นานาสาระจากห้องสมุด

ภัยใกล้ตัว..รังสีจากโทรศัพท์มือถือ

เพ็ญพิมล คงมนต์  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือเป็นอีกสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิต แต่การใช้โทรศัพท์มือถืออาจส่งผลต่อสุขภาพ เพราะ ขณะใช้ต้องอยู่ติดกับผิวหนัง หู และสมอง ทำให้เนื้อเยื่ออวัยวะมีโอกาสได้รับรังสีสูงขึ้น รังสีจากโทรศัพท์มือถือ เป็นรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ประเภท 

นัน-ไอออนไนซ์ เรียกว่า รังสีเรดิโอฟรีเควนซี หรือ เรียกย่อว่า รังสี อาร์เอฟ การได้รับรังสีนี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอก หรือมะเร็งกับเนื้อเยื่อของอวัยวะที่แนบชิดกับการใช้โทรศัพท์ เช่น เนื้องอกของประสาทหู ประสาทตา สมอง
ลูกตา และต่อมน้ำลายบริเวณหน้าหู (ต่อมน้ำลายพาโรติด) ลูกตาเกิดต้อกระจก

ปัจจุบัน ยังไม่มีการศึกษายืนยันว่า การได้รับรังสีจากโทรศัพท์มือถือทำให้เกิดเนื้องอก มะเร็ง หรือต้อกระจกได้จริงหรือไม่ ขณะนี้กำลังมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้คำตอบที่แน่ชัด และมีรายงานว่า เมื่อใช้โทรศัพท์มือถือบ่อยนานๆ บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะ มึนงง เวียนศีรษะ เพลีย นอนไม่หลับ หรือ ใจสั่น การศึกษายังไม่สามารถระบุได้ว่า อาการต่างๆ เหล่านี้ เป็นอาการเกิดจากรังสีจากโทรศัพท์มือถือ หรือจากภาวะด้านจิตใจ ความกลัว ความกังวล หรือเครียดจากการใช้โทรศัพท์มือถือ อย่างไรก็ตาม องค์กรระหว่างประเทศด้านโรคมะเร็งที่เรียกย่อๆ ว่า ไออาร์ค หรือ ไอเออาร์ซี (IARC หรือ International Agency for Research on Cancer) เป็นองค์กรภายใต้การกำกับขององค์การอนามัยโลก ได้ประชุมหารือและประกาศในวันที่ 31 พฤษภาคม 2544 ให้รังสีอาร์เอฟ (รังสีชนิดเดียวกับที่เกิดจากโทรศัพท์มือถือ) จัดอยู่ในกลุ่มสารที่อาจก่อให้มนุษย์เกิดมะเร็งได้

องค์กรต่างๆ มีคำแนะนำในการใช้โทรศัพท์มือถือ เพื่อลดปริมาณรังสีที่จะได้รับจากการใช้โทรศัพท์มือถือ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สรุปที่สำคัญได้ดังนี้

  • เด็ก และผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ควรใช้โทรศัพท์มือถือ เมื่อมีความจำเป็น หรือในภาวะฉุกเฉิน และควรใช้เวลาในการพูดแต่ละครั้งให้สั้นที่สุด
  • ควรใช้มือถือให้น้อยที่สุด หรือใช้โทรศัพท์มือถือสื่อสารด้วยวิธีการอื่นแทน เช่น การส่งข้อความ หรือ ใช้โทรศัพท์บ้าน
  • ลดการสัมผัสโดยตรงกับโทรศัพท์มือถือในขณะเปิดเครื่อง (โดยเฉพาะในเด็ก) โดยการใช้เครื่องช่วยฟังชนิดต่างๆ จะช่วยลดปริมาณรังสีที่ได้รับลงมาก ดังนั้น ยิ่งอยู่ห่างจากต้นกำเนิดรังสี (ตัวเครื่อง ในขณะเปิดเครื่องใช้งาน) ยิ่งได้รับรังสีน้อยลง
  • อย่าเปิดเครื่องไว้ใกล้ตัว เพราะเมื่อเปิดเครื่องจะมีรังสี ถึงแม้จะมีน้อยกว่าในขณะพูด
  • หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือในรถ เพราะในรถมีเนื้อที่จำกัด และมีส่วนประกอบของโลหะซึ่งทำให้เกิดการสะท้อนของรังสีได้สูง เป็นการเพิ่มปริมาณรังสีให้ร่างกายได้รับสูงขึ้น
  • เลือกซื้อโทรศัพท์มือถือยี่ห้อได้มาตรฐาน เพราะในกระบวนการผลิต เครื่องที่ได้มาตรฐานจะอยู่ในการควบคุมความปลอดภัยด้านการแผ่รังสีขณะใช้งาน จากหน่วยงานของประเทศผู้ผลิต

 

ที่มา: พวงทอง ไกรพิบูลย์. “รังสีจากโทรศัพท์มือถือ (Cell phone radiation)” [ระบบออนไลน์].
แหล่งที่มา http://haamor.com/th/รังสีจากโทรศัพท์มือถือ (10 พฤศจิกายน 2557)

 

Since 25 December 2012