เวทีวิจัยประชากรและสังคม
เวลานอนนั้นสำคัญไฉน
อรพินทร์ พิทักษ์มหาเกตุ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
การนอนหลับที่เพียงพอ ทำให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทานดี เด็กเติบโตเพิ่มส่วนสูง สมองได้จัดระเบียบความรู้ ความคิด และความรู้สึกที่เกิดขึ้นในระหว่างวัน ไว้เป็นความจำในสิ่งเหล่านั้นเพื่อใช้งานต่อไป เราจึงจำเป็นต้องมีเวลานอนหลับให้เพียงพอ วัยเด็กต้องการเวลานอนมากกว่าผู้ใหญ่ เวลานอนของคนแต่ละวัยควรเป็นดังต่อไปนี้1
อายุ | เวลานอน (ชั่วโมง) |
แรกเกิด ถึง 2 เดือน | 16 - 18 |
3 - 11 ปี | 14 - 15 |
1 - 2 ปี | 12 - 14 |
3 - 5 ปี | 11 - 13 |
6 - 10 ปี | 10 -11 |
11 - 17 ปี | 8.5 - 9.25 |
18 ปี ขึ้นไป | 7 - 8 |
ผลการสำรวจประชากรทั่วโลก ทั้งเด็กและผู้ใหญ่พบว่ามีปัญหาการนอน1 ทั้งนอนไม่หลับ นอนไม่พอ นอนไม่มีคุณภาพ2 (นอนหลับสนิทคือการนอนที่มีคุณภาพ) จนเกิดการนอนไม่พอเรื้อรัง ทำให้เกิดปัญหาในการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะต่างๆ สมาธิ ความจำ ความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งสมองทำงานได้ช้าลง ผิดพลาดบ่อยขึ้น เป็นต้น
วงจรการนอนหลับของคนแบ่งออกเป็น 2 วงจร4 1) วงจรที่เกี่ยวกับการฝัน (REM - rapid eye movement sleep) และ 2) วงจรที่ไม่เกี่ยวกับการฝัน (NREM - non-rapid eye movement sleep) ทั้งสองวงจรจะเกิดสลับไปมาเรื่อยๆ 5-6 รอบในการนอนแต่ละคืน วงจร NREM เกิดตั้งแต่เริ่มเคลิ้มหลับ หลับตื้นๆ จนกระทั่งหลับสนิท เด็กเล็กๆ จะมีวงจรนี้มากเป็นพิเศษ ทำให้หลับง่าย หลับไว และหลับสนิท วงจรนี้ จะค่อยๆ ลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุหลับยาก หลับไม่นาน หลับไม่ค่อยสนิท และตื่นบ่อย
ข้อปฏิบัติที่ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น4 มีดังต่อไปนี้
- ห้องนอนต้องมีอุณหภูมิพอเหมาะสำหรับตัวคุณ
- ผ่อนคลายก่อนนอน เช่น อ่านหนังสือเบาๆ ฟังเพลงเบาๆ
- เข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวันจนเป็นนิสัย
- เข้านอนทันทีที่รู้สึกง่วง จึงควรเตรียมพร้อมที่จะนอน (เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน) พอรู้สึกง่วงก็นอนเลย อย่าฝืนทำอะไรต่อไป เพราะทำให้หลับยากเมื่อต้องการจะนอน
- ถ้าจะงีบหรือไม่งีบหลับระหว่างวัน ควรทำสม่ำเสมอ ถ้าไม่เคยงีบแล้วมางีบอาจจะหลับยากตอนเข้านอน
- ออกกำลังกายเป็นประจำตอนเช้าหรือเย็น ไม่ควรออกกำลังกายช่วงใกล้เวลานอน
- ไม่ทานอาหารมากช่วงก่อนนอน ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ใกล้เวลานอน ไม่ดื่มชา กาแฟ หลัง 4 โมงเย็น
- ถ้านอนไม่หลับอย่าพยายามทำให้หลับ เพราะจะหลับยากขึ้น ให้ทำใจให้สบาย ผ่อนคลาย อ่านหนังสือธรรมะจนรู้สึกง่วงอีกครั้งจึงเข้านอน วันต่อมาก็หาสาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับแล้วแก้ที่ต้นเหตุ
- ถ้าจะใช้ยานอนหลับ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยาและไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 1 เดือน
