ประเด็นประชากรที่น่าสนใจ
สถานการณ์ “แม่วัยใส” รอบโลก
มนสิการ กาญจนะจิตรา This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
“แม่วัยใส” หรือ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น คือการตั้งครรภ์ของสตรีที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลก เป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ในทุกประเทศทั่วโลก แต่พบมากที่สุดในประเทศที่กำลังพัฒนา ข้อมูลทางสถิติแสดงให้เห็นว่า ร้อยละ 95 ของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เกิดในประเทศที่กำลังพัฒนา
ในประเทศที่กำลังพัฒนาเหล่านี้ สาเหตุหลักๆ ของวัยรุ่นตั้งครรภ์ คือ การต้องแต่งงานเร็ว ความไม่เท่าเทียมทางเพศ
ความยากจน การมีการศึกษาน้อย และการไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้
แอฟริกา เป็นทวีปที่มีอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสูงที่สุดในโลก คือราว 140 รายต่อประชากรในกลุ่มอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ด้วยค่านิยมทางสังคมและด้วยสถานะทางเศรษฐกิจที่ยากจน หญิงสาวในประเทศเหล่านี้มักแต่งงานเร็ว อายุยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ก็ต้องแต่งงานกันแล้ว คนในกลุ่มนี้จึงมีบุตรเร็วตามไปด้วย แต่ความซับซ้อนคือ การแต่งงานโดยมากไม่ได้เป็นไปโดยความสมัครใจของเด็กสาว แต่เป็นการบังคับจากครอบครัวและสังคม ในหลายครั้ง เด็กเหล่านี้ไม่ได้ทราบเลยด้วยซ้ำว่ากำลังโดนจับแต่งงาน ตัวอย่างเช่น
หญิงสาวคนนี้จากสาธารณรัฐชาดในแอฟริกา
“ตอนนั้นฉันอายุ 14 แม่กับพี่สาวของแม่กำลังเตรียมอาหาร และพ่อก็บอกให้พวกเราไปแต่งตัวให้สวยๆ เพราะเรากำลังจะจัดงานเลี้ยงที่บ้าน ตอนนั้น ฉันไม่รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ฉันก็ร่วมฉลองไปกับทุกๆ คน ตอนหลังฉันถึงได้รู้ว่าเป็นงานแต่งงานของฉันเอง และฉันต้องย้ายไปอยู่กับสามี ฉันพยายามหนี แต่ก็โดนจับได้ ก็เลยต้องอยู่กับสามีที่อายุมากกว่าฉันถึง 3 เท่า และ 10 เดือนถัดมา ฉันก็คลอดลูกคนแรก”
หญิงสาววัย 17 ปี จากสาธารณรัฐชาด
อินเดีย เป็นอีกประเทศที่ประชากรแต่งงานกันเร็ว เกือบครึ่งหนึ่งของผู้หญิงในอินเดียแต่งงานก่อนอายุ 18 ปี ยิ่งในชนบท
ยิ่งแต่งงานกันตั้งแต่อายุยังน้อย อัตราการคลอดบุตรของวัยรุ่นในประเทศอินเดียจึงอยู่ในระดับสูงในอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชีย ต่อประชากรวัยอายุ 15-19 ปี 1,000 คน
การมีบุตรตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้เส้นทางชีวิตของผู้หญิงต้องเปลี่ยนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การมีบุตรส่งผลต่อโอกาส
ด้านการศึกษา และโอกาสในการมีงานที่ดีทำของเด็กสาวเหล่านี้ในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น ในแง่สุขภาพ การตั้งครรภ์ในผู้หญิงที่อายุยังน้อย มีความเสี่ยงที่ทารกจะเสียชีวิตในครรภ์หรือระหว่างคลอด คลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย หรือเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษมากกว่าการตั้งครรภ์ในวัยที่เหมาะสม ยิ่งเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา ความเสี่ยงของการเสียชีวิตของแม่ที่อายุน้อยกว่า 15 ปี สูงกว่าแม่ที่มีอายุมากกว่าถึงเท่าตัว
ในทางกลับกัน ในประเทศที่พัฒนาแล้วสังคมไม่ได้มีค่านิยมที่จะให้ผู้หญิงแต่งงานตั้งแต่เริ่มแตกเนื้อสาว ปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์จึง
ไม่ได้มีความรุนแรงมากนัก เช่น เยอรมัน นอร์เวย์ ฟินแลนด์เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เกาหลี ญี่ปุ่น อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์ ล้วนมีอัตราการคลอดบุตรในวัยรุ่นน้อยกว่า 10 รายต่อประชากรอายุ 15-19 ปี 1,000 คน
สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีอัตราวัยรุ่นตั้งครรภ์สูงที่สุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว คือราว 35 ต่อประชากรอายุ 15-19 ปี 1,000 คน การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นถือเป็นปัญหาสังคมในเหล่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากกลุ่มเด็กสาวที่ตั้งครรภ์ มักมาจากกลุ่มที่ยากจนกว่า และมีโอกาสทางการศึกษาต่ำกว่า การตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุยังน้อย จึงยิ่งเป็นการลดโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมของเด็กสาวเหล่านี้ยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้ เด็กที่เกิดมาในภาวะที่แม่ไม่ได้มีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเงิน หรือด้านจิตใจ จะส่งผลต่อคุณภาพเด็กที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นสมาชิกในสังคมอีกด้วย
เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย ต้องยอมรับว่าเรื่อง “แม่วัยใส” เป็นปัญหาที่สังคมไทยยังแก้ไม่ตก อัตราวัยรุ่นตั้งครรภ์ในประเทศไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง คือ 54 ต่อประชากรในวัย 15-19 ปี 1,000 คน และที่น่าวิตก คือแนวโน้มวัยรุ่นตั้งครรภ์ในเมืองไทย นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
การวางนโยบายเพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในแต่ละประเทศ ย่อมต้องมีความแตกต่างเนื่องจากบริบททางสังคมมีความแตกต่างกัน แต่บทเรียนหนึ่งที่ได้จากหลายประเทศ คือ การมุ่งเน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กสาวเพียงอย่างเดียวมักไม่ได้ผล เพราะปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นไม่ได้เกิดจากวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลพวงจากทั้งครอบครัว การศึกษา สังคม ระบบสาธารณสุข และเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องวางนโยบายโดยคำนึงถึงมิติเหล่านี้ด้วย นอกจากนี้ กระบวนการให้ความฉลาดรู้เรื่องเพศ และการสื่อสารทำความเข้าใจกับวัยรุ่น ยังคงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่จะมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายไปยังวัยรุ่นหญิงเพียงกลุ่มเดียวไม่ได้ เพราะจะต้องดึงให้กลุ่มผู้ชายเข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทอย่างจริงจังด้วย
แต่เหนือสิ่งใด คือมุมมองของสังคม ที่จะต้องไม่มองว่าวัยรุ่นตั้งครรภ์เป็น “ตัวปัญหา” หากแต่เขากำลัง “เผชิญปัญหา” เพื่อที่จะได้ช่วยกันหาทางออกไปพร้อมๆ กัน
อ้างอิง
- พจนา หันจางสิทธิ์ และธีรนงค์ สกุลศรี. 2557. ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น: การศึกษาเชิงคุณภาพ ในประชากรและสังคม 2557: การเกิดกับความมั่นคงในประชากรและสังคม. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม.
- UNFPA. 2013. Motherhood in childhood: Facing the challenge ofadolescent pregnancy. NY: UNFPA.