นานาสาระประชากร

คิดคำนึง เมื่อปลายฝน ต้นหนาว ปี 2557

ปราโมทย์ ประสาทกุล  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

เวลาบ่ายแก่ๆ ของวันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม 2557

ผมนั่งมองดูฟ้าที่มืดทะมึนทางทิศเหนือ จากห้องทำงาน ชั้น 6 ของอาคาร “ประชาสังคมอุดมพัฒน์” ฝนคงจะตกหนักในไม่ช้า สองสามวันมานี้ฝนตกหนักมากทุกวัน เหมือนกับจะสั่งลาฤดูฝนที่ยืดเยื้อมากว่า 6 เดือน ฟ้ามืดครึ้มอย่างนี้ทำให้ใจหมองลงได้บ้างเหมือนกัน

ผมนั่งดูฝนกระหน่ำหนักจากหน้าต่างห้องทำงาน เดือนนี้ ตุลาคม เป็นเดือนแรกที่ผู้เกษียณอายุจากราชการและรัฐวิสาหกิจจะหยุดชีวิตการทำงานอันยาวนานนับสิบปี ต้องหยุดทำงานเพราะอายุครบหกสิบปีแล้ว ทั้งๆ ที่สรีระร่างกายของหลายคนยังดูแข็งแรง ไม่แก่ ใจยังพร้อมที่จะทำงานต่อไป มีเพียงตัวเลขอายุเท่านั้นที่เพิ่มขึ้นจนถึงเกณฑ์ เดี๋ยวนี้ สุขภาพอนามัยของคนไทยดีขึ้นมาก อายุหกสิบปีแล้วก็ยังมีโอกาสมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกราว 22-23 ปีโดยเฉลี่ย หลายคนจะมีอายุถึง 90 ปี และจำนวนไม่น้อยจะมีอายุถึง 100 ปี ผมโชคดีที่อายุเกิน 65 ปีแล้วก็ยังมีห้องทำงานให้นั่งดูฝน

ถ้านับเกณฑ์ 60 ปีเป็นอายุเกษียณ ผมก็เลยเกณฑ์มานานกว่า 6 ปี บางครั้ง รู้สึกไม่อยากจะเชื่อว่าตัวเองมีชีวิตยืนยาวมาถึงอายุนี้ อายุที่เห็นเลข 70 อยู่ไม่ไกล เมื่อยังเป็นเด็ก และแม้แต่เมื่อยังเป็นหนุ่ม เห็นคนอายุ 60-70 ปี ก็ดูว่าแก่มากจริงๆ แต่ทำไม เมื่อตัวเองมีอายุใกล้ 70 ปีเข้าจริงๆ กลับไม่รู้สึกตัวว่าแก่ เพียงแต่รู้สึกว่ามีอายุมาก ผมยังมีสติพอที่จะรู้ตัวว่าบัดนี้เรามีอายุสูงขึ้นจนอยู่ในช่วงปลายของชีวิตแล้ว

 คิดถึงก๋วยเตี๋ยวเรือชามละบาทที่รังสิต

เมื่อยังเป็นเด็ก ผมชอบฟังผู้เฒ่าผู้แก่คุยกัน หัวข้อสนทนาที่ผมได้ยินอยู่บ่อยๆ คือเรื่องในอดีต คุณตาชอบคุยให้ฟังถึงค่าเงินสมัยท่านยังเป็นหนุ่ม ก๋วยเตี๋ยวชามละห้าสตางค์สิบสตางค์ ข้าวเกวียนละไม่กี่สิบบาท ในขณะที่ผมนั่งฟังอยู่นั้นเป็นเวลาก่อนกึ่งพุทธกาลสักสามสี่ปี ก๋วยเตี๋ยวชามละหกสลึง กาแฟแก้วละหนึ่งบาท โอเลี้ยงสองสลึง โคล่าที่ยังไม่เรียกว่าโค้ก เป๊บซี่ที่ยังไม่มีแบบกระป๋อง น้ำซาสี่ เซเว่นอัพที่ผมเข้าใจว่าน้ำอัดลมจำพวกนี้ทำมาจากต้นตะไคร้ ขวดละหนึ่งบาท ผมยังได้้้ใช้เหรียญห้าสตางค์ เหรียญสิบสตางค์ เหรียญยี่สิบสตางค์สีดำมีรูตรงกลาง เหรียญสลึง ยังไม่มีเหรียญบาท มีแต่ ธนบัตรที่เรียกว่าแบ๊งค์บาท แบ๊งค์สิบ แบ๊งค์ยี่สิบ และสูงสุดแค่แบ๊งค์ร้อย

