษย์ธรรมดาก็คงไม่สามารถมีชีวิตยืนยาวอยู่ได้จนถึงเลขสามหลัก เดี๋ยวนี้คนไทยมีิอายุยืนกว่าคนแต่ก่อนมาก โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยมีอายุคาดเฉลี่ย 74 ปี ดังนั้น ก็เท่ากับว่าศตวรรษิกชนมีอายุยืนยาวกว่าอายุเฉลี่ยของคนไทยตั้งเกือบ 30 ปี สุดยอดจริงๆ!
อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมเห็นว่าเราควรต้องเตรียมศัพท์เรียกคนอายุร้อยปีขึ้นไปเป็นการเฉพาะ คือในอนาคตอันใกล้นี้ประชากรอายุเกินร้อยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในสังคมไทย เดี๋ยวนี้ คนไทยมีสุขภาพดีขึ้น สิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลก็ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน เชื้อโรคหลายชนิดที่เคยอาละวาดผลาญชีวิตคนคราวละมากๆ ก็ลดน้อยลงหรือบางชนิดก็ถูกกำจัดให้หมดไป อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคมีคุณภาพดีขึ้น โอกาสที่คนจะมีชีวิตอยู่จนอายุถึงร้อยปีจึงมีสูงขึ้นอย่างมาก คอยดูเถอะ! อีกไม่ช้า เช่นไม่เกิน 30 ปีนับจากนี้ (ถ้าใครยังไม่ด่วนตายเสียก่อน) ก็คงจะได้เห็นศตวรรษิกชนจำนวนหลายหมื่นคนในประเทศไทย กลุ่มชนผู้มีวัยวุฒิอาวุโสสูงสุดเหล่านี้ ถ้าจะเรียกขานกันด้วยคำง่ายๆ ว่า “คนร้อยปี” ก็จะฟังดูธรรมดาเกินไป ไม่สมศักดิ์ศรีนะครับ
ศตวรรษิกชนที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ต้องดูตัวอย่างจากญี่ปุ่น เมื่อ 50 ปีก่อน ญี่ปุ่นมีคนร้อยปีอยู่แค่ร้อยกว่าคนเท่านั้น แต่ประชากรกลุ่มอายุสูงสุดนี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เดี๋ยวนี้ ญี่ปุ่นมีศตวรรษิกชนอยู่ราว 5 หมื่นคน เป็นรองก็แต่สหรัฐอเมริกาที่มีศตวรรษิกชนมากที่สุดในโลก คือมีมากกว่า 5 หมื่นคน แต่ถ้าดูขนาดประชากรของทั้งสองประเทศ ในขณะที่สหรัฐมีคนทั้งหมดประมาณ 317 ล้านคน ญี่ปุ่นมีแค่ 127 ล้านคน แต่ศตวรรษิกชนกลับมีจำนวนสูสีกัน แสดงว่าญี่ปุ่นมีสัดส่วนประชากรอายุร้อยปีขึ้นไปสูงกว่าสหรัฐ เราพอจะพูดได้ว่าญี่ปุ่นมีสัดส่วนศตวรรษิกชนสูงที่สุดในโลก (ประมาณ 39 ต่อประชากรแสนคน)
แม่สุณีย์ เสน่หา อายุ 101 ปี พิษณุโลก |
แม่ใบ คำก้อน อายุ 103 ปี อุบลราชธานี |
แม่แป้น สนสิน อายุ 105 ปี นครปฐม |
ศตวรรษิกชน ของจริงหรือของปลอม
เดี๋ยวนี้ เราจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับศตวรรษิกชนอยู่บ่อยๆ ข่าวว่าพบพ่อเฒ่าแม่เฒ่าอายุ 100 กว่าปีที่ยังแข็งแรงอยู่อำเภอนั้น ตำบลนี้ บางคนอายุถึงร้อยสิบร้อยยี่สิบปียังเดินเหินไปมาคล่องแคล่ว ทุกครั้งที่ได้ยินข่าวเกี่ยวกับคนร้อยปีในประเทศไทย ผมจะนึกถึงการคัดเลือกแม่ร้อยปี-มหิดล
