เวทีวิจัยประชากรและสังคม

เกาหลีสูงวัย

จงจิตต์ ฤทธิรงค์  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ภาพผู้สูงอายุเกาหลีใต้ 5 คนนัดรวมตัวที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง สั่งเครื่องดื่มเย็นๆ อันโปรดปราณมาดื่มในช่วงเวลาอาหารกลางวัน แล้วเริ่มสนทนากันอย่างออกรสออกชาติ แม้จะฟังภาษาเกาหลีไม่รู้เรื่อง ก็เดาได้ไม่ยากว่า พวกเขาสนุกสนานกับการพบปะพูดคุยกัน เมื่อผู้เขียนขอถ่ายภาพ เหล่าคุณลุงทั้งหลายก็ทำให้แปลกใจเพราะท่านถามเป็นภาษาอังกฤษว่า “Boy friend?” ทำเอาผู้เขียนตอบไม่ถูกเลยได้แต่ยิ้ม แล้วก็ตามด้วยคำถามว่า “How old?” (อายุเท่าไร) เลยตอบแบบเหมารวมเพื่ออวยพรให้ท่านอายุยืนว่า อายุรวมกันทั้งหมดน่าจะ 500 ปี ทำให้คุณลุงหัวเราะและเริ่มพูดหยอกล้อกันเอง “You are 500 (years old)” (คุณ (คนเดียว) อายุ 500 ปี) น่าเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้พูดคุยต่อ ผู้สูงอายุอารมณ์ดี และพูดภาษาอังกฤษได้ในเมืองปูซานไม่ได้มีให้พบเห็นกันได้ทั่วไป (อย่างน้อยก็พบครั้งเดียวในระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ไปเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ) เพราะคนทั่วไปไม่ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสาร แม้แต่การสั่งอาหารที่ร้านอาหารในมหาวิทยาลัยแห่งชาติก็ยังทำได้ลำบาก เพราะรายการอาหารเป็นภาษาเกาหลีทั้งหมด หรือใบสั่งยาจากแพทย์ของคลินิกแห่งหนึ่งในปูซานก็ไม่มีภาษาอังกฤษแม้แต่ตัวเดียว คุณลุงเหล่านี้จึงทำให้ผู้เขียนสนใจว่าประชากรในประเทศเกาหลี โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
มีลักษณะเป็นอย่างไร

 

ภาพโดย: จงจิตต์ ฤทธิรงค์: 5 กันยายน 2557: ปูซาน: เกาหลีใต้

 ประเทศเกาหลีใต้มีประชากร 50.4 ล้านคน จัดว่าเป็นประชากรสูงวัย เนื่องจากเกาหลีใต้มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ร้อยละ 12 ส่วนประเทศไทยมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ร้อยละ 10 ซึ่งเป็นสัดส่วนน้อยกว่าเกาหลีใต้เล็กน้อย คำนิยามที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล ได้เคยบรรยายไว้หลายแห่ง และเขียนเป็นบทความไว้หลายฉบับ กล่าวว่า ประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 7 จัดเป็นประชากรสูงวัย (Aged population) ถ้าประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มีมากกว่าร้อยละ 14 จัดเป็นประชากรสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Completed aged population) และ ถ้าประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 จัดเป็นประชากรสูงวัยระดับสุดยอด (Super aged population) ดังนั้น เกาหลีใต้จึงจัดเป็นประชากรสูงวัย และกำลังเข้าสู่ประชากรสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่ช้า

การเปลี่ยนผ่านทางประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยมีปัจจัยกำหนดอยู่ 2 ประการคือ อัตราเจริญพันธุ์ลดลง และคนมีอายุยืนยาวขึ้น ปรากฏการณ์ทั้งสองอย่างนี้ต้องเกิดเป็นระยะเวลานานพอที่จะทำให้ประชากรรุ่นถัดมามีสัดส่วนประชากรเยาว์วัยน้อยกว่าประชากรรุ่นที่เกิดก่อน

หลักฐานอย่างแรกที่สนับสนุนการเป็นประชากรสูงวัยของเกาหลีใต้ คือ การลดลงของอัตราเจริญพันธุ์รวม ที่ลดจาก 4.5 ในปี 1970 มาเป็น 1.2 ในปี 20131 ภายในระยะเวลา 43 ปี อัตราเจริญพันธุ์ลดลง 3.3 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยในช่วงระยะเวลาเดียวกัน อัตราเจริญพันธุ์ของประเทศไทยลดลงจาก 5.62 มาเป็น 1.63 หรือ อัตราเจริญพันธุ์ลดลง 4 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน จะเห็นได้ว่าในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้ อัตราเจริญพันธุ์ของประเทศไทยลดลงมากกว่าเกาหลีใต้เล็กน้อย