คงเพราะก๋วยเตี๋ยวชามละหกสลึงสมัยผมเรียนชั้นประถมกระมัง ที่ทำให้คุณปู่คุณตาสนุกกับการคุยย้อนอดีตไปเมื่อก๋วยเตี๋ยวชามละไม่กี่สตางค์เมื่อ 20-30 ปีก่อน ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องราวในอดีตที่ผู้เฒ่าผู้แก่คุยกันอยู่ใ่นช่วงเวลาใด แต่น่าจะเป็นเวลาก่อนปี 2470 เมื่อผมยังเป็นเด็ก มีหน่วยเงินหลายอย่างที่ไม่มีใช้กันอีกแล้ว เช่น เบี้ย โสฬส อัฐ ไพ เฟื้อง หน่วยที่เรียกเป็นสตางค์คงนำมาใช้ในสมัยหลังๆ 100 สตางค์เป็นหนึ่งบาท ผมคุ้นกับเหรียญหนึ่งสตางค์ ที่เรียกว่า “สตางค์แดง” ที่มีรูตรงกลาง แม้ไม่เคยได้ใช้ แต่ก็เคยนำมาเล่นล้อต๊อก ราคาของเงินที่สูงขึ้นมากคงทำให้เหล่าผู้เฒ่าสนุกกับการคุยถึงอดีตสมัยเมื่อมีเงินเพียงหนึ่งชั่ง หรือ 80 บาทก็นับว่ามั่งมีแล้ว

ความรู้สึกของคุณตาตอนนั้นอาจเหมือนความรู้สึกของผมตอนนี้ที่เห็นราคาสินค้าของกินของใช้ที่เป็นอยู่แล้วก็นึกขำ ก๋วยเตี๋ยวราคาต่ำสุดชามละ 30 บาท ราคาสูงเท่านี้แต่ปริมาณเพียงแค่เอาตะเกียบคีบเข้าปากสองครั้งเท่านั้น ปริมาณพอๆ กับก๋วยเตี๋ยวเรือราคาชามละบาทใต้สะพานรังสิตที่ผมหนีโรงเรียนไปแข่งกันกินเมื่อ 53 ปีก่อน เดี๋ยวนี้ ก๋วยเตี๋ยวปกติก็ชามละ 30-40 บาท พิเศษ 50 บาท แต่ถ้าไปกินก๋วยเตี๋ยวเนื้อบางร้านที่ใช้เนื้อดีๆ สั่งเกาเหลา ราคาก็สูงถึงชามละ 70-80 บาทนั่นทีเดียว

ดูราคาของกินอย่างอื่นบ้าง เดี๋ยวนี้ น้ำอัดลมขวดละ 12 บาท ขึ้นจากเมื่อผมเป็นเด็ก 12 เท่า กาแฟเย็นใส่ถ้วยกระดาษที่ใหญ่ขึ้น แต่ราคาก็เพิ่มขึ้นจากบาทเดียวเป็น 20 บาท แก้วกาแฟเย็นหรือแก้วโอเลี้ยงอย่างที่ผมเคยเห็นเมื่อยังเด็กไม่มีให้เห็นอีกแล้ว ขนมหวาน เช่นข้าวเหนียวหน้ากุ้ง หน้าปลา หน้าสังขยา แต่ก่อนห่อด้วยใบตอง กลัดเป็นห่อด้วยไม้กลัด ราคาห่อละ 2 สลึงหรือ 50 สตางค์ เดี๋ยวนี้ใส่ถุงพลาสติกชุดละ 5 บาท ผมเคยกินลอดช่องน้ำกะทิที่ยายปานวางหาบขายที่ตลาดถ้วยเบ้อเร่อ ถ้วยละสลึงเดียว เดี๋ยวนี้ ลอดช่องราคาถ้วยละ 10-20 บาท

