ประเด็นทางประชากรและสังคม
ทำไมความผิดคดีค้ามนุษย์ในประเทศไทยจึงมีน้อยกว่าความเป็นจริง
สุชาดา ทวีสิทธิ์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เมื่อวันที่ 13-14 กันยายน ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เข้าประชุมรับฟังสถานการณ์การค้ามนุษย์และการบังคับใช้กฎหมายการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว และไทย-กัมพูชา ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ การประชุมจัดขึ้นที่จังหวัดหนองคาย มีข้อมูลจากผู้ปฎิบัติงานในพื้นที่ภาคเอกชน (เอ็นจีโอ) ภาครัฐ และภาคชุมชน เกี่ยวกับปัญหาการนำกฎหมายใหม่นี้ไปสู่การปฎิบัติ พบว่ามีหลายเหตุผลที่ทำให้จำนวนคดีความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการค้าหญิงและเด็กหญิงต่างชาติเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากธุรกิจทางเพศในประเทศไทยมีน้อยกว่าความเป็นจริงมากทีเดียว ขอนำข้อมูลที่ได้จากการประชุมมาเล่าสู่กันฟัง
ประการแรก ที่สำคัญที่สุดคือ เจ้าพนักงานในพื้นที่ที่มีอคติต่อแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองไม่ถูกกฎหมาย และมีอคติต่อหญิงต่างชาติที่มีอาชีพขายบริการทางเพศ เมื่อจับกุมหรือทลายสถานบริการก็จะยึดพ.ร.บ.คนเข้าเมือง และพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีมาลงโทษคนเหล่านั้น เพราะขาดความรู้ความเข้าใจในพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จึงไม่ได้สอบสวนว่าผู้หญิงและเด็กหญิงในธุรกิจค้าประเวณีตามเมืองชายแดนเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์หรือไม่ นอกจากนี้ จำนวนพนักงานสอบสวนคดีการค้ามนุษย์ยังมีไม่เพียงพอ ประกอบกับเจ้าหน้าที่ทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ยังไม่เข้าใจบทบาทของตนเอง
ประการที่สอง ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ไม่รู้หรือไม่ตระหนักว่าตนเองตกเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ เนื่องจากความด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ อยู่ภายใต้ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ และต้องการความคุ้มครองจากกระบวนการค้ามนุษย์ (เพื่อให้ได้ทำงานในประเทศไทย) ที่อาจจะมีเจ้าพนักงานในท้องถิ่นบางคนร่วมอยู่ด้วย ในพื้นที่ชายแดนอีสานซึ่งผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เป็นหญิงสาวหรือเด็กหญิงจากประเทศเพื่อนบ้าน บ่อยครั้งที่พบว่าผู้เสียหายรู้สึกสำนึกในบุญคุณของผู้ค้ามนุษย์ เช่น เจ้าของร้านคาราโอเกะ ที่ให้โอกาสเข้ามาทำงานในประเทศไทย ผู้ค้ามนุษย์เหล่านั้นมักใช้ความสัมพันธ์แบบแม่กับลูกให้การอุปถัมภ์ช่วยเหลือผู้เสียหาย อีกทั้งผู้เสียหายเองกลัวจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมด้วยความผิดฐานค้าประเวณี และ/หรือลักลอบเข้าเมือง จึงไม่บอกความจริงหรือไม่ยอมรับว่าตนเองถูกค้าหรือถูกล่อลวงมาค้าประเวณี
ประการที่สาม การค้ามนุษย์ในภาคอีสานเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ในระดับพื้นที่ และการให้ค่าหัวแก่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์รุ่นก่อนๆ ที่ไปชักชวนเพื่อนในหมู่บ้านตน มาทำงานในประเทศไทย (เช่น ในร้านคาราโอเกะ) โดยให้ข้อมูลว่า มาเป็นแค่พนักงานเสริฟอาหาร คนที่ไปชักชวนเพื่อนมาได้สำเร็จจะได้รับค่าตอบแทนไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อหัว จากเจ้าของร้านคาราโอเกะ จึงทำให้เจ้าพนักงานสอบสวนไม่ได้รับความจริงหรือไม่มีเจ้าทุกข์มาดำเนินคดีกับเจ้าของร้านฯ เพราะผู้เสียหายบอกว่าไม่ได้ถูกบังคับ แต่มาทำงานนี้ด้วยความสมัครใจ นอกจากนี้เด็กหญิงส่วนใหญ่ถูกสอนให้โกหกว่ามีอายุเกิน 18 ปี ทำให้เจ้าพนักงานสอบสวนไม่ดำเนินคดีต่อผู้ค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
ประการที่สี่ กระบวนการคัดแยกผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์ต้องทำตามมาตรา 29 ของพ.ร.บ.นี้ ที่ตราไว้ว่า ต้องทำให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้เพื่อให้มีการคุ้มครองผู้เสียหายโดยเร็วที่สุด ถึงแม้ว่าจะสามารถขยายเวลาสอบสวนได้ถึง 7 วันก็ตาม แต่เมื่อผู้เสียหายไม่บอกความจริง เช่น อายุที่แท้จริง ทำให้ไม่มีผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ หากเอ็นจีโอร้องเรียนว่าเป็นการค้าเด็กหญิง เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่บางจังหวัดจะส่งผู้เสียหายไปให้ศูนย์โอเอสซีซี ที่โรงพยาบาลตรวจกระดูกหาอายุที่แท้จริงของเด็ก แต่ถ้าไม่มีการร้องเรียนและเป็นการเข้าตรวจค้นจับกุมสถานบริการตามปกติ แม้พบกรณีเข้าข่ายการค้ามนุษย์ เช่น การนำเด็กหญิงต่างชาติอายุต่ำกว่า 18 ปี มาค้าบริการทางเพศ เจ้าพนักงานท้องถิ่นมักไม่แจ้งข้อหาค้ามนุษย์เพื่อเอาผิดกับเจ้าของสถานบริการ แต่ไปเอาผิดกับผู้หญิงในฐานะแรงงานต่างชาติที่ลักลอบเข้าเมืองมาค้าประเวณี มีการเรียกค่าปรับ ผลักดันกลับประเทศ และบางส่วนถูกปล่อยตัวไปทำงานกับผู้ค้ามนุษย์เช่นเดิมโดยผู้ค้านำเงินมาจ่ายค่าปรับให้
จากการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ผู้เขียนยังพบว่า ผู้ปฏิบัติงานในระบบความยุติธรรมของประเทศไทย รู้สึกไม่สบายใจนัก หากเลือกใช้กฎหมายหนึ่ง แล้วไปละเมิดข้อกฎหมายในอีกพ.ร.บ.หนึ่ง อีกทั้งไม่คุ้นเคยกับการมีกฎหมายที่มุ่งเน้นการป้องกันปัญหาและคุ้มครองผู้เสียหาย ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ อันแตกต่างไปจากพ.ร.บ.เก่าสองฉบับ คือ พ.ร.บ.ป้องกันและปรามการค้าประเวณี และพ.ร.บ.คนเข้าเมือง ที่มุ่งผลในเชิงลงโทษมากกว่า ผู้เขียนเห็นว่า บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมไทยควรเห็นประโยชน์ของระบบกฎหมายพหุลักษณ์ รวมทั้งควรมองว่า การมีกฎหมายใหม่เป็นจุดแข็งที่จะช่วยปิดช่องว่าง หรือลดข้อบกพร่องของกฎหมายเก่า และควรใช้กฎหมายที่มีอยู่ในเชิงบวกมากขึ้น