หลักฐานอีกอย่างที่ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นสังคมสูงอายุ คือ อายุคาดเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น อายุคาดเฉลี่ยของประชากรเกาหลีใต้เพิ่มจาก 61 ปี ในปี 1970 มาเป็น 81 ปี ในปี 2013 ภายในระยะเวลา 43 ปีประชากรเกาหลีใต้มีอายุยืนยาวขึ้นถึง 20 ปี ส่วนประเทศไทยอายุคาดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 60 ปี เป็น 75 ปี ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ประชากรไทยมีอายุสั้นกว่าประชากรเกาหลี 6 ปี เห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงประชากรโดยปัจจัยทั้งสอง คือ อัตราเจริญพันธุ์รวมและอายุคาดเฉลี่ยของทั้งสองประเทศ เปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกัน จึงเป็นไปได้ว่าประชากรของทั้งสองประเทศน่าจะดำเนินไปในแนวทางเดียวกันในอนาคต ที่กล่าวมานี้เป็นเบื้องหลังการสูงวัยของประชากร แต่ยังมีข้อสงสัยอยู่อีกประการว่า เหตุใดการสูงวัยของคุณลุงทั้ง 5 ท่านจึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการพบปะสังสรรค์

การเดินทางออกจากบ้านด้วยตนเองของผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่บุตรหลานอดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะสุขภาพที่เสื่อมถอย การเดินในระยะทางหลายร้อยเมตร หรือ การเดินขึ้นสะพานลอยที่สูงชัน ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น ข้อเข่าเสื่อม หรือ อาการอ่อนแรง แต่สำหรับคุณลุงกลุ่มนี้ไม่น่าเป็นปัญหา เพราะสุขภาพกายและจิตดี อีกทั้งการข้ามถนนด้วยสะพานลอยที่สูงชันก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะสะพานลอยมีลิฟต์บริการผู้สูงอายุและผู้ใช้รถเข็น ทำให้การเดินทางภายในชุมชนเมืองปูซาน ที่เป็นเมืองขนาดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ รองจากโซล ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากเท่ากับการเดินทางในกรุงเทพฯ ของผู้สูงอายุไทย

ปูซานเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ การขนส่งสาธารณะใช้รถไฟใต้ดินที่มีเส้นทางเชื่อมโยงจากสนามบินมายังส่วนต่างๆ ของเมือง รถประจำทาง และรถแท็กซี่ การเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินของผู้สูงอายุที่ยังสามารถเดินบนทางราบสามารถทำได้เพราะมีบันไดเลื่อนหรือลิฟต์บริการ อย่างน้อยก็ตามสถานีใหญ่ๆ ที่ผู้เขียนเคยใช้บริการ

 

     การเปรียบเทียบลักษณะทางประชากรและบริการสาธารณะที่ได้พบเห็นของเกาหลีใต้และประเทศไทย ไม่ได้ประสงค์ชี้จุดด้อย ตอกย้ำความลำบากที่ผู้สูงอายุไทยต้องเผชิญ แต่เพื่อการเตรียมพร้อมและปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อช่วยผู้สูงอายุไทยได้มีชีวิตที่เป็นอิสระ สามารถเดินทางไปทำธุระพบปะเพื่อนได้ด้วยตนเอง รายงานการศึกษาโครงการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ4 พบว่า ประเทศไทยผ่านการประเมินด้วยดัชนีที่เกี่ยวข้องกับนโยบายผู้สูงอายุร้อยละ 51 แต่ดัชนีสัดส่วนการปรากฏของสถานที่สาธารณะที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอันได้แก่ ทางเดินบันไดและห้องสุขาในสถานที่ เช่น โรงพยาบาล สนามบิน สถานีขนส่ง ห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ ศาสนสถาน และตลาดสด ยังไม่ผ่านการประเมิน ประเทศไทยจึงยังมีข้อท้าทายอีกมากที่จะเตรียมการเพื่อเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีก 7 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2564) ความหวังที่จะเห็นผู้สูงอายุไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข สุขภาพกายและจิตดี คงไม่ใช่จินตนาการ หากมีการเตรียมพร้อมเพื่อรับการสูงวัยของประชากร และการสูงอายุของตัวผู้สูงอายุเอง

 

1,2 2014 World Population Datasheet, Population Reference Bureau

3สารประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2557

4วิพรรรณ ประจวบเหมาะ และคณะ. “รายงานการศึกษาโครงการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ” วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Since 25 December 2012