ผมจะไม่พูดถึงราคาสินค้าอย่างอื่นๆ พูดไปก็เป็นประเด็นเดียวกันว่า ราคาสินค้าทุกวันนี้กับในอดีตเมื่อครึ่งศตวรรษก่อนแตกต่างกันมาก และความแตกต่างกันนี้ทำให้ผมรู้สึกสนุกเมื่อนึกถึงอดีต เมื่อนึกมาถึงตรงนี้ ผมก็รำพึงกับตัวเองว่า “โลกเราทุกวันนี้ แพงขึ้นมากจริงๆ”

คิดถึงทางรถยนต์ในอดีต: แคบแต่คล่อง

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบฟังผู้เฒ่าผู้แก่คุยกันเมื่อตอนเด็กๆ คือเรื่องความเจริญของบ้านเมือง บ้านผมเป็นบ้านนอก แม้จะห่างจากกรุงเทพฯ ไม่ถึง 100 กิโลเมตร แต่เมื่อผมยังเป็นเด็ก กรุงเทพฯ ก็ดูห่างไกลเสียเหลือเกิน

คุณตาเล่าเรื่องการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยทางเรือ จากตำบลที่ผมอยู่ใช้เรือแจวมาทางคลองสำโรงก็ได้ หรือจะออกทะเลที่ปากน้ำบางปะกง แล้วเลี้ยวขวาเลียบชายฝั่งมาเข้าแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำ สมุทรปราการ แล่นมาถึงกรุงเทพฯเลยก็ได้ จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าคุณตาบอกใช้เวลาเป็นวันกว่าจะถึงกรุงเทพฯ

เส้นทางคลองสำโรงนี้ เมื่อร้อยกว่าปีก่อนท่านสุนทรภู่เคยใช้เดินทางมาเยี่ยมพ่อที่เมืองแกลง ท่านล่องเรือมาตามคลองสำโรง ผ่านบางพลี บางบ่อ บางสมัคร บางวัว มาออกแม่น้ำบางปะกงที่ปากตะคลองที่ใกล้ๆ กับบ้านผมเอง

ในขณะที่นั่งฟังคุณตาคุยเรื่องการเดินทางสมัยเมื่อท่านยังเป็นหนุ่มที่ต้องอาศัยเรือและเกวียนเป็นพาหนะหลัก ผมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ด้วยรถโดยสารได้แล้ว โดยมาตามถนนสุขุมวิท ผ่านคลองด่าน บางปิ้ง ปากน้ำ (สมุทรปราการ) สำโรง บางนา และพระโขนง ถนนสุขุมวิทตอนนั้นยังเป็นถนนสองเลน กว้างเพียงให้รถสวนไปมา ถึงแม้ถนนจะแคบ และรถไม่ได้วิ่งเร็วนัก แต่สมัยนั้นรถยังน้อย การจราจรไม่ติดขัด จึงใช้เวลาเดินทางราวสองชั่วโมง

หกสิบปีผ่านไป บ้านนอกของผมเหมือนจะกลายเป็นชานเมืองกรุงเทพฯ ไปแล้ว ถนนบางนา-ตราด ช่วยให้ไม่ต้องอ้อมไปทางปากน้ำ หลายบ้านหลายตำบล เช่น บางพลี บางบ่อ บางวัว ที่เคยเข้าถึงได้เฉพาะทางน้ำ เดี๋ยวนี้มีถนนกว้างนับสิบเลนผ่าน แถมทำเป็นทางยกระดับผ่านตลอดเลยไปถึงชลบุรีอีกด้วย แล้วยังมีมอเตอร์เวย์ตัดผ่านใกล้บ้าน ถนนหนทางสร้างเพิ่มขึ้นมากมายเป็นเครือข่ายอย่างกับใยแมงมุม ไม่น่าเชื่อว่าเดี๋ยวนี้คนแถวบ้านผม เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ โดยเดินทางแบบไปเช้าเย็นกลับได้อย่างสบาย