นับเป็นข้อดีที่มหาวิทยาลัยมหิดลประกวดเฉพาะแม่ร้อยปี ซึ่งช่วยให้เรากรองอายุของแม่ได้ง่ายขึ้น การคัดเลือกแม่ร้อยปีของมหิดล เราใช้วิธีดูจากอายุของลูกๆ หักลบอายุแม่และอายุลูกๆ แล้ว ก็ต้องมีเหตุผลพอเชื่อได้ว่า แม่มีอายุตามบัตรประจำตัวประชาชนจริง ถ้ามีลูกคนสุดท้องเมื่อแม่อายุ 50 ปีขึ้นไปแล้วเราก็จะตั้งข้อสงสัยว่าอายุแม่ ปีเกิดของแม่ที่ปรากฏอยู่ในบัตรประจำตัวประชาชนอาจไม่ถูกต้อง บางครั้ง ถ้าลดอายุลง 12 ปี หรือหนึ่งรอบปีนักษัตรอายุของแม่ก็ดูสมเหตุสมผลมากขึ้น เราอยากได้หลักฐานยืนยันอายุของแม่ที่เข้าประกวด แต่ตามความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐ และชาวบ้าน หลักฐานอย่างเป็นทางการที่จะแสดงอายุของบุคคลก็คือวันเดือนปีเกิด
ที่ระบุไว้ในบัตรประจำตัวประชาชนนั่นเอง
ผมอยากจะบอกว่า ปีเกิดในบัตรประจำตัวประชาชนและในทะเบียนบ้านของประเทศไทยยังมีข้อผิดพลาดอยู่อีกบ้าง บัตรประจำตัวประชาชนที่ให้เลข 13 หลักเป็นเลขประจำตัวของแต่ละคนเพิ่งเริ่มทำกันมาเมื่อประมาณ 30 กว่าปีมานี้เอง เมื่อราวปี 2520 กว่าๆ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้นำเอาชื่อคนในทะเบียนสำมะโนครัวมาใส่ไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ ตอนนั้น ประชากรไทยมีจำนวนราว 45 ล้านคน ข้อมูล ชื่อ วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ของทุกคน พร้อมเลข 13 หลัก ได้ถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ แน่นอนว่าขั้นตอนการนำเข้าข้อมูลสู่คอมพิวเตอร์นี้อาจเกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้ ไม่ว่าจะเป็นการสะกดชื่อ สกุล หรือการใส่วันเดือนปีเกิด ยิ่งวันเดือนปีเกิดของคนอายุสูงๆ เช่น อายุ 90 หรือ 100 ปีขึ้นไป ก็อาจผิดพลาดไม่ชัดเจนมาตั้งแต่ต้นฉบับ ซึ่งอาจใส่วันเดือนปีเกิดตามปฏิทินจันทรคติ บางคนใส่เฉพาะปีเกิด ไม่มีวันเดือน และปีเกิดของคนสูงอายุก็มักบอกเป็นปีนักษัตร ชวด ฉลู ขาล เถาะ... จึงมีโอกาสผิดพลาดได้ง่ายเมื่อแปลงข้อมูลเวลาเกิดให้เป็นไปตามระบบสุริยคติ
ในทะเบียนราษฎรของประเทศไทย เมื่อ 4-5 ปีก่อน ปรากฏว่ามีศตวรรษิกชน-คนร้อยปีอยู่ประมาณ 2 หมื่นกว่าคน แต่มีลูกศิษย์ของผมคนหนึ่ง (อ.ศุทธิดา ชวนวัน) ประมาณว่าคนร้อยปีในทะเบียนราษฎรเป็นของจริงอยู่แค่ประมาณ 10% เท่านั้น อีก 90% เป็นผู้มีอายุเกินร้อยปีตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร แต่ตัวจริงตายไปแล้วโดยที่ชื่อยังคงค้างอยู่บ้าง ข้อมูลปีเกิดไม่ถูกต้องบ้าง ผมทราบว่า ทางสำนักบริหารการทะเบียนฯ ได้พยายามปรับปรุงแก้ไขให้ข้อมูลทะเบียนราษฎรมีความถูกต้อง ในอดีต เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เคยเห็นข้อมูลว่าคนร้อยปีในทะเบียนราษฎรมีเป็นจำนวนนับแสนคน ต่อมาได้มีการชำระสะสางข้อมูลให้ “สะอาด” ขึ้น คัดชื่อคนที่เสียชีวิตแล้วออกไปเป็นจำนวนมาก ก็ทำให้ข้อมูลสะอาดขึ้นระดับหนึ่ง
