ประชากรต่างแดน

ปฏิวัติร่มไม่ล่ม......ที่ฮ่องกง

อมรา สุนทรธาดา  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

การประท้วงที่ฮ่องกงที่ยืดเยื้อมานานกว่าหนึ่งเดือน กลายเป็นข่าวที่สื่อนำเสนออย่างต่อเนื่องและหลากมุมมอง

ย้อนดูประวัติศาสตร์ ฮ่องกงเป็นเกาะเล็กๆ ในทะเลจีนใต้ ที่ผู้คนยังชีพจากการประมง เป็นจุดเสี่ยงของการเดินเรือในอดีตเพราะเป็นสวรรค์ของโจรสลัดที่คอยดักปล้นเรือสินค้า ฮ่องกงเป็นจุดยุทธศาสตร์กันชนทางทะเลที่สำคัญระหว่างจีนและกองทัพเรือของอังกฤษในช่วงสงครามฝิ่น

ปัจจุบันฮ่องกงมีสถานะเป็นเขตปกครองพิเศษ มีประชากรประมาณเจ็ดแสนคน จากการสำรวจล่าสุดเมื่อ ปี 2557 มีอัตราการเพิ่มประชากรเพียงร้อยละ 0.4 ต่อปี ประชากรแบ่งตามเชื้อชาติ จีนร้อยละ 93 อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ร้อยละ 2 และเชื้อชาติอื่นๆ ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นบุกยึดฮ่องกงและต้องส่งคืนให้จีนหลังแพ้สงครามโดยมีอังกฤษร่วมรับผลประโยชน์ โดยขอทำสัญญาเช่า 99 ปี จนครบกำหนดในปี 2530 และมีข้อตกลงว่า หลังครบกำหนดสัญญาเช่า จีนต้องไม่แทรกแซงการบริหารหรือการกระทำใดๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงฮ่องกงจนถึงปี 2590 เติ้งเสี่ยวผิง ในฐานะนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ไม่ต้องการบาดหมางกับรัฐบาลอังกฤษ ใช้วิธีการทูตเสนอนโยบายหนึ่งประเทศสองระบบเพื่อแก้เกมการเมือง พร้อมตกลงให้อังกฤษแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการทำหน้าที่บริหารฮ่องกงร่วมกับผู้ว่าการฮ่องกงที่แต่งตั้งจากจีนแผ่นดินใหญ่

เกาะฮ่องกงสำคัญอย่างไรจึงเป็นที่หมายปองของทุกฝ่าย  การวางรากฐานทางเศรษฐกิจ การเมือง และการศึกษาในช่วงยึดครองของอังกฤษ มีผลให้ฮ่องกงเป็นแหล่งการค้าและการลงทุนขนาดใหญ่ ผนวกกับการย้ายถิ่นฐานบรรดาเศรษฐี เป็นที่หลบภัยของนักการเมืองที่รวมตัวสร้างประเทศใหม่ที่ไต้หวัน และผู้มีการศึกษาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ที่หนีภัยในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมและต้องการชีวิตที่ดีกว่าบนเกาะแห่งนี้ เกิดสังคมใหม่ที่มีเสรีภาพมากกว่าเดิม คนรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาอย่างเสรี ระบบการศึกษาที่ส่วนหนึ่งถูกวางรากฐานตั้งแต่ครั้งเป็นแผ่นดิน ‘เช่า’ ทำให้ผู้บริหารให้ความสำคัญด้านการศึกษา มีงบประมาณเพื่อการศึกษาถึงร้อยละ 3.5 ของรายได้ประชาชาติ ประชากรมีการศึกษาเฉลี่ย 16 ปี มหาวิทยาลัยในฮ่องกงติดอันดับต้นๆ ในเอเชียและโลก ดังนั้น ไม่มีข้อกังขาที่ประชาธิปไตยจะเบ่งบานในหัวใจชาวฮ่องกงด้วยปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวถึง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดว่าทำไมต้องตกอยู่ในเงื่อนไขการบริหารจากรัฐบาลแผ่นดินใหญ่

เส้นทางปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยอาจจะเหมือนกันทุกประเทศว่าด้วยความเห็นต่างในเรื่องวิธีการ ชาวฮ่องกงก็เช่นเดียวกัน การปะทะกันทางความคิดระหว่างคนต่างรุ่นเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างที่เราทราบกันดีว่าฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการเงินและเศรษฐกิจระดับโลก เมื่อมีการประท้วงของคนจำนวนมากในพื้นที่สาธารณะย่อมส่งผลกระทบต่อผู้คนที่เกี่ยวข้อง การรับรู้เรื่องราวและภาพต่างๆ จากสื่อสังคมนับตั้งแต่มีการประท้วงในเดือนตุลาคม ทำให้ยากที่จะคาดเดาว่าจุดจบเรื่องนี้จะหาทางลงได้หรือไม่

  

เสบียงต้องพร้อมก่อนถึงเส้นชัย

 

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้ไม่หวั่นแม้แต่ประธานาธิบดีโอบามา ต้องต่อสายไปฮ่องกงเพื่อติดตามการเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด อย่างน้อยๆ ก็ให้รู้ว่า โจชัว หว่อง แกนนำกลุ่มนักศึกษาวัย 18 ปี อดีตผู้นำการต่อต้านระบบการศึกษาที่เน้นเนื้อหาลัทธินิยมจีนเมื่อเขามีอายุเพียง 15 ปี จะเปลี่ยนแผนหรือมีวิธีการใหม่ๆ ให้ปวดหัวอีกหรือไม่ หลังจากที่ใช้การแสดงออกทางสัญลักษณ์ด้วยการใช้ร่มเป็นสื่อบอกเจตนารมณ์ ว่าประชาชนมีแต่ร่มป้องกันแก๊สน้ำตาและแนวกระสุนเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงมีมากกว่านั้น เพราะทางการปิดกั้นการสื่อสารเพื่อยับยั้งการรวมพลบนท้องถนน ดังนั้น แกนนำจึงใช้รหัส ‘ปฏิวัติร่ม’ เพื่อการสื่อสารและนัดหมายในกลุ่มผู้ประท้วงซึ่งได้ผลเกินคาด

 

ผมมีแต่ร่มนะครับพี่ทหาร

  

ฉลองวันเกิดปีที่ 18 ของ โจชัว หว่อง แต่ภารกิจยังไม่บรรลุเป้าหมาย

การเลือกตั้งทั่วไปเพื่อเลือกผู้บริหารเกาะฮ่องกงในปี 2560 ที่ถูกตั้งเงื่อนไขจากรัฐบาลแผ่นดินใหญ่ว่าจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลกลาง ยังไม่มีข้อสรุปเพื่อปลดชนวนความเห็นต่างของพลเมืองฮ่องกง

ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว การประท้วงจะคงยืดเยื้อต่อไป

Since 25 December 2012