เคยนั่งรถรางไปโรงเรียน

ผมเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2503 ห้าสิบสี่ปีมาแล้ว ผมมีโอกาสนั่งรถรางไปโรงเรียน ต้นทางอยู่ตรงสะพานเฉลิมโลก ประตูน้ำ รถรางแล่นไปทางสี่แยกราชประสงค์ เลี้ยวขวาไปตามถนนพระรามหนึ่ง ผ่านกรมตำรวจ วัดปทุมวนาราม ผ่านสนามศุภชลาศัย ตลาดเจริญผล แล้วไปสุดทางที่ิเชิงสะพานกษัตริย์ศึกฝั่งที่ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมไปแล้ว

รถรางมีโบกี้เดียวแต่แบ่งที่นั่งออกเป็นสองส่วน ชั้นหนึ่งอยู่ส่วนหน้า มีเบาะรองที่นั่งไม้เป็นแถวยาวติดต่อกันตามแนวสองข้างของโบกี้ หันหน้าเข้าหากัน ที่นั่งชั้นหนึ่งกับชั้นสองแบ่งกันตรงกลางโบกี้ด้วยฉากลูกกรงไม้ที่กั้นเฉพาะที่นั่ง ค่าโดยสารชั้นหนึ่งสลึงเดียว ค่าโดยสารชั้นสองที่นั่งไม้แข็งไม่มีเบาะนุ่มรองนั่งเพียงสิบสตางค์

รถรางวิ่งไปตามรางโดยใช้ไฟฟ้าจากสายไฟที่พาดเหนือรางรถ ผมคิดถึงเสียง แก๊ง แก๊ง แก๊ง ที่พนักงานขับรถรางสั่นระฆังให้เกิดเสียงสัญญาณเหมือนจะบอกว่า “มาแล้ว มาแล้ว กรุณาหลีกให้ทางรถรางด้วยครับ”

รถรางไม่ต้องกลับลำเพราะทั้งสองด้านสามารถเป็นหัวเป็นท้ายรถได้เหมือนกัน เมื่อสุดทางจะวิ่งย้อนกลับ คนขับเพียงสลับมาขับอีกด้านหนึ่ง ท้ายรถขามาก็กลายเป็นหัวรถขากลับทันที พนักงานเก็บค่าโดยสารทำหน้าที่ย้ายเบาะรองนั่งมาไว้ส่วนหน้าเพื่อให้เป็นที่นั่งชั้นหนึ่ง ได้ราคาค่าเบาะเพิ่มอีกเท่าตัว ค่าโดยสารรถรางสำหรับนักเรียนยิ่งถูกลงไปอีกถ้าซื้อคูปองนักเรียน หนึ่งเล่มร้อยใบเพียง 5 บาทเท่ากับราคาใบละ 5 สตางค์ ถ้าอยากนั่งชั้นหนึ่งก็ใช้คูปอง 2 ใบ

ผมนึกสงสารตัวเองเมื่อนึกถึงเหตุการณ์วันหนึ่ง วันที่ผมไม่มีเงินเหลือติดกระเป๋าเลยแม้แต่สลึงเดียว คูปองรถรางก็หมดไปหลายวันแล้ว ผมต้องเดินจากยศเสกลับบ้านที่ประตูน้ำ เดินไปก็มองดูรถรางผ่านไปอย่างวังเวงใจ คูปองรถรางใบละ 5 สตางค์เราก็ไม่มีจริงๆ หรือ โอ้...ชะตาชีวิต

ผมมีเรื่องในอดีตให้คิดถึงอีกมากมาย เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหกสิบกว่าปีของชีวิตเป็นเรื่องมากพอที่ผมจะคิดถึงไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ คำกล่าวที่ว่า “คนแก่ชอบเล่าความหลัง” เห็นจะจริง แต่... ตอนนี้ผมยังไม่แก่นี่นา.

ศ.ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล ร้องเพลง “พฤกษ์หวานใจ” โดยมี ศ.ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ เล่นกีต้าร์ รับชมได้ที่ youtube พฤกษ์หวานใจ

 

 

Since 25 December 2012