ถ้าให้ผมประมาณจำนวนศตวรรษิกชนที่ยังมีชีวิตอยู่จริงๆ จากที่มีชื่อในทะเบียน 20,953 คนในปี 2556 ผมจะประมาณว่าในปี 2557 นี้ มีคนร้อยปีอยู่ในประเทศไทยราว 2,000 คน เฉลี่ยแล้วจังหวัดหนึ่งมีคนร้อยปีจริงๆอยู่ 27 คน เมื่อผมมีโอกาสไปตามหมู่บ้านชนบท ผมชอบถามชาวบ้านว่า คนที่มีิอายุสูงสุดในหมู่บ้านอายุเท่าไร และมีคนอายุถึงร้อยปีในหมู่บ้านตำบลนั้นบ้างหรือไม่ ต้องยอมรับว่า หาศตวรรษิกชนสักคนตามหมู่บ้านไม่ง่ายนัก แต่ผมเชื่อว่าจำนวนศตวรรษิกชนไทยจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ อีก 20-30 ปีข้างหน้า ศตวรรษิกชนที่ยังมีชีวิตอยู่และมีอายุเกินร้อยปีจริงๆ น่าจะมีจำนวนขึ้นถึงหลักหมื่นอย่างแน่นอน และเมื่อนั้น เราก็จะหาตัวคนร้อยปีตามหมู่บ้านต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
ทำไมศตวรรษิกชนจึงอายุยืน
นานมาแล้ว ผมถามคุณตาอายุ 101 ปีท่านหนึ่งว่า “ทำไมคุณตาถึงอายุยืนอย่างนี้ครับ” คุณตาตอบว่า “ก็มันยังไม่ตายนี่”ผมก็ว่าจริงของท่าน เมื่ออายุมากถึงร้อยกว่าปีแล้วยังไม่ตาย ก็เท่ากับเป็นคนอายุยืน ผมถามคำถามเดียวกันนี้กับคุณยายอีกหลายคน คำตอบที่ได้ก็ไม่ชัดเจนนัก บางคนตอบว่า “ไม่รู้” บางคนอ้ำอึ้ง ไม่ตอบอย่างไร คงคล้ายๆ คำตอบที่พวกเราชอบพูดกันเล่นๆ ว่า “ถ้าอยากอายุยืน ก็จงหมั่นหายใจไว้” แล้วสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ชีวิตบางคนยืนยาวจนได้ชื่อว่าเป็นศตวรรษิกชนคืออะไรกันแน่
อาหารการกินเกี่ยวไหม? บางคนว่าคนที่กินแต่ผักแต่ปลา ไม่กินอาหารรสจัด อายุจะยืน แต่ผมก็ยังสงสัยว่า คนที่กินแต่ผักแต่ปลา ไม่กินอาหารรสจัด ก็ตายไปเสียมากต่อมาก แม่ร้อยปีที่ผมเคยพบบางคน กินอาหารได้เกือบทุกอย่างที่พอจะเคี้ยวได้ แต่อาหารการกินหรือที่เรียกว่า “โภชนาการ” ก็น่าจะมีส่วนอยู่มาก อาหารพื้นบ้านประเภทน้ำพริกผักปลา ไม่ต้องหรูหราอย่างอาหารตามภัตตาคารก็น่าจะทำให้คนเราอายุยืนขึ้นบ้าง
พันธุกรรมก็น่าจะมีส่วนอยู่เหมือนกัน ใครมีพ่อแม่พี่น้อง ปู่ย่าตายายอายุยืน ก็จะทำให้โอกาสที่ตัวเองจะมีอายุยืนมากขึ้นได้ ผมเคยถามแม่ร้อยปีที่ได้ไปพบอยู่เหมือนกันเรื่องพันธุกรรม หลายคนก็มีญาติพี่น้องอายุยืน แม้จะไม่ถึงร้อยปี แต่ก็ใกล้เคียง
ผมว่าอารมณ์มีส่วนสำคัญที่ทำให้คนอายุยืน เท่าที่ได้พบแม่ร้อยปีมาหลายคน ผมสังเกตว่าเกือบทุกคนมีอารมณ์ดี หลายคนมีอารมณ์ขัน และสนุกสนาน ผมได้ฟังแม่ร้อยปีหลายคนร้องเพลง เคยรำวงกับแม่ร้อยปี ได้คุยกับแม่ร้อยปีอย่างสนุกสนาน ผมเคยพูดกับเพื่อนร่วมงานที่ไปเยี่ยมแม่ร้อยปีด้วยกันว่าถ้าอยากจะมีชีวิตอยู่จนมีอายุถึงร้อยปี เราต้องหัดเป็นคนอารมณ์ดี ใจดี ลองคิดดู ถ้าเราเป็นคนจู้จี้ ขี้บ่น หงุดหงิด อารมณ์บูดเสียอยู่บ่อยๆ หรือไม่ทำตัวให้เป็นที่รักของคนรอบข้าง ก็คงจะไม่มีใครเขาอยากช่วยดูแลเอาใจใส่ แล้วก็ยากที่เราจะมีชีวิตรอดอยู่จนอายุถึงปานนั้น
คุยเรื่องศตวรรษิกชน คนร้อยปีแล้ว ก็ชักไม่แน่ใจว่าตัวเองอยากมีชีวิตอยู่จนเป็น “ศตวรรษิกชน” หรือเปล่า เมื่ออายุถึงร้อยปี เพื่อนรุ่นเดียวกันก็ไม่มี เหงาแย่ ขออยู่ยืนพอประมาณ เอาแค่ 80 ปีอย่างที่ตั้งใจไว้เดิมดีกว่าครับ