ถ้าลองวิธีข้างต้นแล้วก็ยังนอนไม่หลับ ขอให้เข้าใจว่า“ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” หลายครั้งที่การนอนไม่หลับเกิดจากมีเรื่องให้คิดให้กังวลมากมายจนเกิดความเครียด ดังนั้นตอนเข้านอนจึงต้องผ่อนคลาย ปล่อยวาง และทำใจ (เราทำดีที่สุดแล้ว อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นเช่นนั้นเอง) หรือใช้การทำสมาธิช่วย เช่น หายใจเข้า (คิดว่าพองหนอ) หายใจออก (คิดว่ายุบหนอ) ไปเรื่อยๆ ฯลฯ
ผลเสียของการนอนไม่พอเรื้อรัง3 การนอนน้อยบางวันยังไม่เป็นไร แต่ถ้านอนไม่พอเรื้อรัง อาจเกิดผลเสีย เช่น
- มีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนเลปตินที่สื่อกับประสาทสั่งการอิ่ม คนเราจะอิ่มเร็วหรือช้าขึ้นกับความต้องการอาหารของร่างกาย ถ้าระดับเลปตินลดลง จะทำให้อยากอาหารเพิ่มขึ้นทั้งๆ ที่ทานอาหารเพียงพอแล้ว
- ทำให้อ้วนโดยเฉพาะวัยรุ่น เพราะฮอร์โมนเร่งการเติบโตจะหลั่งน้อยลงจึงอยากอาหารมากขึ้น ฮอร์โมนนี้ถ้าหลั่งตามปกติจะทำหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตและควบคุมสัดส่วนของไขมันในกล้ามเนื้อ
- ทำให้เจ็บป่วยง่ายเมื่อเจอเชื้อโรค เนื่องจากเม็ดเลือดขาวและภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง
- ใบหน้าทรุดโทรมหมองคล้ำ ร่างกายไม่ตื่นตัว ปวดหัวระหว่างวัน รวมทั้งเกิดริ้วรอยก่อนวัย
- ความจำลดลง แม้การลืมเกิดจากหลายสาเหตุ เช่นความจำนั้นสั้นมาก สั้นจนสมองบันทึกไม่ทัน หรือเราไม่สนใจจะจำ ฯลฯ แต่การนอนไม่พอเรื้อรังทำให้ความจำลดลงได้
- เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง การอดนอนเรื้อรังและมีแสงรบกวนขณะนอน ทำให้ระบบฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายแปรปรวน จึงควรนอนให้พอและไม่ควรเปิดไฟนอน
ไม่ว่าผลการวิจัยจะเป็นเช่นไร และแม้ร่างกายของคนปกติจะมีส่วนประกอบเหมือนกัน แต่การทำงานของแต่ละส่วนในร่างกายอาจต่างกันได้ คุณภาพการนอนและเวลานอนจึงสำคัญมาก ถ้าท่านนอนหลับตอนกลางวันแล้ว กลางคืนอาจใช้เวลานอนน้อยลง หรือท่านใช้เวลานอนหลับที่ต่างจากตารางข้างต้น แต่ตื่นนอนแล้วรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
ไม่หงุดหงิดง่าย ไม่อ่อนเพลีย ไม่เกิดภูมิแพ้ง่าย และไม่รู้สึกง่วงตลอดเวลา ก็ถือได้ว่าเวลานอนนั้น เพียงพอสำหรับท่านแล้ว4
1 สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล.2554. สุขปฏิบัติเพื่อชีวิตที่ดีกว่า. [http:/www.factsforlifethai.cf.mahidol.ac.th/hygiene/support06.php] สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2555
2 The National Sleep Foundation. 2555. How Much Sleep Do We Really Need? [http://www.sleepfoundation.org/article/how-sleep-
works/how-much-sleep-do-we-really-need] สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2555
3 unigang.com. 2555. สารพัดโรค..จากการอดนอนของวัยรุ่น. [http://teen.mthai.com/variety/36038.html] สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2555
4 จักรกฤษณ์ สุขยิ่ง. 2553. 20 คำถามที่ควรรู้ เกี่ยวกับการนอนของคุณ.คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. [http://
www.ramamental.com/medicalstudent/generalpsyc/sleepingforelder/] สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2555