ประเด็นประชากรที่น่าสนใจ

อาชีพยอดฮิต ของผู้สูงอายุต่างแดน

มนสิการ กาญจนะจิตรา  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

หากใครเคยมีโอกาสไปเดินซื้อของตามห้างหรือร้านค้าในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรือญี่ปุ่น สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจสังเกตเห็นคือพนักงานของห้างหลายท่านเป็นผู้สูงวัย ตั้งแต่เดินเข้าห้างก็จะมีพนักงานสูงวัยมาต้อนรับด้วยใบหน้ายิ้มแย้มพร้อมยื่นตะกร้าให้สำหรับการจับจ่ายใช้สอย เมื่อเข้าไปในห้าง อาจพบเห็นพนักงานสูงวัยกำลังสาธิตสินค้านำเข้าใหม่ให้กับกลุ่มนักช้อป จนกระทั่งเราเลือกซื้อสินค้าเสร็จ พร้อมที่จะชำระค่าสินค้า พนักงานแคชเชียร์ที่ทำหน้าที่คิดเงินก็อาจเป็นผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน

การมีพนักงานสูงวัยตามห้าง เป็นที่คุ้นตาของคนทั่วไปในต่างแดน โดยเฉพาะในห้างซุปเปอร์สโตร์ เช่น วอลมาร์ท หรือโฮมโปร ที่มีอย่างแพร่หลายในโลกตะวันตก หรือแม้แต่ในญี่ปุ่น เราก็สามารถพบเห็นพนักงานสูงอายุได้ตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อ คอยทำหน้าที่บริการต้อนรับและอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า

การเป็นพนักงานขายในห้างและร้านค้า ถือเป็นอาชีพยอดนิยมของผู้สูงอายุในต่างประเทศ จากการสำรวจอาชีพการทำงานของผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไปในสหรัฐอเมริกา พบว่า อาชีพพนักงานขายในร้านขายปลีกเป็นอาชีพที่มีผู้สูงอายุทำมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีอาชีพเกษตรกรรมรองลงมาเป็นอันดับสอง และการเป็นผู้จัดการพนักงานขายในร้านขายปลีกเป็นอันดับที่สาม

สาเหตุสำคัญที่อาชีพพนักงานขายในห้างและร้านค้าได้รับความนิยมในบรรดาผู้สูงอายุต่างแดน คือการที่งานเหล่านี้สามารถทำเป็นพาร์ทไทม์ได้ ผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องทำงานเต็มเวลา สามารถเลือกเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น ให้เหมาะกับความต้องการของตนเอง เช่น อาจทำเพียงวันละไม่กี่ชั่วโมง และในหนึ่งสัปดาห์อาจเลือกทำเพียงไม่กี่วัน เช่นในประเทศญี่ปุ่น ผู้สูงอายุสามารถเลือกทำงานในร้านสะดวกซื้อที่อยู่ใกล้บ้าน และสามารถเลือกทำงานเป็นกะสั้นๆ วันละไม่กี่ชั่วโมง 

สำหรับประเทศไทย โอกาสที่ผู้สูงอายุจะได้ทำงานเป็นพนักงานขายในห้างหรือร้านสะดวกซื้อเช่นนี้ยังมีไม่มาก เหตุผลคือห้างหรือร้านค้าขนาดใหญ่ในประเทศไทย ยังไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้มาร่วมงานแม้ว่าภาคเอกชนในประเทศไทยจะไม่ได้มีกฎหมายกำหนดอายุบังคับเกษียณอย่างเช่นคนทำงานในภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ แต่โดยมากธุรกิจภาคเอกชน มักกำหนดอายุเกษียณในสัญญาว่าจ้าง เช่น เมื่อครบ 55 ปีบริบูรณ์จะหมดสัญญาจ้าง จึงทำให้ผู้สูงอายุในประเทศไทยไม่ได้รับโอกาสในการทำงานในธุรกิจเหล่านี้เท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบันจะเริ่มมีห้างซุปเปอร์สโตร์บางแห่งในประเทศไทยที่มีนโยบายจ้างงานผู้สูงอายุแต่ห้างเหล่านี้กลับไม่ได้รับการตอบรับที่ดีอย่างเช่นในต่างประเทศ อุปสรรคสำคัญอยู่ที่ลูกหลานของผู้สูงอายุ ที่ไม่อนุญาตให้ญาติผู้ใหญ่ของตนทำงานลักษณะนี้ เนื่องจากมองว่างานเช่นนี้ต้องเหนื่อย ต้องใช้แรงงาน ต้องยืนนานๆ ที่สำคัญคือ คิดว่างานลักษณะนี้เป็นงานที่ไม่สมเกียรติ สมศักดิ์ศรี จึงไม่สมควรทำงานเช่นนี้

แน่นอนว่าบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน การให้ผู้สูงอายุเป็นพนักงานขายในห้างอาจยังไม่เหมาะสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน และหากห้างใดจ้างผู้สูงอายุมาเป็นพนักงาน อาจกลายเป็นส่งผลลบต่อภาพลักษณ์ของห้างก็ได้ นั่นเป็นเพราะวัฒนธรรมไทย มองผู้สูงอายุในสถานะและบทบาทที่แตกต่างกับคนกลุ่มวัยอื่น สังคมไทยมีความเคารพต่อผู้ที่อายุมากกว่า ผู้สูงอายุจึงอยู่ในสถานะที่ควรได้รับการยกย่อง ดังนั้น การทำงานที่ไม่สมศักดิ์ศรีจึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่ในขณะเดียวกัน ยังคงมีบางส่วนของสังคมไทยที่มองว่าผู้สูงอายุเป็นวัยที่ควรลดบทบาททางสังคมลง ไม่ควรทำงานและควรอยู่กับบ้าน จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความรู้และทัศนคติที่มีต่อผู้สูงอายุของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2554 พบว่า คนไทยประมาณ 1 ใน 3 เห็นว่าผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปควรหยุดทำงานโดยสิ้นเชิงไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานอะไรก็ตาม

การสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นมุมมองของสังคมไทยต่อบทบาทผู้สูงอายุในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเมื่อผู้สูงอายุไทยมีอายุที่ยืนยาวขึ้น และมีสุขภาพแข็งแรง ทัศนคติของสังคมต่อบทบาทผู้สูงอายุจำต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย หากผู้สูงอายุมีความต้องการที่จะทำงาน สังคมไทยควรเปิดโอกาสในการทำงานให้ผู้สูงอายุเช่นคนกลุ่มอื่น ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ไปจนกระทั่งการปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคม เพื่อให้ผู้สูงอายุมีบทบาทและสถานะที่เป็นพลังที่มีคุณค่าของประเทศชาติต่อไป

 

อ้างอิง: http://money.usnews.com/money/blogs/planning-to-retire/2008/06/04/the-10-most-common-jobs-for-older-workers

 

Since 25 December 2012