ประชากรแห่งขุนเขา: สิกขิม ภูฏาน เนปาล (ภาคจบ)

อมรา สุนทรธาดา  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

สิกขิม ภูฏาน เนปาล มีความแตกต่างกันหลายแง่มุม ทั้งจำนวนประชากร เสถียรภาพทางการเมือง และการพัฒนา สิกขิม และภูฏานเป็นประเทศ “ปิด” หรือจะเรียกว่า “สงบ”  มากกว่าเนปาลที่ผู้คนต้องไปขายแรงงานในอินเดีย พลเมืองมีความเห็นที่หลากหลายในเรื่องการเมือง รวมทั้งมีการพัฒนาที่สุดโต่งมากกว่าสิกขิม และภูฏาน เพราะลัทธิ “เหมา” ยังกรุ่นๆ อยู่ ปราบไม่หมด

จุดเด่นที่ควรศึกษาของภูฏานคือ ผู้บริหารประเทศพลิกตำราการพัฒนาประเทศ โดยใช้ดัชนีความสุขวัดระดับการพัฒนาประเทศแทนดัชนีรายได้มวลรวม เรียกว่าดังทั่วโลก รัฐมีนโยบายให้การศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจนถึงระดับปริญญาตรี แถมเงินเดือนให้ใช้อีกประมาณ 800 บาท รวม 3 ปีจนจบหลักสูตร

คณะสำรวจจากอเมริกานำโดย แฮริส เข้าไปทำวิจัยดัชนีความสุขที่ใช้ลูกโป่งหลากสีบอกระดับความสุข โดยให้ตัวอย่างจำนวน 117 คน เลือกสีของลูกโป่งเพื่อแสดงระดับความสุขของตน ลูกโป่งเหล่านี้จะถูกนำไปแขวนไว้กับ “ธงแห่งมนตรา” ที่แขวนเป็นราวไว้ระหว่างหลืบเขา ซึ่งชาวภูฏานเชื่อกันว่า ความยาว และความสูงของ “ธงแห่งมนตรา” ที่ใช้ผ้าหลากสี แสดงถึงความสุข ความยิ่งใหญ่ของตระกูลหรือเชื้อสาย ว่าเป็นใคร มาจากไหน มีจำนวนมากเท่าใดที่เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ในแนวราวธง เท่าที่สังเกตได้ขณะนั่งรถไปตามถนนที่วกวนถึงยอดเขา สามารถมองเห็นสายธงบางช่วงผูกโยงระหว่างภูเขา ก็เกิดคำถามในใจว่าเขามีวิธีแขวนราวธงได้อย่างไร บทสรุปนั้นคือ แรงศรัทธา เท่านั้นที่เป็นคำตอบ

ลูกโป่งสีต่างๆ แสดงระดับความสุขในภูฏาน

 จากการคาดประมาณในปี 2555 ภูฏานมีประชากรราว 716,896 คน  โดยร้อยละ 93 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม นับถือพุทธ และเคร่งในธรรมปฏิบัติ ไม่ฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร จะบริโภคเนื้อสัตว์เมื่อสัตว์ตายเอง ดังนั้นจึงมีการนำเข้าเนื้อสัตว์จากประเทศอินเดีย ผู้คนเคร่งเรื่องการไปวัดและบำเพ็ญภาวนาอย่างจดจ่อก่อนไปทำงานด้วยการสวดมนต์และเดินรอบกงล้อมนตรา หรือนับประคำขณะสวดมนต์ โดยในช่วงเช้าจะเห็นบรรยากาศที่ผู้คนทั้งชายและหญิงเป็นกลุ่มใหญ่ (ไม่พูดคุยกันเลย) เดินรอบๆ เนินเขา และสวดมนต์ไปในขณะเดียวกัน

 

ศูนย์รวมจิตวิญญาณของชาวภูฏาน

ในจำนวนประชากรกว่า 700,000 คนนี้ เกือบ 20,000 คนเป็นนักบวช ที่รัฐจัดสวัสดิการให้ในเรื่องการศึกษาและที่อยู่อาศัย และหากต้องการละสมณเพศก็จะต้องเสียค่าปรับ ราว 3,000 บาท

 

บริเวณวัดที่เป็นทั้งที่จำวัดของนักบวชและสถานศึกษา

 ภูฏานต้องนำเข้าสิ่งอุปโภคบริโภค ที่สำคัญคือ น้ำมัน รถยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องจักรกล เสื้อผ้า และข้าว โดยเฉพาะรถยนต์ นำเข้าจากเกาหลีมากกว่าจากอินเดีย ราคารถขนาดเล็ก 1,200 แรงม้า อยู่ที่ 300,000 บาท มีเรื่องขำเล็กๆ คือ รถในภูฏานส่วนใหญ่เป็นป้ายทะเบียนสีแดง คนต่างถิ่นอย่างผู้เขียนอึดอัดมาก ไหนบอกว่าสมถะ เป็นประเทศที่เล็กและยากจนที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ทำไมขับรถป้ายทะเบียนสีแดงกันทั้งนั้น สอบถามได้ความว่า ถ้าป้ายทะเบียนสีขาวเป็นรถมาจากอินเดีย (ชายแดนติดต่อกัน วิ่งเข้าออกสบาย) รถป้ายทะเบียนสีแดงหมายถึง เจ้าของรถเป็นชาวภูฏาน ถ้าถอยรถใหม่ป้ายทะเบียนจะเป็นสีน้ำเงิน (ก็ถึงบางอ้อแล้ว เรียกว่าช่องว่างทางวัฒนธรรม)

ประชากรแห่งขุนเขา: สิกขิม ภูฏาน เนปาล ยังมีเรื่องราวที่น่าศึกษาอีกมากมาย ต้องการทราบอะไรเพิ่มเติมให้เข้าร้านหนังสือมองหาหนังสือนำเที่ยวมาอ่านก่อนไปสัมผัสของจริงก็จะเพิ่มรสชาดความสนุกได้อีกหลายเท่า

สมัครสมาชิกจดหมายข่าว

จดหมายข่าวฯ ราย 2 เดือน ปีละ 6 ฉบับ

กรุณากรอก e-mail ของท่าน
(ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น)



IPSR Fanpage

Since 25 December 2012