ภาวะโลกร้อนโดยมนุษย์หรือ?


ธีระพงศ์ สันติภพ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.


     หลายท่านคงได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตนเองว่า อากาศในปี พ.ศ. 2557 ดูเหมือนว่าจะร้อนมากๆ โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่เดือนเมษายนของทุกปี เรื่อยมาจนถึงเดือนตุลาคม แม้จะมีฝนตกแต่ก็มีอากาศที่ร้อนอบอ้าวต่างจากเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมามาก อากาศได้เปลี่ยนไปจากเดิม จะเรียกว่าเกิดภาวะโลกร้อนหรือ Global warming ก็ไม่ผิด การเปลี่ยนแปลงอากาศเป็นปัญหาในทศวรรษนี้และต่อไป โลกร้อนขึ้นเนื่องจากการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอันยาวนานโดยเฉพาะในโลกอุตสาหกรรม ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงอากาศไม่มีทีท่าว่าจะมีความเข้มข้นน้อยลง แต่กลับทวีความเข้มข้นมากขึ้น จะเห็นได้ว่ามีการเกิดพายุไต้ฝุ่น เฮอร์ริเคน หรือทอร์นาโด อย่างรุนแรง และระดับน้ำทะเลก็มีปริมาณสูงขึ้น ขณะเดียวกันความแห้งแล้งและคลื่นความร้อนก็แผ่กระจายไปทั่วผิวโลก เกิดการเสื่อมสภาพของธาตุอาหารที่สำคัญในดินสำหรับการเพาะปลูก เนื่องจากอากาศที่ร้อนจัดและแล้งยาวนานทำให้ดินแตกระแหง สิ่งปกคลุมดินไม่ว่าจะเป็นหญ้าหรือธาตุอาหารในดินถูกทำลายเนื่องจากความแห้งแล้งและการพังทะลาย ปรากฎการณ์นี้ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์และสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะการขาดความสมดุลในการดำรงชีวิตซึ่งมีผลต่อสุขภาพมนุษย์ ทำให้เกิดการเจ็บป่วย

เป็นที่เข้าใจดีว่า ถ้าประชากรมีการเพิ่มจำนวนมากจะนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างมากตลอดจนมีการทำลายทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติในอัตราที่สูง เช่นเดียวกัน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะพื้นที่ป่าลดลง นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรมทำความเย็นอย่างมากมายทำให้เกิดสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอนในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากโรงงานปล่อยสารดังกล่าวออกไปในอากาศส่งผลต่อภาวะเรือนกระจก หรือ รู้จักกันในภาษาอังกฤษว่า Greenhouse effect ซึ่งหมายถึงชั้นบรรยากาศของโลกกระทำตัวเหมือนกระจกยอมให้รังสีคลื่นสั้นผ่านมายังผิวโลกได้และดูดกลืนรังสีคลื่นยาวอินฟราเรดเอาไว้ แต่คายพลังงานความร้อนให้กระจายอยู่ภายในบรรยากาศของโลก เปรียบเสมือนกระจกที่ปกคลุมโลก ทำให้โลกมีความสมดุลทางอุณหภูมิ แต่เมื่อมีคาร์บอนไดออกไซด์และคลอโรฟลูออโรคาร์บอนมากเกินไปจะทำให้โลกเสียสมดุล การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก กรณีนี้จะสัมพันธ์กับการขยายตัวทางประชากร โดยเฉพาะในเขตเมือง นอกจากการขยายตัวทางประชากรจะมากแล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่เฉพาะการขยายตัวทางอุตสาหกรรม แต่การถ่ายโอนทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็มีมากเช่นกัน ปัจจัยเหล่านี้คือสาเหตุสำคัญต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่มากต่อวัน

     จากรายงานการวิจัยของ World Carbon Report พ.ศ. 2556 พบว่า ประเทศจีนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด ร้อยละ 27.6 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 14.5 รองจากจีนคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาส่วนใหญ่เป็นการเผาไหม้เชื้อเพลิงพวกถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ มาตรการที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต้องมุ่งลดการอุปโภคบริโภคของบุคคลอันเป็นสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะประชากรในสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา การขยายตัวทางประชากรเป็นแรง
ขับเคลื่อนอันหนึ่งสำหรับการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะการเพิ่มปริมาณของคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศจากการกระทำของมนุษย์เป็นหลัก จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อภาวะเรือนกระจกตามที่กล่าว ส่วนคลอโรฟลูออโรคาร์บอนคือสารประกอบที่เกิดจากคลอรีน ฟลูออรีน และคาร์บอน เป็นสารพิษที่เกิดจากหลายกรณี เช่น การปล่อยควันพิษของโรงงาน โดยเรายังสามารถพบสารนี้ได้ในตู้เย็น หรือแม้แต่ในสเปรย์ทุกชนิด ฉะนั้น การใช้สเปรย์จึงเป็นการสร้างสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน และจะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมาก เพราะสามารถทำลายชั้นโอโซน ทำให้เกิดช่องโหว่ ส่งผลให้รังสีอัลตร้าไวโอเลต (UV) สามารถแผ่เข้ามาสู่ผิวโลกได้อย่างเข้มข้นขึ้น ทำให้โลกมีอุณหภูมิที่ร้อนจัด

10 ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก

 

ที่มา: World Carbon Report 2556

     เมื่อพิจารณาผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับประชากรโลก นักวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอากาศให้ข้อคิดว่า อากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและทำให้โลกขาดความสมดุล จะมีผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ เช่น ทำให้คนที่มีภูมิต้านทานต่ำเป็นโรคมะเร็งผิวหนังได้ นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมรอบตัวมนุษย์ก็จะเปลี่ยนแปลงไป เช่น พื้นดินจะกลายเป็นทะเลทราย เกิดภาวะฝนแล้ง ในที่สุดโลกอาจถูกทำลาย สิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิดจะสูญพันธุ์

            มนุษย์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น เรามาช่วยกันลดภาวะเรือนกระจกกันดีไหม เราทำได้โดยลดการบริโภคพลังงานลง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องปรับอากาศ การใช้สเปรย์ และอื่นๆ ในขณะเดียวกัน เราสามารถช่วยกันรณรงค์การปลูกป่าให้สัมฤทธิ์ผลเพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเพื่อให้อากาศดีขึ้น เพื่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จะได้อยู่กันอย่างเป็นสุขมากขึ้น

Since 25 December 2012