ประเด็นทางประชากรและสังคม
ข้อถกเถียงของนักสตรีนิยมต่อกรณี “การอุ้มบุญ” ตอนจบ
สุชาดา ทวีสิทธิ์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
การอุ้มบุญ แปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า surrogacy
แต่หากจะแปลคำนี้ให้ถูกต้องสอดคล้องตามข้อเท็จจริง ควรจะแปลคำนี้ว่า “การตั้งครรภ์แทน” หรือ “การอุ้มท้องแทน” ซึ่งให้ความหมายที่เป็นกลางกว่าการอุ้มบุญ การตั้งครรภ์แทน หมายถึง การที่ผู้หญิงคนหนึ่งสมัครใจรับท้องแทนหรือรับอุ้มท้องแทนให้กับบุคคลอื่น โดยให้พันธะสัญญาว่า ทารกที่คลอดออกมาต้องเป็นบุตรของผู้ที่ขอให้ตั้งครรภ์แทน การตั้งครรภ์ต้องไม่ใช้ไข่ของผู้หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมาผสมกับอสุจิบริจาคหรือของผู้ชายที่ต้องการมีลูก ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์แทนให้เพียงมดลูกของเธอเป็นที่ฝังตัวและเป็นที่ที่ตัวอ่อนที่ผสมเสร็จแล้วจากข้างนอกสามารถเติบโตจนกระทั่งถึงคลอด
นักสตรีนิยมเองมีทัศนะต่อเรื่องนี้แตกออกเป็น 2 ขั้ว ขั้วแรก เป็นนักสตรีนิยมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงในฐานะปัจเจกบุคคล มองว่าผู้หญิงเป็นเจ้าของเนื้อตัวร่างกายและมดลูกของตัวเอง จึงควรมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องนี้ รัฐไม่ควรเป็นผู้เข้ามาตัดสินใจแทนว่าผู้หญิงไม่ควรใช้มดลูกของตัวเองรับจ้างตั้งครรภ์แทนให้ใคร เห็นว่าการที่รัฐเข้าไปแทรกแซงการตัดสินใจในเรื่องการตั้งครรภ์แทนของผู้หญิงหมายถึงรัฐกำลังละเมิดสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง
ส่วนนักสตรีนิยมอีกแนวทางหนึ่งต่อต้านการรับจ้างตั้งครรภ์ข้ามชาติ เนื่องจากประเทศที่ร่ำรวยหลายประเทศออกกฎหมายห้ามไม่ให้มีธุรกิจรับจ้างตั้งครรภ์ ส่งผลให้ธุรกิจการรับจ้างตั้งครรภ์แทนข้ามชาติเฟื่องฟูในประเทศที่ยากจนกว่า คนที่อยากมีลูกต้องไปจ้างผู้หญิงยากจนในประเทศกำลังพัฒนาและยังไม่มีกฎหมายห้ามเกี่ยวกับเรื่องนี้ตั้งครรภ์แทนตน ปัจจุบันประเทศในเอเชียเป็นศูนย์กลางการตั้งครรภ์แทนเชิงพาณิชย์ข้ามชาติ ได้แก่ อินเดีย และไทย
นักสตรีนิยมกลุ่มนี้เห็นว่า การจ้างผู้หญิงยากจนมาตั้งครรภ์แทนผู้หญิงที่ร่ำรวยกว่า หรือตั้งครรภ์ให้คู่เกย์จากประเทศในโลกที่หนึ่ง อยู่ภายใต้ลักษณะความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียม เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่สะท้อนการเอารัดเอาเปรียบผู้หญิงในโลกที่สาม มองว่าในธุรกิจของการตั้งครรภ์แทน ผู้หญิงในประเทศยากจนเป็นเหยื่อการเอารัดเอาเปรียบ เพราะเจตจำนงของการตั้งครรภ์ไม่ได้เป็นของหญิงที่ตั้งครรภ์อย่างแท้จริงผู้หญิงที่ต้องรับจ้างตั้งครรภ์แทนต้องแบกรับความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการตั้งครรภ์ทั้งหมดและอาจถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายด้าน
การโต้เถียงสาธารณะในเรื่องการตั้งครรภ์แทนในหลายสังคมรวมทั้งสังคมไทย แม้มุ่งเป้าหมายไปที่การพิทักษ์ปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่ประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) เด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทน 2) ผู้ที่ต้องการมีลูก (สามีภรรยาที่มีบุตรยาก คนโสด เกย์) 3) ผู้หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน และ 4) แพทย์ผู้ให้บริการ มักให้ความสำคัญต่อการปกป้องสิทธิของแต่ละกลุ่มไม่เท่าเทียมกัน นี่ยังไม่กล่าวถึงเหตุผลของกลุ่มบุคคลที่ต่อต้านการตั้งครรภ์แทนในทุกกรณีในนามของศาสนาหรือในนามผู้พิทักษ์ประโยชน์ของสาธารณะ
ในประเทศไทย การโต้เถียงสาธารณะเกี่ยวกับเรื่อง “การอุ้มบุญ” ให้น้ำหนักต่อการปกป้องคุ้มครองเด็กที่เกิดมาจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เหนือกว่าการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงที่รับจ้างตั้งครรภ์แทน ตลอดจนไม่ให้น้ำหนักกับสิทธิของคนโสด และสิทธิของคนรักเพศเดียวกันในการก่อตั้งครอบครัว ขณะนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำลังผลักดันกฎหมายที่จะทำให้การรับจ้างตั้งครรภ์แทนกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายให้ผ่านออกมาบังคับใช้
นักสตรีนิยมในประเทศไทยจำนวนหนึ่งมีความกังวลว่าถ้าหากกฎหมายนี้ผ่านออกมา น่าจะส่งผลกระทบทางลบในการปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งสี่กลุ่มมากกว่าที่จะเกิดผลดี และอาจไม่ได้ช่วยให้การรับจ้างตั้งครรภ์แทนหมดไปจากสังคมไทย ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่คนในสังคมไทยต้องช่วยกันวิเคราะห์เรื่องนี้ไปให้สุดทาง ไม่ควรใช้แค่อารมณ์ ความรู้สึก และสามัญสำนึกง่ายๆ มาตัดสินใจในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่สำคัญนี้